29 เมษายน 2565

โครงการข้าวหอมมะลิยั่งยืนสร้างโอกาส-สานพลังเพื่อผู้หญิงในภาคการเกษตรของไทย

เรื่อง: อภิรดี ตรีรัตน์เกื้อกูล ภาพ: ศรีจักรภัทร เฉลิมชัย กลุ่มเกษตรและความปลอดภัยทางอาหาร

เกษตรกรสตรีจากภาคอีสานได้รับการรับรองจาก เวทีข้าวยั่งยืน หรือ Sustainable Rice Platform (SRP)  พร้อมพัฒนาส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิไทยลดโลกร้อน การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่คุณค่าของการ

เกษตรกรสตรีจากร้อยเอ็ดและอุบลราชธานี ได้รับเชิญจากมิสเตอร์ ฮันส์-อูลริค ซูเบ็ค อัครราชทูตและหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย และดร.เบิร์น คริสเตียนเซน ที่ปรึกษาทูตด้านอาหารและการเกษตร เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงความสำเร็จของการปลูกข้าวหอมมะลิยั่งยืนในระดับชุมชน

มัสสา โยริบุตร พูนทรัพย์ พรหมมี และ อุดร คำวงสา คือเกษตรกร 3 คนแรกของไทยและเป็นเกษตรกรสามคนแรกของโลกที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการในฐานะ ผู้ฝึกอบรมการปลูกข้าวที่ยั่งยืนอย่างเป็นทางการ เวทีข้าวยั่งยืน ที่ซึ่งพันธมิตรระดับโลกเพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่คุณค่าการผลิตข้าว เกษตรกรหญิงทั้งสามท่านได้ผ่านการรับรองและอนุมติจากเวทีข้าวยั่งยืน ให้สามารถจัดการฝึกอบรมและกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างทักษะให้กับเกษตรกรในระดับชุมชน

เวทีข้าวยั่งยืน หรือ Sustainable Rice Platform (SRP) ก่อตั้งเมื่อปี 2554 เกิดจากความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เช่น องค์การสหประชาชาติ (UN) องค์กรระหว่างประเทศ องค์กรไม่แสวงผลกำไร ชุมชนวิจัยนานาชาติ และสมาชิกกว่า 100 สถาบัน/องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้พัฒนามาตรฐานการผลิตข้าวที่ยั่งยืน (SRP Standard) ซึ่งถือเป็นมาตรฐานสำหรับการผลิตข้าวมาตรฐานแรกที่มุ่งสู่ความยั่งยืนในระดับโลก มาตรฐานการผลิตข้าวที่ยั่งยืนนี้ ได้กำหนดเงื่อนไขทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งมาตรฐานการปลูกข้าวที่ยั่งยืน (SRP) ส่งเสริมการปฏิบัติอย่างยั่งยืนในทุกกระบวนการผลิตข้าวที่อยู่ภายใต้การควบคุมของเกษตรกร ประกอบไปด้วย 8 หลักการ ภายใต้ 41ข้อกำหนด ดังนี้ 1. การจัดการแปลงนา 2. การเตรียมการก่อนการเพาะปลูก 3. การใช้น้ำ 4. การจัดการธาตุอาหาร 5. การจัดการศัตรูพืช 6. การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว7. สุขภาพและความปลอดภัย 8. สิทธิแรงงาน

นอกจากนี้ หน่วยงานเวทีข้าวยั่งยืนยังดำเนินงานรับรองมาตรฐานข้าวปลูกข้าวที่ยั่งยืน และกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งการฝึกอบรม การวัดประเมินผล และการรับรองผู้อบรมการปลูกข้าวที่ยั่งยืน (SRP )

เกษตรกรหญิงทั้งสามท่านจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือคือหนึ่งในตัวอย่างของการเสริมสร้างศักยภาพให้กับชาวนารายย่อย โดยเฉพาะกลุ่มสตรีให้เป็นพลังสำคัญในการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมศักยภาพการเพิ่มผลผลิตข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพ และปลอดภัยตั้งแต่ต้นน้ำ สร้างความยั่งยืนให้กับห่วงโซ่การผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพดีของไทย

นางมัสสา เริ่มเข้าร่วมกิจกรรมกับโครงการข้าวหอมมะลิยั่งยืน (Sustainable Aromatic Rice Initiative Thailand: SARI) ตั้งแต่ปี 2561 โครงการ SARI ดำเนินงานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยที่ได้เข้าร่วมโครงการข้าวหอมมะลิยั่งยืน สนับสนุนโดย กรมการข้าว บริษัท เอลล์บา บางกอก จำกัด บริษัทมาร์ส ฟู้ดส์ (Mars Food) จำกัดและองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประเทศไทยในฐานะองค์กรของรัฐบาลเยอรมันที่ดำเนินงานด้านความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยภายใต้โครงการนำมาตรฐานการปลูกข้าวที่ยั่งยืนไปปรับใช้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมโดยรวม

มัสสา โยริบุตร เกษตรกรจังหวัดร้อยเอ็ดและสมาชิกโครงการข้าวหอมมะลิยั่งยืน

นางมัสสา มีพื้นที่ทำนาทั้งหมด 61 ไร่ ที่อำเภอสุวรรณภูมิ ร้อยเอ็ด ดินแดนใจกลางของทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ครั้งหนึ่งทั้งแห้งแล้งและทุรกันดาร ภายหลังจากการเข้าร่วมอบรมกับโครงการข้าวหอมมะลิยั่งยืน เรียนรู้วิถีการทำนาข้าวหอมมะลิเพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต นางมัสสาและครอบครัว ตัดสินใจปรับเปลี่ยนวิถีการทำนาดำ นาโยนรูปแบบเดิม เป็นการทำนาหยอด “หากมองย้อนกลับไป 3-4 ปีที่แล้ว ยอมรับว่าตัวเองและครอบครัวต้องอาศัยความกล้าหาญอย่างยิ่งในการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงจากวิถีการทำนาแบบเดิม ทั้ง ๆ ที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร แต่ตนเองถือคติเมื่อเรียนรู้แล้วก็ต้องรู้จักลงมือทำ จึงทำให้เห็นว่าสามารถลดต้นทุนเมล็ดพันธ์ไปไดมากถึง 20-30% เทคนิคปุ๋ยสั่งตัดก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ ผลผลิตมากขึ้น ผลลัพธ์ภาพรวมออกมาเป็นที่น่าพอใจ” นางมัสสา กล่าว 

พูนทรัพย์ พรหมมี (กลาง) เกษตรกรวัย 61 ปีชาวร้อยเอ็ด หนึ่งในสามเกษตรกรไทยที่องค์กรระดับสากลด้านการปลูกข้าวที่ยั่งยืนประกาศรับรองในฐานะผู้ฝึกอบรมการปลูกข้าวที่ยั่งยืนอย่างเป็นทางการ

แม้จะอยู่ในวัยเกษียณแล้ว แต่ พูนทรัพย์ พรหมมี เกษตรกรวัย 61 ปีอีกท่านจากร้อยเอ็ดก็ยังแข็งแรง และมีความสุขจากการประกอบอาชีพทำนา แม่พูนทรัพย์ กล่าวว่า รากที่ลงลึกด้วยเทคนิคนาหยอด ยังทำให้ต้นข้าวหอมมะลิของตนมีลำต้นใหญ่ แข็งแรง ต้านทานโรคและแมลงได้ดี ตนเห็นข้อแตกต่างได้ชัดเพราะได้เริ่มทดลองทำนาหยอดในพื้นที่นา 9 ไร่ จากที่นาทั้งหมด 30 ไร่ เมื่อต้นข้าวแข็งแรง ผลผลิตต่อไร่ย่อมมากกว่า  ตนจึงตัดสินใจมาทำนาหยอดในพื้นที่ทั้งหมดจนถึงปัจจุบันนี้

ในฐานะต้นน้ำของห่วงโซ่การผลิตข้าวหอมมะลิ อุดร คำวงสา เกษตรกรหญิงแกร่งวัย 45 ปีไม่เคยหยุดที่จะเรียนรู้เทคนิคและวิธีการปลูกข้าวรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อที่จะนำมาปรับใช้กับที่นาของตนได้รับช่วงสานต่อมาจากรุ่นปู่และพ่อแม่ ในอำเภอสำโรง จังหวัดอุบลราชธานี

อุดร คำวงสา (ซ้าย) และ นิตยา บุญกอง (ขวา) เกษตรกรและเจ้าหน้าที่ภาคสนามโครงการการิเริ่มข้าวที่ดีแห่งเอเชียและ การเชื่อมโยงตลาดนำการผลิตเพื่อเกษตรกรรายย่อยจากอุบลราชธานี

“สมาชิกในครอบครัวของเรากินข้าวจากที่ปลูกเอง และเราก็อยากให้ผู้บริโภคทุกคนได้ข้าวหอมมะลิที่ดีมีคุณภาพและปลอดภัย จะได้แข็งแรงและมีแรงผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพ ปลอดภัยและยั่งยืนกับทุกคน” นางอุดร กล่าวพร้อมเสริมว่าการปลูกข้าวในบ้านเรายังต้องพึ่งพาการใช้ปุ๋ยและเคมีภัณฑ์เพื่อเพิ่มผลผลิต การใช้สารเคมีที่มากเกินไปโดยขาดความเข้าใจมีผลกระทบโดยตรงต่อความอุดมสมบูรณ์ของดิน ปริมาณผลผลิต และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นางอุดร เข้าร่วมโครงการริเริ่มข้าวที่ดีขึ้นแห่งเอเชีย (เบรีย) ตั้งแต่ปี 2562 โครงการดังกล่าวมีพื้นที่ดำเนินงานในจังหวัดอุบลราชธานี ที่มีพื้นที่ปลูกข้าวมากที่สุดของประเทศไทย คือ 4.1 ล้านไร่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงเกษตรกรกับช่องทางการจัดจำหน่ายเข้าด้วยกัน เป็นการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิและรายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวรายย่อยอย่างเป็นระบบ

เกษตรกรหญิงทั้งสามท่าน ได้รับเชิญจากมิสเตอร์ ฮันส์-อูลริค ซูเบ็ค อัครราชทูตและหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย และดร.เบิร์น คริสเตียนเซน ที่ปรึกษาทูตด้านอาหารและการเกษตรเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงความสำเร็จของการปลูกข้าวหอมมะลิยั่งยืนในระดับชุมชน

มิสเตอร์ ฮันส์-อูลริค ซูเบ็ค อัครราชทูตและหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย

“การส่งต่อความรู้จากเกษตรกรเพื่อเกษตรกรเป็นหนึ่งในแนวทางเพื่อพัฒนาการปลูกข้าวหอมมะลิและเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตข้าวที่ดีขึ้น ท่ามกลางภัยแล้งและสภาวะโลกร้อนที่ต้องเผชิญโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน” ท่านอัครราชทูตซูเบ็ค กล่าว

ดร.เบิร์น คริสเตียนเซน ที่ปรึกษาทูตด้านอาหารและการเกษตร

ดร.คริสเตียนเซน ที่ปรึกษาทูตด้านอาหารและการเกษตรกล่าวเสริมว่า ตนมาจากครอบครัวเกษตรกรจึงเข้าใจความลำบากที่เกษตรกรไทยต้องเผชิญ นับเป็นเหตุผลสำคัญและความจำเป็นของการดำเนินโครงการเพื่อส่งเสริมวิธีการปลูกข้าวและนำเทคโนโลยีการเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนและเชื่อมโยงเกษตรกรรายย่อยเข้ากับภาคการตลาดเพื่อความยั่งยืนของห่วงโซ่คุณค่าการผลิตข้าวหอมมะลิยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำ ไปถึงมือผู้บริโภคต่อไป ■

แกลเลอรี่ภาพ

ติดต่อเรา

  • +66 2 255 4202
  • asean-agrifood@giz.de
  • 39/1 ซอยสุขุมวิท 13, ถนนสุขุมวิท, คลองเตยเหนือ, วัฒนา, กรุงเทพฯ 10110 ประเทศไทย

การเยี่ยมชม

  • 382
  • 46,302
  • 1,579,691

สื่อและแหล่งข้อมูล

โครงการ

การป้องกันข้อมูล

สมัครจดหมายข่าว

ติดตามเรา

  • Copyright © 2014 - 2019 | Sustainable Agrifood Systems in ASEAN
Scroll to Top