03 กันยายน 2564

นักวิจัยข้าวไทยพร้อมเดินหน้ารับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เรื่องและภาพ: โชติกา ธรรมสุวรรณ และพัชรินทร์ แซ่เฮง กลุ่มเกษตรและความปลอดภัยด้านอาหาร

เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมการข้าวร่วมกับโครงการความร่วมมือ ไทย – เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาคเกษตรกรรม (Thai-German Climate Programme – Agriculture) จัดการฝึกอบรมออนไลน์ในหัวข้อการคำนวณค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนงานที่เรียกว่า การตรวจวัด รายงานผล และทวนสอบ (Measurement, Reporting and Verification – MRV)

ดร.โธมัส แยเคล ผู้เชี่ยวชาญจาก GIZ แนะนำวิธีการใช้ซอฟต์แวร์ GET-Excel เพื่อคำนวณค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

การฝึกอบรมนี้ มีนักวิจัยจำนวน 17 ท่านจากส่วนกลางและศูนย์วิจัยข้าวประจำจังหวัด ได้แก่ อยุธยา ชัยนาท ปทุมธานี สุพรรณบุรี ปราจีนบุรี และอุบลราชธานี เข้าร่วมฝึกอบรมเป็นเวลา 2 เดือน เพื่อเรียนรู้และเพิ่มขีดความสามารถในการคำนวณค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ดร. นิตยา ชาอุ่น จากบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ดร. ลัดดาวัลย์ กรรณนุช ที่ปรึกษาระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ และ ดร.โธมัส แยเคิล ผู้เชี่ยวชาญจาก GIZ ร่วมเป็นวิทยากรฝึกอบรม และถ่ายทอดองค์ความรู้ทั้งหมด 4 บทเรียนให้กับนักวิจัยไทย

 
ดร. นิตยา ชาอุ่น จากบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
หัวข้อฝึกอบรมแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ ซึ่งประกอบด้วย 1) การคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์เกษตรกร และ 2) การคำนวณการปล่อยก๊าซมีเทน และก๊าซไนโตรเจนออกไซด์จากข้อมูลที่ได้จากเครื่อง GC และแปลงทดลอง การฝึกอบรมนี้จะเป็นประโยชน์ในการช่วยเพิ่มความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ซอฟต์แวร์คำนวณที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ Source-selective and Emission-adjusted GHG CalculaTOR for Cropland (SECTOR) และ GET Excel Sheet ซึ่งพัฒนาโดยสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ การเรียนรู้เกี่ยวกับการคำนวนหาค่าสัมประสิทธิ์การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการวิเคราะห์อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ได้คำนวนออกมา
ทีมวิจัยเรียนรู้การเก็บและรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากแปลงนาทดลองในจังหวัดภาคกลางของประเทศ

สำหรับประเทศไทย กรมการข้าวได้ทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มาเป็นระยะเวลามากกว่า10ปี แต่อย่างไรก็ตาม กรอบการทำงาน MRV เป็นความท้าทายหนึ่ง เนื่องจากทางกรมการข้าวมีความจำเป็นต้องเพิ่มความโปร่งใสและความถูกต้องของข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งชุดการฝึกอบรมในหัวข้อการคำนวณค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคส่วนการผลิตข้าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักวิจัยและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในภาคส่วนการเกษตร มีความพร้อมทั้งองค์ความรู้และทักษะ ในการรวบรวมข้อมูลที่สำคัญ สำหรับนำไปพัฒนาหรือออกแบบกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อไป

ศูนย์วิจัยข้าวกว่า 28 ศูนย์ทั่วประเทศ ภายใต้กองวิจัยและพัฒนาข้าว ของกรมการข้าว มีศักยภาพในการทำงานทางด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความสำคัญต่อภาคการเกษตร โดยเฉพาะภาคส่วนการเพาะปลูกและการผลิตข้าวศูนย์วิจัยข้าวมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิตข้าว ลดต้นทุนการผลิตข้าว และรักษาคุณภาพข้าวให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล  เช่นเดียวกับภาคส่วนอื่นๆ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้กลายเป็นปัญหาสำคัญและจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 โครงการความร่วมมือ ไทย – เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาคเกษตรกรรม สนับสนุนกรมการข้าวในการเสริมสร้างศักยภาพนักวิจัยไทย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางและจากศูนย์วิจัยข้าวแต่ละจังหวัด ผ่านการจัดฝึกอบรมการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในหลากหลายหัวข้อ พร้อมทั้งจัดทำสื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ อาทิ คู่มือการเก็บตัวอย่างก๊าซในนาข้าว และมัลติมีเดียอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ของกรมการข้าวต่อไป ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ภายใต้ขั้นตอนการผลิต และจะถูกแจกจ่ายภายในเดือนพฤศจิกายนนี้

นักวิจัยที่เข้าร่วมฝึกอบรมการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากข้อมูลที่ได้จากการตรวจวัดก๊าซในแปลงทดลอง ณ อาคารฝึกอบรมโรงเรียนข้าวและชาวนา กรมการข้าว
ภาพรวมของการฝึกอบรมที่ผ่านมานับเป็นที่น่าพอใจ ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมได้เรียนรู้ทักษะการคำนวณค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเข้มข้น นักวิจัยไทยสามารถวัดค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและประเมินผลข้อมูลของแต่ละพื้นที่ได้ด้วยตนเอง องค์ความรู้และทักษะต่าง ๆ ที่นำมาฝึกอบรมในครั้งนี้ สามารถต่อยอดไปสู่งานวิจัยอื่น ๆ ได้อีกด้วย ในขั้นตอนต่อไปนักวิจัยจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการแปลผลและรายงานผลการคำนวนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ตนได้ทำการทดลองมา โดยผลสัมฤทธิ์ทั้งหมด คือ การพัฒนาความโปร่งใส และความถูกต้องของข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งขึ้นอยู่กับขั้นตอนการตรวจวัด รายงานผล และทวนสอบ นั่นเอง

นางสาวดวงพร วิธูรจิตต์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษจากศูนย์วิจัยข้าวชัยนาทกล่าวว่า ความรู้และทักษะที่ได้รับจากการฝึกอบรมสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานที่ทำอยู่ได้เป็นอย่างดี นักวิจัยท่านหนึ่งยังสะท้อนความเห็นว่า หวังให้มีการฝึกปฏิบัติเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้องค์ความรู้นี้กับงานวิจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตข้าวต่อไป

นายกนกนพ กลิ่นละออ นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการจากกองวิจัยและพัฒนาข้าวให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า นักวิจัยสามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมมาใช้ประโยชน์ในการจัดเก็บข้อมูลและการทำรายงานได้ทันที “การเข้าร่วมอบรมครั้งนี้ช่วยให้ตนเองสามารถนำความรู้เรื่องปฐพีวิทยาเมื่อครั้งสมัยเรียนมาปรับใช้กับการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างเป็นระบบและมีขั้นตอนเป็นแนวทางปฏิบัตที่ดีสำหรับนักวิจัยข้าวรุ่นต่อ ๆ ไปได้ในระยะยาว” ■

ติดต่อเรา

  • +66 2 255 4202
  • asean-agrifood@giz.de
  • 39/1 ซอยสุขุมวิท 13, ถนนสุขุมวิท, คลองเตยเหนือ, วัฒนา, กรุงเทพฯ 10110 ประเทศไทย

การเยี่ยมชม

  • 1,085
  • 40,539
  • 1,565,972

สื่อและแหล่งข้อมูล

โครงการ

การป้องกันข้อมูล

สมัครจดหมายข่าว

ติดตามเรา

  • Copyright © 2014 - 2019 | Sustainable Agrifood Systems in ASEAN
Scroll to Top