05 พฤศจิกายน 2563

เปลี่ยนนาทุ่งกุลาร้องไห้ให้เป็นพื้นที่แห่ง “ข้าวหอมมะลิยั่งยืน”

สำราญ ซุยคง ชาวนาหญิงแกร่งแห่งทุ่งกุลาร้องไห้จังหวัดร้อยเอ็ดหยุดจับจอบเสียมชั่วคราวเพื่อมาจับไมค์ในฐานะ“วิทยากรการผลิตที่ยั่งยืน” (Smart Farmer) ในเวทีการอบรมผู้นำเกษตรกร โครงการข้าวหอมมะลิยั่งยืน ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ถึงแม้จะเป็นครั้งแรกที่ต้องออกมาบรรยายให้กับเพื่อน ๆ เกษตรกรและยังรู้สึกประหม่าอยู่บ้าง แต่เวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่งของการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำนาและเทคนิคการปลูกข้าวผ่านไปอย่างสนุกสนานและเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ
สำราญ ซุยคง ชาวนาหญิงแกร่งแห่งทุ่งกุลาร้องไห้จังหวัดร้อยเอ็ดหยุดจับจอบเสียมชั่วคราวเพื่อมาจับไมค์ในฐานะ“วิทยากรการผลิตที่ยั่งยืน”
เวทีนี้นับเป็นครั้งแรกที่เปิดโอกาสให้เกษตรกรในดินแดน ‘ทุ่งกุลาร้องไห้’ ได้ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ตรงจากการปลูกข้าวยั่งยืน รวมทั้งเทคนิคการทำนารูปแบบต่าง ๆ ให้กับเพื่อนวิทยากรเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงจำนวน 52 คนเพื่อทำให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันและเตรียมพร้อมในการเป็นวิทยากรชาวนาที่ยั่งยืน

ชาวนาหญิงวัย 47 ปีจากตำบลทุ่งหลวง อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ดท่านนี้คือหนึ่งในชาวนากว่า 1,200 รายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยที่ได้เข้าร่วมโครงการข้าวหอมมะลิยั่งยืน สนับสนุนโดย กรมการข้าว บริษัท เอลล์บา บางกอก จำกัด บริษัทมาร์ส ฟู้ดส์ (Mars Food) จำกัดและองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประเทศไทยในฐานะองค์กรของรัฐบาลเยอรมันที่ดำเนินงานด้านความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยภายใต้โครงการนำมาตรฐานการปลูกข้าวอย่างยั่งยืนไปปรับใช้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมโดยรวม

ทุ่งกุลาร้องไห้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในฐานะแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิคุณภาพ หากแต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่น ภัยแล้ง พายุฝนและน้ำท่วมส่งผลให้ผลผลิตไม่แน่นอน แถมต้นทุนการผลิตยังสูงขึ้น อีกทั้งเกษตรกรขาดองค์ความรู้เรื่องการบริหารจัดการปัจจัยการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพและการเข้าถึงตลาดทำให้เกษตรกรมีรายได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ชนิดพันธุ์ของข้าวหอมมะลิ กข 15 ที่ปลูกในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้

พันธ์ุข้าวมะลิ


พันธุ์กข 15มีลักษณะเด่นคือทนต่อสภาพดินเค็ม ดินเปรี้ยว ความแล้ง แต่มีอายุการเก็บเกี่ยวที่สั้นกว่าประมาณ 10-15 วัน ลักษณะของเมล็ดข้าวสารลื่นมัน วาว เม็ดเรียว สวยงาม เมื่อหุงเสร็จใหม่จะมีความนุ่มและมีกลิ่นหอมคล้ายดอกมะลิ

พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 นิยมปลูกทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนบน ทนต่อสภาพดินเปรี้ยวและเค็ม แต่ไม่ต้านทานโรคเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โรคใบสีส้ม โรคขอบใบแห้ง โรคไหม้และโรคใบหงิก เมื่อหุงเสร็จใหม่จะมีความนุ่มและมีกลิ่นหอมคล้ายดอกมะลิ

แหล่งข้อมูล: กองวิจัยและพัฒนาข้าว
การทำนาหยอด เทคนิคง่าย ๆ ลดของต้นทุน เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร
คุณแม่สำราญเล่าว่าตนเข้าร่วมโครงการเมื่อปี 2562 ด้วยเหตุผลที่ว่าต้องการทดลองทำนารูปใหม่ จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการตามคำชวนของเพื่อนบ้าน เมื่อได้เข้าร่วมอบรมเทคนิคง่าย ๆ ในการทำนาข้าวยั่งยืนด้วยวิธีการทำนาหยอดด้วยจากเจ้าหน้าที่ของ GIZ จึงได้ตัดสินใจทดลองและลงมือทดลองปฏิบัติ
“ตลอดระยะเวลาที่ทำนามากว่า 25 ปีไม่เคยมีใครมาสอนเทคนิคการปลูกข้าวให้กับเรา ใช้ความรู้ที่เห็นและทำต่อ ๆ กันมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ตอนแรกก็ไม่ค่อยมั่นใจแต่พอทดลองทำนารูปแบบใหม่ได้ 2 ปีทำให้เรามองเห็นโอกาสที่จะลืมตาอ้าปาก ปลดหนี้สินได้” แม่สำราญกล่าว
วิธีทำนาแบบหยอดแห้งที่ต้องเว้นระยะห่างระหว่างต้นข้าวแต่ละต้น แตกต่างจากวิธีการทำนาหว่านและนาดำอย่างที่เกษตรกรเคยปฏิบัติกันมาจากรุ่นสู่รุ่น
ความตั้งใจที่จะเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว รวมทั้งความมุ่งมั่นทดลองการทำนาในรูปแบบใหม่ ๆ คุณแม่สำราญจึงได้เริ่มลงมือปฏิบัติเทคนิคสำคัญที่ได้เรียนรู้จากการฝึกอบรมคือการไถกลบตอซังเพื่อหยุดการเผาฟางและตอซัง การเตรียมดินก่อนการเพาะปลูกที่เหมาะสม และการหยอดข้าวและใส่ปุ๋ยที่ถูกวิธี ในผืนนา 30 ไร่ของครอบครัวที่บ้านทุ่งทรายทอง ตำบลทุ่งหลวง อำเภอสุวรรณภูมิ ที่จังหวัดร้อยเอ็ด

ช่วงทดลองการทำนาหยอดไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยความเข้มแข็งทั้งทางร่างกายและจิตใจเนื่องจากสมาชิกในครอบครัวไม่เห็นด้วยกับวิถีทำนาแบบหยอดแห้งที่ต้องเว้นระยะห่างระหว่างต้นข้าวแต่ละต้น ประมาณ 25 x 25 เซ็นติเมตร และแตกต่างจากวิธีการทำนาหว่านและนาดำอย่างที่เคยปฏิบัติกันมา บ่อยครั้งที่แม่สำราญต้องอดทนกับเสียงหัวเราะจากเพื่อนบ้านที่บางคนก็เคยคิดเธอว่า “บ้า” แต่เธอไม่เคยท้อ
เมื่อเริ่มหยอดข้าวเธอเริ่มเห็นความแตกต่าง เนื่องจากปกติหยอดใช้เมล็ดข้าวพันธุ์ เพียง 5-8 กิโลต่อไร่เท่านั้นในขณะที่นาหว่านจะใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวมากถึง 25-30 กิโลต่อไร่ เทคนิคการหยอดลงหลุมที่เตรียมไว้ช่วยให้รากต้นข้าวลงสู่พื้นดินได้ลึกกว่าการหว่านทำให้ต้นข้าวมีความแข็งแรง ทนต่อวัชพืชและศัตรูพืชได้ดีและเหมาะกับสภาพดินปนทรายของพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ การเว้นระยะห่างระหว่างต้นข้าวทำให้สามารถกำจัดวัชพืชได้ง่ายขึ้นและไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในปริมาณมาก ๆ แม่สำราญกล่าว

เมื่อต้นทุนลด รายได้และกำไรจึงอัตโนมัติ การใส่ปุ๋ยเท่าที่จำเป็นและใส่ให้ถูกเวลาช่วยทำให้ต้นกล้าแข็งแรงและประหยัดเงินต้นทุนไปเยอะ จากเมื่อก่อน จ่ายค่าปุ๋ยปีละ 9,000 บาท เดี๋ยวนี้ เหลือเพียงประมาณ 5,000 บาท
เทคนิคการทำนาแบบหยอดแห้งช่วยให้เกษตรกรลดการใช้ปุ๋ยเคมี เมื่อต้นทุนลดรายได้ก็เพิ่มขึ้น
อีกความรู้ที่แม่สำราญนำมาปฏิบัติใช้คือการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ทำให้ชาวนารู้จักนำค่าใช้จ่ายและรายได้จากการขายข้าวมาจดลงบันทึกอย่างเป็นระบบ แทนที่จะจดลงในปฏิทินอย่างที่เคยปฏิบัติมา ทำให้ไม่เห็นสถานะการเงินโดยเฉพาะหนี้สินจากการทำนาและหนี้สินครัวเรือนในภาพรวม

ปัจจุบันเทคโนโลยีสมัยใหม่และสมาร์ทโฟนช่วยให้เกษตรกรเป็น “Smart Farmer” ได้อย่างแท้จริง เพราะชาวนาจะได้รับข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นกับการทำนาปีเช่นการพยากรณ์อากาศ ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการหยอดข้าวจากเจ้าหน้าที่ของโครงการเกี่ยวกับช่วงเวลาที่เหมาะสมในปลูกข้าว

เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว ความอดทนและรอคอยส่งผลให้เห็นเป็นรูปธรรม นาหว่านให้ผลผลิตประมาณ 350-370กิโลกรัมต่อไร่ ในขณะที่นาหยอดให้ผลผลิตมากถึง 575 กิโลกรัมต่อไร่

แม่สำราญเล่าว่ากำไรโดยรวมที่เพิ่มจากการขายผลผลิตข้าวหอมมะลิ105 และข้าวหอมมะลิ กข.15 จากนาหยอดมีประมาณ 1.23 แสนบาท เมื่อเทียบกับกำไรที่ได้เพียง 9.6 หมื่นบาทจากการทำนาหว่านหนึ่งครั้งต่อปี
ผลผลิตและรายได้ที่เพิ่มขึ้นและต้นทุนที่ลดลงอย่างชัดเจนคือความสำเร็จที่เห็นผลได้จริงภายในระยะเวลาเพียงหนึ่งปีทำให้ชาวนาหญิงแกร่งวัย 47 ปีผู้นี้มีความหวังที่จะปลดหนี้สินครัวเรือนจำนวน 1.2 ล้านบาทได้ในระยะเวลาที่หวัง

เพื่อนบ้านที่ครั้งหนึ่งเคยสบประมาทเธอกับการทำนาข้าวหยอดให้การยอมรับและขอความรู้เพิ่มเติมจากเธอเพราะสนใจที่จะทำนาหยอด แม่สำราญเห็นว่าการเข้าร่วมกิจกรรมอบรมครั้งนี้จะช่วยให้เธอสามารถฝึกฝนการเป็นทักษะการเป็นวิทยากรควบคู่ไปกับการลงมือปฏิบัติให้เห็นเป็นตัวอย่าง ในวัย 47 ปีชาวนาหญิงผู้นี้มีแผนที่จะส่งต่อองค์ความรู้แบบใหม่ ๆ ให้กับลูกสาวคนเล็กที่กำลังศึกษาอยู่ที่คณะศิลปกรรมและวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
แม่สำราญทำบัญชีรายรับรายจ่ายอย่างละเอียดเพื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายของนาหยอดและการทำนาแบบดั้งเดิม

ดร. อรรถวิชช์ วัชรพงศ์ชัย  ผู้อำนวยการโครงการข้าวหอมมะลิยั่งยืนกล่าวว่าการอบรมผู้นำเกษตรกรครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งความพยายามของโครงการเพื่อสร้างวิทยากรอย่างแม่สำราญและอีกหลาย ๆ ท่านที่เข้าร่วมโครงการไว้ในพื้นที่เพื่อเป็นคลังความรู้ในชุมชนและส่งต่อวิถีเกษตรยั่งยืนต่อไปได้ในระยะยาว

“ตัวอย่างที่สุดคือการลงมือปฏิบัติให้เห็น ผลลัพธ์จากการลงมือปฏิบัติเทคนิคการปลูกข้าวยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมจะสามารถนำไปสู่วิถีปลูกข้าวยั่งยืนในพื้นที่ต่าง ๆ ของไทยต่อไป” ดร.อรรถวิชช์กล่าว

นายวิลักษณ์ พูลเทกอง ผู้ประสานงานภาคสนามของจีไอแซดกล่าวต้อนรับเกษตรกรผู้เข้าร่วมอบรม
กิจกรรมกลุ่มในภาคบ่ายของการอบรม
กิจกรรมกลุ่มในภาคบ่ายของการอบรม
กิจกรรมกลุ่มในภาคบ่ายของการอบรม
กิจกรรมกลุ่มในภาคบ่ายของการอบรม

ติดต่อเรา

  • +66 2 255 4202
  • asean-agrifood@giz.de
  • 39/1 ซอยสุขุมวิท 13, ถนนสุขุมวิท, คลองเตยเหนือ, วัฒนา, กรุงเทพฯ 10110 ประเทศไทย

การเยี่ยมชม

สื่อและแหล่งข้อมูล

โครงการ

การป้องกันข้อมูล

สมัครจดหมายข่าว

ติดตามเรา

  • Copyright © 2014 - 2019 | Sustainable Agrifood Systems in ASEAN