22 ตุลาคม 2564

ไทยเล็งหาพันธมิตรแหล่งทุนสีเขียวสนับสนุนการจัดการข้าวยั่งยืน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้เชี่ยวชาญและหุ้นส่วนภาคการผลิตข้าว จำนวนกว่า 50 คนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ เข้าร่วมประชุมเวทีออนไลน์ในหัวข้อ “การจัดหาเงินทุนสนับสนุนข้าวอย่างยั่งยืนในประเทศไทย” (Financing Sustainable Rice in Thailand) เพื่อระดมสมอง แลกเปลี่ยนมุมมองและข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการจัดหาเงินทุนและแนวทางการพัฒนานวัตกรรม เพื่อผลักดันการปลูกข้าวอย่างยั่งยืนในประเทศไทยและภูมิภาค

กิจกรรมในครั้งนี้จัดโดยโครงการริเริ่มภูมิทัศน์ข้าวอย่างยั่งยืน (Sustainable Rice Landscapes Initiative: SRLI) และแพลตฟอร์ม Just Rural Transition ที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาความท้าทายในห่วงโซ่อาหาร ร่วมกับสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (World Business Council for Sustainable Development) เวทีเพื่อการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน (Sustainable Rice Platform: SRP) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization) โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme) สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (International Rice Research Institute) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย (Deutsche Gesellschaft für Internationale Zusammenarbeit GmbH)

การประชุมออนไลน์ เรื่อง “การจัดหาเงินทุนสนับสนุนข้าวยั่งยืนในประเทศไทย” (Financing Sustainable Rice in Thailand)

ปัจจุบันภาคเกษตรกรรมของไทยคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 6.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทั้งหมด สัดส่วนของภาคการผลิตข้าวอยู่ที่ร้อยละ 13 เท่านั้น ท่ามกลางความท้าทายที่เกิดขึ้นทั้งในด้านการแข่งขันทางเศรษฐกิจและความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ กรมการข้าวได้จัดสรรงบประมาณสำหรับการวิจัยและส่งเสริมการปลูกข้าวที่ไม่เพียงเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคหรือความมั่นคงด้านอาหารเท่านั้น แต่ยังมุ่งเน้นการผลักดันนโยบายเพื่อลดความเสี่ยงจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านการสนับสนุนทางการเงินและเครื่องมือที่เกี่ยวข้อง อาทิ การให้เงินอุดหนุนสำหรับค่าบริการสำหรับการปรับระดับที่ดินด้วยเลเซอร์ (Laser Land Levelling: LLL) ค่าเบี้ยประกันภัย ค่าลงทุนเชิงโครงสร้าง รวมถึงการสนับสนุนกิจกรรมและส่งเสริมการผลิตข้าวตามมาตรฐานการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน (SRP)

ดร.อภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย ที่ปรึกษาอธิบดีกรมการข้าว กล่าวในหัวข้อเรื่อง “โครงสร้างพื้นฐานและความต้องการด้านการจัดหาเงินทุนสำหรับประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการทำนาในประเทศไทย” (Climate Change and Rice Farming with a Focus on Financing Needs and the Climate Financing Infrastructure in Thailand)

ดร.อภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย
ที่ปรึกษาอธิบดีกรมการข้าว
“เมื่อเราพูดถึงแนวทางการปฏิบัติใหม่ เกษตรกรจะตั้งคำถามว่าพวกเขาจะขายได้ราคาที่สูงขึ้นด้วยหรือไม่ เป็นที่ทราบกันว่าเราไม่สามารถควบคุมราคาสินค้าเกษตรในตลาดที่มีการแข่งขันสูงได้ นั่นเป็นเหตุผลที่เราต้องบริหารจัดการลดต้นทุนและการเพิ่มมูลค่าของผลผลิต” ดร.อภิชาติ กล่าว

รัฐบาลไทยได้ดำเนินนโยบายแก้ปัญหาความต้องการทางการเงิน เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภาคการเกษตร สนับสนุนเกษตรกรรายย่อยในการปลูกข้าวอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Thai Rice NAMA) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมการข้าวและองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย หนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ได้เปลี่ยนแปลงแนวทางการปลูกข้าวของเกษตรกรไทยกว่า 100,000 ราย ใน 6 จังหวัดภาคกลาง ทั้งยังสนับสนุนงบประมาณทางการเงิน เพื่อการลงทุนในเทคโนโลยีการเกษตรและค่าอุปกรณ์สำหรับการปรับระดับที่ดินด้วยเลเซอร์ (LLL) ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งช่วยให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพในการทำนาอย่างยั่งยืนได้

นราวดี โหมดนุช ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์วิจัยเพื่อความยั่งยืน บริษัท โอแลม (ประเทศไทย) จำกัด
“ปัจจุบันภาคธุรกิจเอกชนมีการดำเนินโครงการด้านความยั่งยืนเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างผลลัพธ์ในระดับที่กว้างขึ้นในภาคการเกษตร ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเพิ่มขีดความสามารถในการคิดค้นนวัตกรรมและแนวทางที่ครอบคลุมทุกความต้องการทางโภชนาการของผู้คน” นราวดี โหมดนุช ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์วิจัยเพื่อความยั่งยืน บริษัท โอแลม (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว

บริษัท โอแลม (ประเทศไทย) จำกัด ได้นำตัวบ่งชี้ตามมาตรฐานการผลิตข้าวที่ยั่งยืน (SRP) มาใช้ในห่วงโซ่อุปทานของบริษัทตั้งแต่ปี 2558 ภายใต้การดำเนินโครงการตลาดนำการผลิตเพื่อเกษตรกรรายย่อย (Market-Oriented Smallholder Value Chain: MSVC หรือ BRIA II) ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอย่างกรมการข้าว และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย มีวัตถุประสงค์ร่วมกันในการพัฒนาความเป็นอยู่ของเกษตรกรรายย่อยและนำเอาแนวทางการทำนาที่ปล่อยคาร์บอนต่ำไปในพื้นที่เกษตรกรรมทางภาคอีสานของประเทศ จากดำเนินการโครงการมากว่า 6 ปี นำไปสู่การทำนาที่ลดการใช้ไนโตรเจนและฟอสเฟตได้สูงสุดถึงร้อยละ 30 และร้อยละ 60 ตามลำดับ นับเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปริมาณสารตกค้างในแหล่งน้ำจืดของชุมชน ทั้งยังช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลตอบแทนให้กับเกษตรกรได้มากถึงร้อยละ 10 คุณนราวดีกล่าว

แกลเลอรี่ภาพ

ติดต่อเรา

  • +66 2 255 4202
  • asean-agrifood@giz.de
  • 39/1 ซอยสุขุมวิท 13, ถนนสุขุมวิท, คลองเตยเหนือ, วัฒนา, กรุงเทพฯ 10110 ประเทศไทย

การเยี่ยมชม

  • 96
  • 46,258
  • 1,580,044

สื่อและแหล่งข้อมูล

โครงการ

การป้องกันข้อมูล

สมัครจดหมายข่าว

ติดตามเรา

  • Copyright © 2014 - 2019 | Sustainable Agrifood Systems in ASEAN
Scroll to Top