22 เมษายน 2564

อีกหนึ่งก้าวสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการส่งเสริมการผลิตข้าวอย่างยั่งยืนของประเทศไทย

ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวชั้นนำของโลกมาเป็นระยะเวลานานและหนึ่งภารกิจสำคัญของประเทศ คือการเป็นหนึ่งในผู้นำการผลิตและส่งออกข้าวอย่างยั่งยืน ขณะนี้กรมการข้าวและองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ส่งเสริมการผลิตข้าวอย่างยั่งยืนอย่างเต็มกำลังในสองภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ดร. อภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย อดีตอธิบดีกรมการข้าว และคุณมนตรี พรหมลักษณ์ ผู้จัดการภาคสนาม โครงการ BRIA II

ที่มาของการผลิตข้าวอย่างยั่งยืนในประเทศไทยเริ่มต้นที่ โครงการริเริ่มข้าวที่ดีขึ้นแห่งเอเชีย (BRIA) ซึ่งดำเนินการในจังหวัดอุบลราชธานีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 ถึง 2560 โดย GIZ และพันธมิตรจากทั้งภาครัฐและเอกชน ด้วยคำขวัญที่ว่า“ Better Rice, Better Life” โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน เพิ่มรายได้ของเกษตรกร และเพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกรในขณะเดียวกัน

โครงการริเริ่มข้าวที่ดีขึ้นแห่งเอเชีย (BRIA) ดำเนินการในระยะที่ 2 ในจังหวัดอุบลราชธานีและสุรินทร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ประสบความสำเร็จในการเป็นโครงการแรกของโลกที่ได้รับการรับรองการผลิตข้าวเปลือกหอมมะลิไทยยั่งยืนระดับพรีเมี่ยมที่ได้รับการรับรองภายใต้เวทีเพื่อการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน (SRP)

การผลิตข้าวอย่างยั่งยืนมีความสำคัญต่อภาคส่วนการผลิตข้าวของประเทศไทยในหลายด้าน ความต้องการข้าวในภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรในภูมิภาค ขณะนี้ภาคส่วนการผลิตข้าวของประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาการลดลงของพื้นที่เพาะปลูก การขาดแคลนแรงงานทางการเกษตรและการมีจำนวนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นในพื้นที่ชนบท นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดและกฎระเบียบที่เกิดขึ้นในเรื่องคุณภาพความปลอดภัย ความยั่งยืน และการตรวจสอบย้อนกลับของระบบการผลิต เนื่องจากผู้บริโภคมีความต้องการทางข้อมูล เกี่ยวกับคุณภาพของข้าวและแหล่งการผลิตมากขึ้น

ในด้านสิ่งแวดล้อม ภาคส่วนการผลิตข้าวกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตลอดจนความท้าทายจากความจำเป็นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) จากการปลูกข้าว โดยเฉพาะในภาคกลางของประเทศไทยมีการผลิตข้าวที่เข้มข้นมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ เนื่องจากภาคกลางเป็นพื้นที่ชลประทาน เกษตรกรสามารถปลูกข้าวนาปีและนาข้าวปรัง  ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงกว่าภูมิภาคอื่น ๆ

การผลิตข้าวที่ยั่งยืนตามมาตรฐานการผลิตข้าวที่ยั่งยืน หรือ SRP Standard ช่วยแก้ไขปัญหาหลายระดับ ตั้งแต่ระดับเกษตรกรผู้ผลิต โดยการส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้และผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ระดับชุมชน โดยการพัฒนาความเป็นอยู่ร่วมกันของเกษตรกรให้ดียิ่งขึ้น ไปจนถึงระดับโลก อย่างสถานการณ์ภาวะโลกร้อน โดยการพัฒนาความสามารถของเกษตรกรในการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากนาข้าว

กรมการข้าวจับมือกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Thai Rice NAMA) โครงการตลาดนำการผลิต เพื่อเกษตรกรรายย่อย (MSVC) โครงการความร่วมมือไทย-เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาคเกษตรกรรม (TGCP-Agriculture) และโครงการข้าวหอมยั่งยืน (SARI) สร้างความตระหนักรู้ของเกษตรกรเกี่ยวกับการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน ในเขตพื้นที่ปลูกข้าว 6 จังหวัดภาคกลาง (ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สุพรรณบุรี อ่างทอง และสิงห์บุรี) และ 3 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อุบลราชธานี สุรินทร์ และร้อยเอ็ด)

เจ้าหน้าที่กรมการข้าวและเกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษระดมความคิดในกลุ่ม เพื่อสรุปการปฏิบัติที่ทำอยู่ในการผลิตข้าว

การส่งเสริมการผลิตข้าวยั่งยืนดำเนินการโดยสร้างวิทยากรหลัก (Smart Officers) ได้แก่ เจ้าหน้าที่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และวิทยากรเกษตรกร (Smart Farmers) ซึ่งเป็นผู้นำทางการผลิตข้าวระดับชุมชน สำหรับทำหน้าที่เป็นแกนนำในการถ่ายทอดความรู้แก่กลุ่มเกษตรกรในชุมชนให้มีขีดความสามารถในการผลิตข้าวตามมาตรฐานการผลิตข้าวที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนมาตรฐานการผลิตข้าวที่ยั่งยืนที่สำคัญ อันจะนำมาซึ่งความสมดุลในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้นของเกษตรกรไทย และเป็นทางออกหนึ่งที่จะช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารและลดภาวะโลกร้อนไม่ให้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

นายบุญฤทธิ์ หอมจันทร์ วิทยากรเกษตรกรตัวอย่างจากอำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท บอกเล่าประสบการณ์การทำนาแบบลดต้นทุน ได้ผลผลิตเพิ่ม โดยอธิบายการคำนวณต้นทุนการผลิตข้าวทั้งก่อนและหลังเข้าร่วมโครงการ โดยนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาปรับใช้ ได้แก่ การปรับพื้นที่ให้เรียบ ให้น้ำแบบเปียกสลับแห้ง ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และไม่เผาตอซังข้าว นับเป็นวิทยากรเกษตรกรต้นแบบที่นำเทคโนโลยีการผลิตข้าวที่ยั่งยืนไปปรับใช้อย่างสัมฤทธิ์ผล

ว่าที่วิทยากรหลักและว่าที่วิทยากรเกษตรกรในจังหวัดนครสวรรค์

ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2563 การฝึกอบรมวิทยากรหลักเกี่ยวกับการผลิตข้าวที่ยั่งยืน ได้จัดขึ้นในจังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเกษตรกรจากทั้งสองจังหวัดนี้ล้วนเป็นกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่นอกโครงการ เพื่อขยายผลการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าวที่ยั่งยืนไปสู่เกษตรกรอย่างกว้างขวางมากขึ้น และนำไปสู่การนำไปปรับใช้ทั่วประเทศในอนาคต ภายหลังการฝึกอบรม ว่าที่วิทยากรหลักและว่าที่วิทยากรเกษตรกร มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานการผลิตข้าวที่ยั่งยืน และมีความพร้อมที่จะนำวิธีการและเทคโนโลยีที่มีประโยชน์ไปปรับใช้ในการทำนาของตนเอง ยิ่งไปกว่านั้นคือการขยายผลถ่ายทอดองค์ความรู้นี้ไปสู่เกษตรกรรายอื่นๆ ในชุมชนต่อไป

ติดต่อเรา

  • +66 2 255 4202
  • asean-agrifood@giz.de
  • 39/1 ซอยสุขุมวิท 13, ถนนสุขุมวิท, คลองเตยเหนือ, วัฒนา, กรุงเทพฯ 10110 ประเทศไทย

การเยี่ยมชม

สื่อและแหล่งข้อมูล

โครงการ

การป้องกันข้อมูล

สมัครจดหมายข่าว

ติดตามเรา

  • Copyright © 2014 - 2019 | Sustainable Agrifood Systems in ASEAN