เรื่องโดย: รินดา แก้วขอนแก่น เจ้าหน้าที่ภาคสนาม โครงการข้าวหอมมะลิยั่งยืน
เป็นเวลาเกือบสิบปีที่นายวันชัย มาสระคู เกษตรกรอายุ 54 ปีจากอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ดดิ้นรนหาเงินลงทุนให้เพียงพอต่อการทำนาครั้งถัดไป ซึ่งต้นทุนการทำนาในแต่ละปีนั้นใช้เงินจำนวนมาก ทั้งค่าปุ๋ย ค่าเมล็ดพันธุ์ และอื่นๆ
แต่เขาก็ตระหนักได้ว่า เขาไม่จำเป็นต้องทำอะไรเพิ่มเติม แค่เพียง ‘ต้องทำให้ถูกทาง’
นายวันชัยเล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะมาปรับพื้นที่นาด้วยระบบปรับระดับพื้นที่นาด้วยแสงเลเซอร์ เดิมทีแปลงนาไม่สม่ำเสมอกัน ทำให้ควบคุมน้ำได้ยาก พอเจ้าหน้าที่จากโครงการข้าวหอมมะลิยั่งยืนลงพื้นที่และเข้ามาสอบถามว่า มีใครต้องการจะปรับพื้นนาด้วยระบบแสงเลเซอร์หรือไม่ ตนจึงมีความสนใจเป็นอย่างมาก และอยากจะลองทำดู
นายวันชัยเข้าร่วมโครงการในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2561 และแปลงโฉมแปลงนาจำนวนพื้นที่ 13 ไร่ให้กลายเป็นแปลงสาธิตเพื่อทดลองใช้เทคโนโลยีการปลูกข้าวช่วยลดและต่อสู้กับภาวะโลกร้อน
“ภรรยาผมตกใจมากตอนผมบอกเขาว่า ใช้เมล็ดพันธุ์แค่ 9 กิโลกรัมต่อไร่ เขาไม่มั่นใจเลยว่า เราจะได้ข้าวตามที่ต้องการหรือไม่ เขาสงสัยด้วยซ้ำว่า ผมตัดสินใจถูกหรือเปล่า” นายวันชัยกล่าว
ในอดีตที่ผ่านมา นายวันชัยใช้เมล็ดพันธุ์มากกว่า 30 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งต้องใช้เงินมากกว่า 10,000 บาททุกปี แต่หลังจากลองใช้เครื่องหยอดข้าวในการทำนา ปัจจุบันนี้ เขาใช้เงินเพียงแค่ 3,500 บาทเท่านั้น ซึ่งทำให้เขาไม่ต้องกังวลเรื่องค่าเรียนของลูกอีกต่อไป
“ผมใช้เงินตรงนี้ส่งลูกๆ 5 คนไปเรียนหนังสือ”
ในขณะเดียวกัน นอกจากการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพและในปริมาณที่น้อยลงแล้ว นายวันชัยยังวิเคราะห์ค่าดินด้วยตนเองเพื่อใส่ปุ๋ยในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งช่วยลดปริมาณการใช้ปุ๋ยจาก 7 กระสอบ เหลือเพียง 4 กระสอบเท่านั้น ถือว่าเป็นปริมาณที่เหมาะสมต่อการปลูกข้าว กข 15 ในพื้นที่ทั้งหมด 23 ไร่ ต่างจากก่อนหน้านี้ที่มักจะใส่ปุ๋ยตามความพอใจ เพราะเชื่อว่าถ้าอยากให้ข้าวงาม ก็ต้องใส่ปุ๋ยเยอะๆ ทำให้นายวิชัยเสียเงินค่าปุ๋ยไปจำนวนมาก แต่ตอนนี้ นายวันชัยรู้แล้วว่า ใส่ปุ๋ยแต่พอควรตามค่าวิเคราะห์ดิน ข้าวก็งามได้เหมือนกัน
“ผมรู้สึกมั่นใจมากขึ้น และทัศนคติต่อการทำนาก็ดีขึ้นด้วย”
โครงการข้าวหอมมะลิยั่งยืน
“โครงการข้าวหอมมะลิยั่งยืน” มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยจำนวน 1,200 รายจาก 12 ศูนย์ข้าวชุมชนในจังหวัดร้อยเอ็ดในการผลิตข้าวหอมมะลิยั่งยืนจำนวน 3,500 ตัน ด้วยเทคโนโลยีช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมาตรฐานการปลูกข้าวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โครงการจะช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ลดต้นทุนการผลิต รวมถึงเพิ่มจำนวนผลผลิตและคุณภาพข้าวให้เป็นไปตามความต้องการของตลาดโลก โดยดำเนินงานเป็นระยะเวลา 2 ปีครึ่ง เริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 จนถึง พ.ศ. 2563
ระบบปรับระดับพื้นที่นาด้วยแสงเลเซอร์
การใช้อุปกรณ์ปรับระดับดินด้วยแสงเลเซอร์ (Laser Land Levelling) ช่วยจัดการน้ำให้กระจายทั่วถึงทั้งแปลง ส่งผลให้เกษตรกรสามารถลดปริมาณการใช้น้ำได้ตลอดฤดูกาลเพาะปลูก ลดต้นทุนการใช้สารปราบวัชพืช น้ำมัน ค่าแรงงาน รวมทั้งต้นข้าวมีความสม่ำเสมอ ส่งผลให้ได้ผลผลิตเท่ากันทั่วทั้งแปลง
เครื่องหยอดเมล็ดข้าว
เครื่องหยอดข้าวช่วยเกษตรกรลดการใช้แรงงาน ค่าใช้จ่ายในการซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าว ประหยัดเวลาในการทำนา แต่ผลผลิตได้มากขึ้น เหมาะกับชาวนาที่อายุเริ่มมากขึ้น