ระยะเวลาดำเนินโครงการ : สิงหาคม 2561 - สิงหาคม 2566

โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ข้าวมีความสำคัญอย่างยิ่งในประเทศไทย เนื่องจากมีพื้นที่เพาะปลูกประมาณครึ่งหนึ่งของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งประเทศ และการทำนาในประเทศปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึงร้อยละ 55 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรทั้งหมด ทำให้การทำนาข้าวของประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 4 ของโลกเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ นอกจากนี้การขังน้ำในนาข้าวในพื้นที่เขตนาชลประทานทำให้เกิดการปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งมีศักยภาพการก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่า อีกทั้งการขาดแรงจูงใจเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ชาวนาไทยไม่ต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงการผลิตข้าวแบบดั้งเดิมไปสู่การผลิตข้าวแบบใหม่ที่ปล่อยมลพิษต่ำ

วัตถุประสงค์

เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตข้าว และปรับเปลี่ยนสู่การผลิตข้าวที่ปล่อยมลพิษต่ำ

ประเทศ

ประเทศไทย

แนวทางการดำเนินงาน

กลยุทธ์ที่ 1 – เทคโนโลยีการผลิตข้าวที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ: โครงการฯ จัดฝึกอบรมเกษตรกรเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีลดก๊าซเรือนกระจกและแนวทางการทำนาแบบยั่งยืน และสนับสนุนการปรับเปลี่ยนวิธีการทำนาผ่านการจัดตั้งเงินทุนหมุนเวียนเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการปรับเปลี่ยนวิธีการทำนา วิธีนี้สามารถสร้างรายได้ที่มากขึ้นโดยการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม การจัดการที่มีประสิทธิภาพสำหรับปัจจัยทางการเกษตร (เช่น การประหยัดน้ำ และพลังงานจากการสูบน้ำ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลงฯลฯ) และการเชื่อมโยงตลาดในการขายข้าวที่ปล่อยมลพิษต่ำ

กลยุทธ์ที่ 2 – บริการเทคโนโลยีการผลิตข้าวที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ: โครงการฯ สนับสนุนการพัฒนาธุรกิจโดยใช้ประโยชน์จากโครงการสินเชื่อสีเขียวสำหรับการลงทุน เพื่อให้บริการด้านเทคโนโลยีการผลิตข้าวที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำแก่เกษตรกร เช่น การปรับระดับพื้นที่ด้วยระบบเลเซอร์ การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง การใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และการจัดการฟางและตอซัง

กลยุทธ์ที่ 3 – การกำหนดนโยบายและมาตรการสนับสนุน: โครงการฯ สนับสนุนการดำเนินการพัฒนารูปแบบและกลยุทธ์การขยายผล การพัฒนามาตรฐานข้าวยั่งยืนบนพื้นฐานของมาตรฐานเวทีข้าวยั่งยืน (Sustainable Rice Platform: SRP) การบูรณาการโครงการเข้ากับแผนปฏิบัติงานและงบประมาณของรัฐบาลไทย

ผลการดำเนินโครงการที่ผ่านมา

  • จัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการฯ คณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ คณะทำงานฯ และคณะอนุกรรมการระดับจังหวัดจำนวน 6 จังหวัด
  • จัดกิจกรรมพัฒนาและเสริมสร้างการทำนาแบบยั่งยืนและลดโลกร้อน
  • จัดทำแปลงนาสาธิต 7 แห่ง ซึ่งเป็นการทำนาแบบยั่งยืนและลดโลกร้อน ในพื้นที่ 6 จังหวัดนำร่องของโครงการฯ
  • จัดฝึกอบรมการตรวจวัด การรายงานผล และการทวนสอบ (MRV) แก่เจ้าหน้าที่ภาครัฐ
  • พัฒนาแผนการดำเนินงานสำหรับเทคโนโลยีลดก๊าซเรือนกระจก (การปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง การใส่ ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และการจัดการฟางและตอซัง) รวมทั้งการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน
  • พัฒนายุทธศาสตร์ตลาดข้าวยั่งยืนและจับคู่กับคู่ค้า
  • จัดตั้ง SRP National Chapter สำหรับประเทศไทยเพื่อพัฒนามาตรฐานข้าวยั่งยืนในประเทศไทย

ผู้สนับสนุนด้านงบประมาณ

Mitigation Action

หน่วยงานร่วมดำเนินการ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ติดต่อ
อัมพวา ศีลลนนท์
ผู้อำนวยการโครงการ

เอกสารที่เกี่ยวข้อง