องค์กรเจรจาระหว่างประเทศว่าด้วยปาล์มน้ำมันยั่งยืน (RSPO) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ภายใต้โครงการการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย (SCPOPP) ร่วมจัดงานสัมมนาเชิงธุรกิจ เรื่อง “เส้นทางสู่การยกระดับตลาดปาล์มน้ำมันยั่งยืนในประเทศไทย ครั้งที่ 2” ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ เพื่อนำเสนอทิศทางของตลาดน้ำมันปาล์มยั่งยืนและโอกาสของอุตสาหกรรมไทยในอนาคต ร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์ หนทางสู่การยกระดับตลาดปาล์มน้ำมันยั่งยืนในประเทศไทย ผ่านแนวคิด “ความรับผิดชอบร่วมกัน” (Shared Responsibility) ตลอดจนรวบรวมความเห็นต่อการจัดตั้งเครือข่ายพันธมิตรปาล์มน้ำมันยั่งยืนแห่งประเทศไทย(Thailand Sustainable Palm Oil Alliance) ในงานนี้มีผู้ขับเคลื่อนระดับนโยบายและตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกปาล์ม โรงสกัด โรงกลั่น ผู้ผลิตแปรรูป ผู้ค้าส่งออกน้ำมันปาล์ม เข้าร่วมกิจกรรม
ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตปาล์มน้ำมันอันดับสามของโลก การพัฒนาศักยภาพเพื่อให้ได้การรับรองน้ำมันปาล์มยั่งยืนเป็นเรื่องที่สำคัญ ด้วยน้ำมันปาล์มมีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 40 ของความต้องการน้ำมันที่ผลิตจากพืชทั่วโลก และเป็นพืชที่มีการใช้พื้นที่การผลิตเพียงร้อยละ 6 ของพื้นที่การผลิตน้ำมันพืชทั้งหมด จึงทำให้น้ำมันปาล์มมีประโยชน์ต่อการสร้างความมั่นคงทางอาหารของประชากรโลก ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มจำนวนขึ้นถึง 9.8 พันล้านคนในปีพ.ศ.2593
ทั้งนี้ ร้อยละ 70 ของผู้ผลิตปาล์มน้ำมันในประเทศไทยเป็นเกษตรกรชาวสวนปาล์มรายย่อยซึ่งยังขาดการเข้าถึงองค์ความรู้ ทักษะการบริหารจัดการกลุ่ม และการบริหารต้นทุนในการจัดการสวนปาล์มได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน รวมถึงยังขาดโอกาสเข้าถึงการรับรองมาตรฐานของ RSPO และการเชื่อมโยงกับตลาดโลก
ด้วยเหตุนี้ภาครัฐโดยกรมส่งเสริมการเกษตรและกรมวิชาการเกษตรร่วมกับ GIZ จัดทำโครงการการผลิตปาล์มน้ำมัน และน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย (SCPOPP) ในปัจจุบันมีบริษัทที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 19 แห่ง ซึ่งสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนปาล์มรายย่อยกว่า 3,000 ราย และมีวิทยากรเกษตรกรจำนวนกว่า 200 รายที่ได้รับการฝึกอบรมจากโครงการและถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับแนวทางการจัดการสวนปาล์มอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในปี พ.ศ. 2564 มีเกษตรกรจำนวนกว่า 400 รายภายใต้โครงการ SCPOPP ได้รับการรับรองมาตรฐาน RSPO และได้เชื่อมโยงกับตลาดโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สามารถสร้างรายได้เพิ่มอีกร้อยละ 20-40 และอีกกว่า 1,500 รายคาดว่าจะได้รับการรับรองภายในสิ้นปี พ.ศ. 2565 นี้
โดย กระทรวงเกษตรฯ ต้องขับเคลื่อนให้บรรลุแผนดังกล่าว จึงมีการกำหนดเป้าหมายสำคัญไว้ คือ ขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน ควบคู่กับการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 จากปัจจุบัน การเพิ่มประสิทธิภาพปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ให้ได้อัตราการสกัดน้ำมันร้อยละ 22-23 เพื่อเพิ่มผลผลิตให้เพียงพอกับความต้องการในอนาคต ตลอดจนการรักษาระดับการส่งออกน้ำมันปาล์มให้อยู่ระดับ 3-7 แสนตันต่อปี
ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวอีกว่า ส่วนงานถัดมาของกระทรวงเกษตรฯ ที่เกี่ยวข้องใกล้เคียงกับงานของ RSPO คือ การยกระดับมาตรฐานการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนในประเทศไทย โดยยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนนั้น เดินมาถึงจุดสำคัญมาก ก็คือเรื่อง มาตรฐานสินค้าเกษตร ซึ่งเรื่องนี้ทางสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ หรือ มกอช. ได้ออกประกาศ กำหนดมาตรฐานเรื่องสินค้าเกษตรที่เกี่ยวกับปาล์มน้ำมัน รวม 4 ฉบับ
นายอลงกรณ์ กล่าวอีกว่า ภายใต้วิกฤตการณ์ต่าง ๆ ที่มีความผันผวนไม่อาจคาดเดา นับเป็นโอกาสที่ทุกฝ่ายจะได้ทบทวนและมาแชร์เป้าหมายร่วมกันในก้าวเดินสู่อนาคตและไม่มีก้าวเดินอะไรที่แน่นอนภายใดสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่ดีที่สุดเท่ากับก้าวเดินบนความยั่งยืน
ดังนั้นโอกาสของความเป็นไปได้ในการการจัดตั้งเครือข่ายพันธมิตรปาล์มน้ำมันยั่งยืนของประเทศไทย (Thailand Sustainable Palm Oil Alliance) จึงเป็นโอกาสและจังหวะที่ดีมาก
“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยินดีสนับสนุนการจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือดังกล่าว เพื่อยกระดับมาตรฐานประเทศไทยไปสู่การดำเนินการปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน เพื่อเชื่อมกับสภาเกษตรอินทรีย์พีจีเอสแห่งประเทศไทย ภายใต้การจัดตั้งของกระทรวงเกษตรฯ ยุคนี้ ซึ่งได้เดินหน้าบูรณาการความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมดังนั้นขอให้ความมั่นใจว่า เราพร้อมที่จะให้การสนับสนุน พร้อมให้ความร่วมมือ และเดินไปสู่ความยั่งยืนในการพัฒนาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ภายใต้ความร่วมมือกับหลักการของ RSPO จากวันนี้สู่อนาคตที่ดีกว่า” นายอลงกรณ์ กล่าว
นายโจเซฟ เดอ ครูซ ประธานบริหารของ RSPO กล่าวในพิธีเปิดงานสัมมนาว่า ไทยถือเป็นประเทศอยู่ในตำแหน่งพิเศษ ที่จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารของโลกได้ ในฐานะเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก ด้วยศักยภาพการขับเคลื่อนของเกษตรกรรายย่อยในอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม RSPO ตระหนักดีว่า เกษตรกรรายย่อย มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดการยกระดับตลาดปาล์มน้ำมันยั่งยืน ให้เป็นบรรทัดฐานตามวิสัยทัศน์ของ RSPO ได้จริง เพราะการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างผลผลิตที่ยั่งยืน จะส่งผลดีต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลัก โดย RSPO มองว่าความรับผิดชอบร่วมกันของ “ผู้เล่น”ทั้งหมดในห่วงโซ่การผลิต จะต้องให้คำมั่นในการสนับสนุนกันและกัน
ขณะที่ นายไรน์โฮลด์ เอลเกส ผู้อำนวยการ GIZ ประจำประเทศไทยและมาเลเซีย กล่าวในพิธีเปิดงานสัมมนาว่า ความมั่นคงทางอาหารนับเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ เนื่องจากวิถีการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารแบบเดิม ยังขาดการคำถึงการผลิตอย่างยั่งยืนและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่อุปทาน และขาดการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แม้ว่าการผลิตน้ำมันปาล์มในประเทศไทย จะไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาอย่างรุนแรงในการทำลายป่าและละเมิดสิทธิแรงงานและชุมชน แต่ความท้าทายหลักของไทยอยู่ที่ข้อจำกัดของเกษตรกรรายย่อยที่ยังขาดการบริหารจัดการสวนปาล์มน้ำมันที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ หนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะอุดช่องว่างนี้ คือ การขยายความร่วมมือระหว่างผู้ซื้อน้ำมันปาล์มและเกษตรกรรายย่อยชาวสวนปาล์มผ่านแนวคิด “ความรับผิดชอบร่วมกัน” และการเพิ่มศักยภาพเพื่อเข้าถึงการรับรองมาตรฐานของ RSPO ซึ่งจะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของประเทศไทยให้เข้าถึงตลาดโลก ทั้งอีกยังช่วยให้เกิดความมั่นคงของแหล่งอาหารและลดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
ในปัจจุบัน มีน้ำมันปาล์มที่ได้รับการรับรองจาก RSPO ร้อยละ 19.3 (14.8 ล้านตัน) ของจำนวนน้ำมันปาล์มที่ผลิตทั้งหมดทั่วโลก ขณะที่น้ำมันปาล์มได้รับการรับรองจากมาตรฐาน RSPO ในประเทศไทยเพียงร้อยละ 2.8 ของการผลิตน้ำมันปาล์มในประเทศทั้งหมดเท่านั้น
“ที่ผ่านมา GIZ มุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือภาครัฐและเอกชนให้เกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยในการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนในประเทศไทยตามมาตรฐานของ RSPO และได้พัฒนาหลักสูตรการพัฒนาเกษตรกรรายย่อยของไทยในการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน (Thailand Oil Palm Smallholder Academy: TOPSA) โดยมีการนำเอาเนื้อหาจาก RSPO Smallholder Training Academy (STA) มาปรับให้เหมาะสมกับบริบทของเกษตรกรชาวสวนปาล์มรายย่อยไทยเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการจัดการสวนปาล์มอย่างยั่งยืนให้กับเกษตรกรรายย่อยกว่า 3,000 ราย และได้รับการรับรองมาตรฐาน RSPO ในที่สุดเพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงตลาดโลกได้มากขึ้น”
“วิทยากรเกษตรกรถือเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมเละพัฒนาศักยภาพและองค์ความรู้ในการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนของเกษตรกรรายย่อย ดังนั้นโครงการจึงมีความยินดีที่จะเรียนเชิญองค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ ที่สนใจสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยมาร่วมเป็นพันธมิตรเพื่อปลดล็อกข้อจำกัดศักยภาพของอุตสาหกรกรรมน้ำมันปาล์มของประเทศไทยไปด้วยกัน” นายไรน์โฮลด์ กล่าว
ประธานบริหารของ RSPO กล่าวทิ้งท้ายว่า RSPO ได้นำ “มาตรฐานสำหรับเกษตรกรรายย่อย” มาใช้เพื่อการรับรองเมื่อพ.ศ. 2562 ซึ่งมุ่งหวังที่จะช่วยให้เกษตรกรรายย่อยได้รับการรับรองด้วยขั้นตอนที่ง่ายยิ่งขึ้น แต่ยังยึดมั่นข้อกำหนดที่เป็นสาระสำคัญของความยั่งยืน แม้ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดทั่วโลก เราพบสัญญาณที่ดีว่า มีเกษตรกรรายย่อยหลายกลุ่มได้รับการรับรองตามมาตรฐานนี้จำนวนไม่น้อย” ■
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ภาคธุรกิจเสนอแนวทางผนึกกำลังยกระดับตลาดน้ำมันปาลม์ไทยสู่วิถียั่งยืน
- หลักสูตร TOPSA ออนไลน์ช่วยขยายองค์ความรู้การผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน
- กลุ่มวิทยากรหลักสูตร TOPSA พร้อมเดินหน้าถ่ายทอดความรู้การผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน
- 2 บริษัทผู้ผลิตน้ำมันปาล์มของไทยย้ำ “การผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน” สำคัญที่สุด
- เปิดตัว “I-PALM” แอพพลิเคชั่น พร้อมให้เกษตรกรสวนปาล์มไทยใช้งานได้แล้ว