ยามเช้าที่แปลงนาของผู้ใหญ่ ถาวร คำแผง ที่ตำบลเดิมบาง อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรีดูจะคึกคักเป็นพิเศษ มีเจ้าหน้าที่จากสถาบันวิจัยข้าวสุพรรณบุรีเข้ามาที่นาตั้งแต่เช้ามืดเพื่อทำการตรวจวัดก๊าซเรือนกระจกแปลงนาของผู้ใหญ่ถาวรนั้นเป็นแปลงสาธิตการทำนาแบบรักษ์โลกซึ่งอยุ่ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (International Rice Research Institute: IRRI) และ กรมการข้าว
ซึ่งถ้าหากผู้สัญจรไปมาผ่านแปลงนาของผู้ใหญ่ถาวรก็จะสังเกตุเห็นกล่องใสสีขาวที่ตั้งอยู่กระจายไปทั่วแปลงนา กล่องพวกนี้มีหน้าที่ในการกักเก็บก๊าซต่าง ๆ ที่ถูกปล่อยออกมาจากนาข้าว เพื่อนำมาใช้ในการตรวจวัดก๊าซเรือนกระจก
การตรวจวัดก๊าซเรือนกระจก มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินศักยภาพการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการเพาะปลูกข้าวยั่งยืน และการพัฒนาระบบตรวจวัด รายงานผล และทวนสอบ (Monitoring, Reporting and Verification: MRV) ที่เหมาะสมสำหรับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการผลิตข้าว เพื่อนำข้อมูลไปคํานวณว่าในแต่ละแปลงจะผลิตก๊าซเรือนกระจกมากน้อยเท่าใด แปลงสาธิตที่ใช้เทคโนโลยีลดโลกร้อนจะลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้เท่าไหน และขยายผลออกมาเป็นเป้าหมายการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในการวางนโยบายในอนาคต
โครงการความร่วมมือ ไทย – เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาคเกษตรกรรม(TGCP-Agriculture) ร่วมดำเนินงานกับโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Thai Rice Nama) และโครงการริเริ่มข้าวที่ดีขึ้นแห่งเอเชีย (BRIA II) ในการสนับสนุนหน่วยงานของไทยในการประเมินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในพื้นที่นาข้าวและโดยเฉพาะการพัฒนาระบบ MRV เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
แปลงนาของผู้ใหญ่ถาวรนั้นเป็นแปลงนาสาถิตในโครงการ Thai Rice Nama ได้นำเอา 4 เทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาได้แก่ 1.การปรับพื้นที่นาด้วยเลเซอร์ 2.การจัดการน้ำในนาแบบเปียกสลับแห้ง 3. การจัดการธาตุอาหารพืชและการใช้ปุ๋ย 4. การจัดการฟางข้าวและตอซัง มาปรับใช้ในแปลงของตนทำให้ได้ผลผลิตข้าวที่สูงขึ้นและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำนา
ในการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ก๊าซที่ได้จากที่นาเริ่มจากการเก็บตัวอย่างก๊าซในแปลงสาธิตโดยเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยข้าว ในชัยนาท พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สุพรรณบุรี อ่างทอง และสิงห์บุรี ในภาคกลาง และอุบลราชธานี ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จากนั้นจะนำตัวอย่างมาวิเคราะห์หาความเข้มข้นและปริมาณก๊าซเรือนกระจกด้วยเครื่องแก็สโครมาโทกราฟ (Gas Chromatograph) ณ ห้องปฏิบัติการ ในศูนย์วิจัยข้าว ซึ่งข้อมูลที่ได้จะถูกส่งไปยังส่วนกลางของกรมการข้าว เพื่อวัดความมีประสิทธิภาพของเทคนิคและนำข้อมูลไปใช้เป็นค่ากลางในการวางแผนและกำหนดนโยบายเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตข้าวในอนาคต
ภายหลังจากการตรวจเยี่ยมและสังเกตการณ์การเก็บตัวอย่างก๊าซ ดร.ไรเนอร์ วัสส์มันม์ และ ดร. ลัดดาวัลย์ กรรณนุช ที่ปรึกษา IRRI และ ดร. โธมัส เยเคิบ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาความร่วมมือข้าวองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน ได้จัดการประชุมกับเจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยข้าว เพื่อสอบถามและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การนำเทคโนโลยีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปใช้
เจ้าหน้าที่ส่งเสริมได้บอกเล่าประสบการณ์ว่าการจัดการน้ำในนาแบบเปียกสลับแห้งช่วยให้ต้นข้าวแข็งแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ต้นข้าวไม่ล้ม และปัญหาศัตรูพืชและโรคข้าวลดน้อยลง ส่วนการปรับพื้นที่นาด้วยเลเซอร์ เกษตรกรประทับใจในผลลัพธ์ที่ได้ ถึงแม้ว่าตอนแรกต้นทุนการปรับพื้นที่นาด้วยเลเซอร์จะค่อนข้างสูง แต่หลังจากได้ลองนำไปใช้สังเกตได้ว่าค่าใช้จ่ายนั้นลงได้มาก เนื่องจากประหยัดค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำ ทำให้เกษตรกรคนอื่น ๆ เริ่มมาสนใจอยากจะปรับหน้าดินด้วยเลเซอร์มากขึ้น”
สุดท้ายนี้เมื่อเสร็จการประชุมทีมของ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ และกรมการข้าวร่วมกันหาแนวทางในการแก้ปัญหาในอนาคต และวางแผนประสานงาน เพื่อส่งเสริมการทำนาแบบเปียกสลับแห้งและการปรับหน้าดินด้วยเลเซอร์และให้ความรู้เกษตรกรเรื่องนี้ในระยะยาว
“เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวผลของการวัดก๊าซเรือนกระจกจากแปลงรักษ์โลกของผู้ใหญ่ถาวรจะพิสูจน์ให้เราเห็นว่าการทำนาอย่างยั่งยืนนั้นจะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและช่วยเกษตรกรให้มีรายได้มากขึ้นได้” ดร. ลัดดาวัลย์ กรรณนุช ที่ปรึกษา IRRI กล่าว