09 เมษายน 2564

ตลาดนำการเกษตรเชื่อมโยงชาวนากับห่วงโซ่การผลิตข้าวยั่งยืน

เป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว ที่คุณอุดร คำวงษา ได้ผันตัวจากการทำงานช่างไฟฟ้ากลับมาทำอาชีพเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่บ้านเกิดของเธอในอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
(จากซ้ายไปขวา) คุณอุดร คำวงษาและ คุณมนตรี พรหมลักษณ์ ผู้จัดการพื้นที่โครงการริเริ่มข้าวที่ดีขึ้นแห่งเอเชีย

ในฐานะชาวนารุ่นที่ 3 ของครอบครัว ตัวแทนของชุมชน และคุณแม่เลี้ยงเดี่ยววัย 43 ปี อุดรชื่นชอบที่จะเรียนรู้และแสวงหาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อปรับปรุงพื้นที่นาและผลผลิตข้าวของตนเองอยู่เสมอ เธอมักจะหาเวลาว่างจากการทำนา ไปเข้าร่วมการฝึกอบรมและสัมมนาที่จัดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่เกษตรและองค์กรพัฒนาเอกชนต่าง ๆ

ในปีพ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา เธอได้เข้าร่วมการฝึกอบรมกับโครงการตลาดนำการผลิตเพื่อเกษตรกรรายย่อย (ประเทศไทย) (Market-oriented Small Holder Value Chain: MSVC TH) หรือ เบรีย 2 (BRIA II) ที่จัดขึ้นโดยกรมการข้าว บริษัทโอแลม (ประเทศไทย) จำกัด คร็อปไลฟ์ (CropLife) และGIZ โครงการนี้ริเริ่มขึ้นในปีพ.ศ. 2561 ในพื้นที่นำร่องจังหวัดอุบลราชธานี พื้นที่ปลูกข้าวที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยราว 4.1 ล้านไร่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความสำคัญในการเชื่อมโยงระหว่างเกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเพื่อผลักดันอำนาจการต่อรองและการเข้าถึงตลาด ผ่านการเสริมสร้างโอกาสและศักยภาพให้แก่เกษตรกรในเรื่องการผลิตข้าวยั่งยืน การใช้ปัจจัยการผลิตและเครื่องจักรกลทางการเกษตร

หลังจากเข้าร่วมการฝึกอบรมเป็นเวลากว่าหนึ่งปี อุดรพบว่าบันทึกปฏิทินการปลูกข้าวที่เธอได้เรียนรู้มาจากโครงการ MSVC ช่วยให้เธอทราบถึงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการเพาะเมล็ด การให้ปุ๋ย และการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าว เธอได้เรียนรู้คุณภาพของดิน การลดการใช้สารเคมี และวิธีการปรับแต่งสูตรปุ๋ยให้เหมาะสมกับสภาพดินในพื้นที่นาที่แตกต่างกัน นอกจากนี้แล้วเธอยังสามารถลดต้นทุนการทำนาผ่านการปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ฝึกอบรมและเจ้าหน้าที่ของโครงการอีกด้วย

อุดร กล่าวว่า “ในอดีตเรามักจะใส่ปุ๋ยมากตามที่เราต้องการ โดยไม่มีการคำนวณใด ๆ ฉันต้องขอบคุณโครงการฝึกอบรมนี้ที่ให้ฉันได้เรียนรู้วิธีการใส่ปุ๋ยอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ที่นอกจากจะช่วยให้นาข้าวของฉันมีดินคุณภาพดีแล้ว ยังเป็นการรักษาเสถียรภาพของระบบนิเวศให้ดีขึ้นด้วย”

ปัจจุบันเกษตรกรผู้ปลูกข้าวมักใส่ปุ๋ยและใช้สารเคมีมากเกินปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งการใช้สารเคมีที่มากเกินเป็นการทำลายธาตุอาหารในดิน เช่น โซเดียม โพแทสเซียม ไนโตรเจน และส่งผลให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินเสื่อมโทรมลง ทั้งนี้การใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและตามคำแนะนำที่ถูกต้องช่วยลดจำนวนการใช้ปุ๋ยได้มากถึงร้อยละ 40
คุณ สงสุข เกษตรกรผู้ปลูกข้าวจากอำเภอเหล่าเสือโก้ก จังหวัดอุบลราชธานี

ความรู้ด้านการเพาะปลูกนี้ยังช่วยให้ คุณ สงสุข เกษตรกรผู้ปลูกข้าวจากอำเภอเหล่าเสือโก้ก สามารถลดสารเคมีที่ตกค้างในข้าว พร้อมทั้งปรับปรุงคุณภาพดินในที่นา ผ่านการใช้เทคโนโลยีเครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ช่วยให้ต้นกล้าแข็งแรง สามารถต้านทานโรคได้ดีขึ้นโดยที่ไม่ต้องใช้สารเคมีหรือยาฆ่าแมลง อันเป็นการช่วยลดต้นทุนอีกทางหนึ่งด้วย

ผลผลิตข้าวที่ถูกเก็บเกี่ยวจากที่นาของเกษตรกรทั้งสองท่านนี้ มีเมล็ดเต็ม ปราศจากสิ่งสกปรกเจือปน และมีเมล็ดข้าวหักปะปนอยู่น้อยมาก ถึงแม้ว่าในฤดูเก็บเกี่ยวที่ผ่านมาจะเกิดปัญหาอุทกภัยที่ส่งผลให้ไม่สามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้ในปริมาณที่มากนัก แต่เพราะข้าวจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ MSVC ถือว่าเป็นข้าวที่มีคุณภาพจึงทำให้เป็นที่ต้องการของโรงสีในพื้นที่อย่างมาก

คุณวิญญู วีระนันทาเวทย์ ผู้จัดการ บริษัท เค.ดี. ไรซ์ อินเตอร์เทรด จำกัด โรงสีในอำเภอตระการพืชผลรับซื้อข้าวจากชาวนาที่ร่วมโครงการ MSVC

คุณวิญญู วีระนันทาเวทย์ ผู้จัดการ บริษัท เค.ดี. ไรซ์ อินเตอร์เทรด จำกัด โรงสีในอำเภอตระการพืชผล กล่าวว่า เขาเข้าร่วมโครงการ MSVC เนื่องจากคุณภาพของผลผลิตข้าวที่ได้จากเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการนี้ มีสิ่งสกปรกเจือปนอยู่น้อยเมื่อเทียบกับข้าวทั่วไป อีกทั้งการบรรยายและนำเยี่ยมชมพื้นที่โดยเจ้าหน้าที่โครงการ ทำให้เขาได้เห็นถึงกระบวนการการผลิตที่ไม่มีการเผาทำลายตอซังและฟางพืช ซึ่งมีส่วนช่วยในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

“ในฐานะผู้ผลิตและผู้รับซื้อข้าว พวกเราเชื่อมั่นในผลผลิตข้าวจากเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการ MSVC ว่ามีคุณภาพดี และยังรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทานข้าวของประเทศไทยด้วย” วิญญูกล่าว

ลักษณะทางกายภาพของข้าวที่ผู้ผลิตและผู้ซื้อใช้ในการกำหนดคุณภาพ
  • ข้าวต้องบริสุทธิ์ ปราศจากวัชพืช หญ้าแห้ง และเมล็ดข้าววัชพืชที่มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง
  • เพื่อให้ขายข้าวได้ราคาดี ข้าวถูกเก็บเกี่ยวในระยะที่เหมาะสม โดยเมล็ดต้องมีความชื้นน้อยกว่าร้อยละ 25

หลังจากที่ซื้อผลผลิตข้าวจากเกษตรกรแล้ว บริษัทของเขาจะจัดจำหน่ายให้กับลูกค้าเพื่อทำการส่งออกผ่านความร่วมมือกับโอแลม โดยมีเป้าหมายคือการทำตลาด “ข้าวยั่งยืน” ผ่านการประชาสัมพันธ์ลงในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี ทั้งนี้เขาหวังว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันส่งเสริมและผลักดันข้าวยั่งยืน โดยการใช้โครงการ MSVC เป็นต้นแบบในการขยายผลจากกระบวนการผลิตไปยังการดำเนินงานอื่น ๆ ของประเทศต่อไป

คาดว่าผลผลิตข้าวเปลือกจะเพิ่มขึ้นถึง 60,000 ตัน และข้าวหอมมะลิไทยคุณภาพส่งออกนี้จะถูกผลิตภายใต้มาตรฐานข้าวที่ยั่งยืน
(Sustainable Rice Platform: SRP) และกระจายออกสู่ตลาดในปีนี้

คุณมนตรี พรหมลักษณ์ ผู้จัดการพื้นที่โครงการริเริ่มข้าวที่ดีขึ้นแห่งเอเชีย กล่าวว่า “ข้าวหอมมะลิจำนวน 11,000 ตัน ที่มีมูลค่ากว่า 113 ล้านบาท ถูกผลิตโดยสมาชิกเกษตรกรทั้งหมด 2,411 ราย ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวเมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งนอกจากรายได้ที่ได้รับจากการขายข้าวให้กับโรงสีในจังหวัดอุบลราชธานีแล้ว พวกเขายังจะได้รับเงินสดเพิ่มอีก 100-150 บาท/ตัน จากจำนวนข้าวหอมมะลิทั้งหมดที่ขายให้กับโรงสีอีกด้วย”

ตามที่ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) การรับซื้อข้าวจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ MSVC ไม่ได้บังคับให้พวกเขาต้องจำหน่ายผลผลิตข้าวให้กับโรงสีที่ลงนามร่วมกันเท่านั้น ทั้งนี้จากการขยายพื้นที่โครงการให้ครอบคลุมไปยังอีก 2 จังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดสุรินทร์และศรีสะเกษ ทำให้เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นเป็น 16,000 ราย โดยมนตรีคาดว่าผลผลิตข้าวเปลือกจะเพิ่มขึ้นถึง 60,000 ตัน และข้าวหอมมะลิไทยคุณภาพส่งออกนี้จะถูกผลิตภายใต้มาตรฐานข้าวที่ยั่งยืน (Sustainable Rice Platform: SRP) และกระจายออกสู่ตลาดในปีนี้

ติดต่อเรา

  • +66 2 255 4202
  • asean-agrifood@giz.de
  • 39/1 ซอยสุขุมวิท 13, ถนนสุขุมวิท, คลองเตยเหนือ, วัฒนา, กรุงเทพฯ 10110 ประเทศไทย

การเยี่ยมชม

  • 3,183
  • 39,887
  • 1,564,866

สื่อและแหล่งข้อมูล

โครงการ

การป้องกันข้อมูล

สมัครจดหมายข่าว

ติดตามเรา

  • Copyright © 2014 - 2019 | Sustainable Agrifood Systems in ASEAN
Scroll to Top