องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐของไทยและองค์กรภาคเอกชนจากนานาประเทศ ทำงานร่วมกันเพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับประโยชน์ของ “ข้าวยั่งยืน” ให้เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ผลิต ผู้ค้าปลีก และผู้บริโภคทั้งในทวีปเอเชียและแอฟริกา
เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา GIZ ประเทศไทยได้มอบหมายให้ยูโกฟ (YouGov) บริษัทวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลตลาดระดับโลก ดำเนินการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการรับรู้ของผู้บริโภคชาวไทยที่มีต่อข้าวที่ผลิตอย่างยั่งยืน รวมไปถึงคุณลักษณะที่ผู้บริโภคกำหนดว่าเป็นข้าวยั่งยืนและผลกระทบเชิงบวกที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจซื้อตามคุณลักษณะเหล่านั้น ซึ่งได้มีการกำหนดปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเป้าหมายผู้มีอำนาจตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์สำหรับการบริโภคภายในครัวเรือน โดยมีการสำรวจข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างชาวไทยจำนวนมากกว่าหนึ่งพันรายที่บริโภคข้าวมากกว่าห้ามื้อต่อสัปดาห์ โดยพิจารณาจากเพศ อายุ การศึกษา
ผลการวิจัยในภาพรวมพบว่า ปัญหาที่เกิดจากความแห้งแล้งและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ร้อยละ 57) ถือเป็นความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ในด้านการเกษตรและการผลิตอาหารที่ผู้บริโภคเห็นว่าควรได้รับการแก้ไขให้เป็นไปตามแนวทางที่ยั่งยืนมากขึ้น อันดับต่อมาคือ ความกังวลเกี่ยวกับการปนเปื้อนสารเคมี (ร้อยละ 44) ความเป็นอยู่และการดำรงชีวิตของเกษตรกร (ร้อยละ 35) ตามลำดับ
ในขณะที่คุณภาพ (ร้อยละ 61) ราคา (ร้อยละ 47) ความปลอดภัยของอาหาร (ร้อยละ 45) และคุณค่าทางโภชนาการ (ร้อยละ 34) เป็นปัจจัยที่ผู้บริโภคคำนึกถึงมากที่สุดเมื่อต้องทำการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและอาหาร ทั้งนี้จะพิจารณาและให้ความสำคัญกับปัจจัยที่หลากหลายมากขึ้น เมื่อต้องซื้อผลิตภัณฑ์ได้มาจากกระบวนการผลิตที่ยั่งยืน โดยผู้บริโภคชาวไทยกว่าร้อยละ 72 ให้คำตอบในแบบสำรวจว่าเคยซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและอาหารแบบยั่งยืน โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีอายุน้อยและผู้ที่มีรายได้สูงได้ระบุว่าปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อมากที่สุด ประกอบไปด้วย คุณภาพสูง (ร้อยละ 81) ประโยชน์ต่อสุขภาพ (ร้อยละ 67) รสชาติที่ดี (ร้อยละ 58) และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในเชิงบวก (ร้อยละ 47)
ผู้บริโภคชาวไทยร้อยละ 57 โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือกว่าร้อยละ 69 ระบุว่าเคยได้ยินเรื่องและรู้จัก “ข้าวที่ผลิตอย่างยั่งยืน” หรือ “ข้าวยั่งยืน”
แม้ว่าจะไม่มีคำจำกัดความเฉพาะสำหรับ “ข้าวที่ยั่งยืน” แต่ผู้บริโภคชาวไทยมากกว่าครึ่งมีความเข้าใจว่าข้าวยั่งยืนเป็นข้าวที่ปลูกด้วยกระบวนการที่ใช้สารเคมีน้อยที่สุด (ร้อยละ 63) ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ (ร้อยละ 42) ปรับปรุงสุขภาพดิน (ร้อยละ 36) ทั้งยังเชื่อว่าเป็นข้าวที่ช่วยให้สุขภาพของผู้บริโภคดีขึ้น(ร้อยละ 43) และมีส่วนสำคัญในการยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของเกษตรกร (ร้อยละ 50)
ทั้งนี้ผู้บริโภคร้อยละ 46 ระบุว่าเคยซื้อผลิตภัณฑ์ข้าวยั่งยืนมาก่อน โดยกว่าร้อยละ 97 ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุระหว่าง 18-54 ปี สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา และมีรายได้จากการทำงานประจำ มีความเต็มใจที่จะจ่ายในราคาที่สูงขึ้นเพื่อซื้อข้าวที่ปลูกตามแนวทางที่ยั่งยืน
สื่อผู้บริโภคให้ความสำคัญและได้รับข้อมูลเกี่ยวกับข้าวยั่งยืน ได้แก่ สื่อสังคมออนไลน์ (ร้อยละ 64) โทรทัศน์ (ร้อยละ 36) และกิจกรรมส่งเสริมการขายภายในร้าน หรือ ณ จุดขาย (ร้อยละ 31) ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้สื่อของประชากรอายุน้อยในปัจจุบันที่พึ่งพาข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น ในขณะที่ผู้ที่มีอายุมากกว่า เลือกที่จะศึกษาและค้นหาข้อมูล ณ จุดขาย โดยสถานที่ที่ผู้บริโภคซื้อข้าวเป็นประจำ คือ ร้านค้าปลีกและตลาดสด
GIZ ประเทศไทยดำเนินงานร่วมกับกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และองค์ภาคเอกชน เพื่อผลักดันการผลิตข้าวอย่างยั่งยืนใน 3 จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ 6 จังหวัดในพื้นที่ภาคกลางของประเทศ ผ่านการเสริมสร้างความสามารถของเกษตรกรในการผลิตข้าวที่ยั่งยืนออกสู่ตลาดทั้งในไทยและต่างประเทศ ทั้งยังเน้นย้ำถึงศักยภาพของห่วงโซ่คุณค่าในภาคการผลิตข้าวที่เข้มแข็งที่ช่วยให้เกษตรกร ชุมชน และภาคธุรกิจเติบโตไปพร้อมกันได้
การเพิ่มช่องทางการสื่อสารและให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ “คุณค่าของข้าวยั่งยืน” นั้น ไม่เพียงแต่กระตุ้นความสนใจในผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและอาหารเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นว่าการผลิตข้าวตามแนวทางที่ยั่งยืนมีความสำคัญในการเป็นตัวขับเคลื่อนการซื้อของผู้บริโภค อันจะช่วยเพิ่มอุปสงค์สำหรับข้าวที่ยั่งยืนในประเทศต่อไป
หมายเหตุ: การวิจัยในครั้งนี้ได้ทำการสำรวจกลุ่มผู้บริโภคในประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม อินเดีย และปากีสถาน โดยใช้ชุดคำถามเดียวกันและได้รวบรวมคำตอบจากกลุ่มตัวอย่างกว่าหนึ่งพันรายในแต่ละประเทศ ขณะนี้โครงการฯ กำลังดำเนินงานวิจัยอยู่ในประเทศไนจีเรีย เพื่อสร้างความตระหนักรู้ของผู้บริโภคเกี่ยวกับข้าวยั่งยืนในวงกว้าง