ระยะเวลาดำเนินโครงการ: เมษายน พ.ศ. 2566 – กันยายน พ.ศ. 2569
โครงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยด้วยการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพและการเกษตรแบบยั่งยืน
ประเทศไทยถูกจัดให้เป็นประเทศที่มี “ความเสี่ยงสูง” ซึ่งมีความเปราะบางที่สุดต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในช่วงระยะเวลา 30 ปีข้างหน้า มีความเป็นไปได้ที่จะประสบวิกฤติภัยแล้งและอุทกภัยรุนแรงบ่อยครั้งขึ้นและส่งผลเสียต่อภาคเกษตรกรรมที่เปราะบางเพราะความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะกลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวจำนวนมหาศาลป้อนเข้าสู่ตลาดโลก
จากสภาพอากาศที่คาดว่าจะมีความแปรปรวนแบบสุดขั้ว ข้อมูลสภาพภูมิอากาศที่ครบถ้วนเพื่อช่วยในการวางแผนงานด้านการบริหารจัดการน้ำและงานด้านเกษตรกรรมและโครงสร้างพื้นฐานในการจัดการน้ำที่เสริมเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการรับมือต่อวิกฤติภัยแล้งและอุทกภัยรุนแรงที่จะเกิดขึ้น แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2561 จึงได้กำหนดให้การบริหารจัดการน้ำภายใต้ภาวะวิกฤตภัยแล้งและอุทกภัยเป็นเรื่องเร่งด่วนระดับชาติ ทั้งนี้ โครงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยด้วยการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพและการเกษตรแบบยั่งยืน (Enhancing Climate Resilience in Thailand through Effective Water Management and Sustainable Agriculture: E-WMSA) ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund: GCF) เพื่อบูรณาการกระบวนการบริหารจัดการน้ำโดยคำนึงถึงสภาพภูมิอากาศควบคู่ไปกับการสนับสนุนภาคเกษตรกรรมในการปรับตัวลดผลกระทบความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น
โครงการ E-WMSA มีโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme:UNDP) เป็นหน่วยงานในการดำเนินการร่วมกับกรมชลประทาน ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนโครงการแบบองค์รวมผ่านแนวทาง 3 ประการ ได้แก่ 1) การปรับปรุงระบบฐานข้อมูลภูมิอากาศและการสื่อสารประสานงานระหว่างหน่วยงาน 2) การปรับปรุงงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพโดยการเสริมสร้างความสมบูรณ์ของโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการน้ำ ด้วยมาตรการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ (Ecosystem-based Adaptation:EbA) และ 3) การลดความผันผวนของวิถีชีวิตเกษตรกรด้วยการส่งเสริมด้านการเกษตรและการวางแผนในระดับท้องถิ่น เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย
จากแนวทาง 3 ประการดังกล่าว UNDP มอบหมายให้องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) สนับสนุนกรมชลประทาน หน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนชุมชนในพื้นที่ เพื่อปรับปรุงแผนการจัดการลุ่มน้ำยม-น่านให้รับมือต่อวิกฤติภัยแล้งและอุทกภัยรุนแรงที่จะเกิดขึ้นได้ ผ่านการเสริมสร้างและเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานสีเทาด้วยมาตรการ EbA ในการบูรณาการแนวทาง EbA ให้เข้ากับนโยบายและการวางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
วัตถุประสงค์
พื้นที่ดำเนินโครงการ
พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิษถ์ ประเทศไทย
แนวทางการดำเนินงาน
- การส่งเสริมศักยภาพเรื่องแนวทาง EbA โครงการมุ่งเน้นการสร้างความตระหนักและเสริมความรู้ความเข้าใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องในลุ่มน้ำยมและน่าน เกี่ยวกับความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น พร้อมทั้งกรอบการทำงานและแนวทาง EbA ที่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้
- การระบุและการสร้างมาตรการ EbA เพื่อเป็นส่วนเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับโครงสร้างพื้นฐานสีเทา โครงการสนับสนุนและส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่กรมชลประทานคำนึงถึงการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับโครงสร้างพื้นฐานสีเทา ด้วยมาตรการ EbA ที่เหมาะสมผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในท้องถิ่น เริ่มจากการประเมินความเสี่ยงและความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การระบุและการจัดลําดับความสําคัญของมาตรการ EbA การพัฒนากรอบการติดตามและประเมินผล การประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาตร์เพื่อนํามาตรการ EbA ไปใช้
- การบูรณาการแนวทาง EbA ให้เข้ากับนโยบายและการวางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โครงการสนับสนุน ให้เกิดการบูรณาการแนวทาง EbA ในการวางแผนการจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำยมและน่าน เช่น แผนฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมโทรม นอกจากนี้จากประสบการณ์และบทเรียนที่ได้จากการนำมาตรการ EbA ไปใช้ในระดับลุ่มน้ำ โครงการจะพัฒนาเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อนำไปใช้ในการปรับปรุงนโยบายการจัดการน้ำในระดับประเทศ ตลอดจนสะท้อนความเชื่อมโยงสู่แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ หรือ การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution:NDC) ภายใต้ความตกลงปารีส