ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและการเกษตรจากภาครัฐ เอกชนและสถาบันการศึกษากว่า 30 ท่านร่วมหารือในการประชุมรับฟังความคิดเห็นเรื่องแนวทางเพื่อการพัฒนากลไกและมาตรการสนับสนุนทางการเงินภายใต้ข้อเสนอโครงการเพิ่มศักยภาพการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อสภาพภูมิอากาศ (Thai Rice GCF)” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับและศักยภาพภาคการผลิตข้าวของไทยไปสู่การผลิตข้าวลดโลกร้อนและการปลูกข้าวที่ยั่งยืน
การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบริษัทที่ปรึกษาด้านการแก้ปัญหาด้านสภาพอากาศ เดอะ ครีเอจี้ จำกัด เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิด หาแนวทางที่เป็นไปได้ร่วมกันเพื่อออกแบบกลไกลและมาตราการทางการเงินสนับสนุนชาวนารายย่อย การออกแบบกลไกลและมาตราการสนับสนุนทางการเงินเป็นขั้นตอนสำคัญเพื่อเตรียมข้อมูลสำหรับการขอรับทุนสนับสนุนโครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศหรือThai Rice GCF project
โดยโครงการมีแผนเพิ่มศักยภาพเกษตรกรมากถึง 2.5 แสนคนใน 15 จังหวัดทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง เพื่อให้มีความเข้าใจในทักษะการทำนาลดโลกร้อนและเทคโนโลยีที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสามารถนำเทคนิคที่ได้เรียนรู้ไปปฏิบัติใช้ได้จริง เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตรให้ได้อย่างน้อย 4 ล้านตัน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าภายในระยะเวลา 5 ปี คือระหว่างปีพ.ศ. 2566-2571
การประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ยังมีการนำเสนอกรอบแนวคิดกลไกทางการเงิน “กลไกการบริหารเงินทุนเพื่อเกษตรกรไทยสีเขียว ” (Thai Green Farmer Facility: TGFF) รวมทั้งกลไกทางการเงินอื่น ๆ เช่นคาร์บอนเครดิตสำหรับผู้ให้บริการ กลไกประกันการชำระหนี้และรูปแบบทางการเงินประเภทต่าง ๆ กลไกประกันภัยข้าว และความช่วยเหลืออื่น ๆ ที่สามารถทำได้ เพื่อรับฟังความคิดเห็น จากผู้เชี่ยวชาญในการปรับรายละเอียดข้อเสนอโครงการให้มีความเป็นไปได้มากที่สุดเพื่อเสนอแผนขอรับทุนดำเนินงานโครงการโครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ(Thai Rice GCF) ต่อจากโครงการไทย ไรซ์ นามา ที่กำลังจะสิ้นสุดลงในปีหน้านี้
“ความตั้งใจของเราในการเสนอโครงการขอทุนนี้ด้วยเหตุผลหลักเพื่อสนับสนุนนโยบายข้าวของประเทศไทยและเพื่อเสริมสร้างศักยภาพภาคการผลิตข้าวของไทยผ่านกลไกทางการเงิน นับเป็นโอกาสดีที่โครงการนี้จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio Circular Green Economy: BCG) แผนพัฒนาระดับชาติด้านการปรับตัวทางเกษตรกรรมและการจัดการน้ำ ยุทธศาสตร์ระดับชาติเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการส่งเสริมการเติบโตภาคการผลิตข้าวที่ยั่งยืน” มิสเตอร์โอเล เฮ็นริกเซ่น ผู้อำนวยการโครงการไทยไรซ์นามากล่าว
โครงการไทย ไรซ์นามาดำเนินงานในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคกลางได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และสุพรรณบุรี ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2561-2566 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมเกษตรกรจำนวน 100,000 ครัวเรือน ให้ตระหนักรู้ต่อเทคโนโลยีการทำนาที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและช่วยลดภาวะโลกร้อน โครงการนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากหากเกษตรกรและผู้ให้บริการทางการเกษตรนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมโครงการมาปรับใช้อย่างแพร่หลาย เพื่อช่วยลดรายจ่าย ต้นทุนการผลิต การใช้ทรัพยากรน้ำ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แนวปฏิบัติและนวัตกรรมเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ ๆ ที่นำเสนอผ่านโครงการจะช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยพัฒนาคุณภาพชีวิตและรายได้ที่ยั่งยืนให้กับเกษตรกรและยังสามารถบรรลุเป้าหมายในการแก้ไขวิกฤตสภาวะโลกร้อนและสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง
มิสเตอร์ เฮ็นริกเซ่นเน้นย้ำว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการปลูกข้าวยังคงเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ
ผลการศึกษาจากสถาบันการวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (IRRI) พบว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่อู่ข้าวอู่น้ำของโลก ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 10% จากทั้งหมดทั่วโลก และหนึ่งในสามของก๊าซเรือนกระจกนี้คือก๊าซมีเทนที่มาจากการเกษตร
ในขณะที่โลกกำลังเผชิญกับสภาวะโลกร้อน ความแห้งแล้ง น้ำท่วมและภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงมาขึ้นและบ่อยครั้งยิ่งขึ้น ทำให้อาชีพทำนาและรายได้ของชาวนาอยู่ในความเสี่ยงและมีความเปราะบางสูง คือความจำเป็นในการสนับสนุนให้ภาคข้าวของไทยมีความยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ให้กับชาวนารายย่อย โดยการดำเนินโครงการ ไทย ไรซ์ จีซีเอฟ ต่อจากโครงการไทยไรซ์ นามา
คุณนารีรัตน์ พันธุ์มณี ผู้อำนวยการกองประสาน การจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า แผนข้อเสนอโครงการ ไทยไรซ์ จีซีเอฟ จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน และจะมีบทบาทสำคัญให้กับประเทศในการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ “ประเทศไทยได้ประกาศเจตจำนงในการเข้าสู่สถานะความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี พ.ศ. 2593 และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2608 การเปลี่ยนผ่านนี้จะสามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับทุกคน และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเหล่านี้ การเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ สำหรับเกษตรกรเป็นเรื่องจำเป็นยิ่งเพื่อให้ผู้ผลิตต้นน้ำสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการทำนาข้าว ในขณะเดียวกันก็สามารถช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้”
การเปลี่ยนผ่านจากโครงการไทย ไรซ์ นามา ซึ่งมุ่งเน้นไปในเรื่องมาตรการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไปสู่โครงการ ไทยไรซ์ จีซีเอฟ ที่ให้ความสำคัญทั้งการบรรเทาและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะช่วยให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่การบรรลุเป้าหมายได้อย่างที่วางไว้ สผ.ตระหนักถึงความเป็นไปได้ในการทำงานร่วมกับโครงการไทย ไรซ์ นามา สผ.เชื่อมั่นถึงความเป็นไปได้ของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตร ข้อเสนอโครงการ ไทยไรซ์ จีทีเอฟ เพื่อขอรับทุนจากกองสภาพภูมิอากาศสีเขียว คือจุดเริ่มต้นที่ดีในการบูรณาการเรื่องการปรับตัวให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อช่วยให้ภาคการเกษตรลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมีศักยภาพเพิ่มขึ้นต่อการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนมีความจำเป็นยิ่ง เพื่อแสดงออกถึงความสำคัญของการรับมือกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงในภาคการเกษตร และนำไปสู่การร่วมกันออกแบบกลไกล และมาตรการสนับสนุนทางการเงิน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการบรรเทา และจัดทำข้อเสนอโครงการที่สามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้จริง
คุณนารีรัตน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ สผ. ยังมีแผนนำข้อเสนอโครงการไทยไรซ์ จีซีเอฟให้กับคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาหาแนวทางการสนับสนุนทางการเงินอย่างยั่งยืนและให้แนวทางการทำงานร่วมมือกันระหว่างกรม กระทรวงต่าง ๆ เพื่อร่วมกันบูรณาการและพัฒนาภาคเกษตรไทยในทุกระดับ
มิสเตอร์โทเบียส บรอยนิก ที่ปรึกษาทางการเงินการเกษตรของ GIZ กล่าวว่า ข้อแนะนำและข้อเสนอต่าง ๆ ที่ได้รับจากเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ทางจีไอแซดจะรวบรวมเพื่อนำมาจัดทำข้อเสนอโครงการฉบับสมบูรณ์ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณากองทุนสภาพภูมิอากาศสีเขียวภายในปลายปี พ.ศ. 2565 ต่อไป ■