17 ธันวาคม 2564

การจัดการฟางเพื่อลดค่าใช้จ่ายจากการทำนาและลดโลกร้อน

เรื่อง: อภิรดี ตรีรัตน์เกื้อกูล ภาพ: ศรีจักรภัทร เฉลิมชัย กลุ่มเกษตรและความปลอดภัยทางอาหาร

สิบโมงเช้าของทุกวันเป็นเวลาที่เพียงใจ แก่นอาสา และมณีรัตน์ แก่นพรม เพื่อนสนิทสมัยมัธยมของเธอ เพิ่งจะเสร็จสิ้นภารกิจการให้อาหารวัวที่เลี้ยงด้วยหญ้าแห้งบริเวณที่นา 24 ไร่อำเภอสำโรง ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองอุบลราชธานีไปราว 1 ชั่วโมง

ฤดูกาลทำนาปีที่ผ่านมา เพียงใจ สามารถเก็บก้อนฟางอัดได้มากกว่า 200 ก้อน ปริมาณฟางอัดก้อนที่เก็บได้สามารถนำมาเลี้ยงวัวที่ครอบครัวเธอเลี้ยงไว้ได้ตลอดทั้งปี โดยเธอจ่ายเงินค่าบริการอัดก้อนฟางเพียง 2,000 บาท ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ เทียบไม่ได้เลยหากต้องไปซื้อฟางมาเลี้ยงวัวเพราะราคาจะพุ่งสูงถึง 25-30 บาทต่อก้อนเลยทีเดียว

เพียงใจ แก่นอาสากำลังให้ฟางวัว ฟางเหล่านี้เก็บจากที่นาของตนเองและนำมาอัดเป็นก้อน วัวหนึ่งตัวสามารถกินฟางข้าวได้มากถึง 7 กิโลกรัมต่อวัน

แม้ว่าผลตอบแทนฤดูกาลทำนาข้าวหอมมะลิปีนี้จะลดลงมาก แต่เกษตรกรหญิงรุ่นใหม่วัย 34 ปีเชื่อว่า อย่างน้อยหากมีฟางข้าวเพียงพอสำหรับวัวที่เธอเลี้ยงก็อาจจะช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการจัดการนาข้าว ฟางและตอซังภายหลังจากการทำนาได้ไม่มากก็น้อย เพราะวัวเป็นหนึ่งในสมบัติที่มีค่ายิ่งของครอบครัวเกษตรกรไทยภาคอีสาน

“ชุมชนของพวกเราไม่ได้เผาฟางกันมาหลายปีแล้ว เพราะการเผาฟางก็เหมือนกับเผาเงินของตัวเอง เกษตรกรรุ่นใหม่ควรรู้จักการใช้ประโยชน์จากฟาง ซึ่งเป็นของเหลือจากการทำไร่นาให้ได้ประโยชน์สูงที่สุด” เพียงใจกล่าว พร้อมเสริมด้วยว่า วิธีการอัดฟางก้อนเป็นที่นิยมมากในชุมชนของเธอและพื้นที่ใกล้เคียง โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ลาออกจากงานประจำต่างเมืองเพื่อกลับมาสืบทอดวิถีการทำนาและอยู่บ้านกับครอบครัว วิธีการจัดการฟางเป็นหนึ่งในเทคนิคที่โครงการตลาดนำการผลิตเพื่อเกษตรกรรายย่อย (ประเทศไทย) ส่งเสริมให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการไปปฏิบัติในพื้นที่ของตนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561

ปัจจุบันภาคการเกษตรมีเศษฟางที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวเป็นปริมาณมาก อย่างไรก็ตามเกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการฟางข้าวและตอซังเพื่อเป็นทางเลือกในการเพิ่มรายได้และผลผลิตทางการเกษตร ส่งผลให้เกษตรกรส่วนใหญ่ตัดสินใจเผาฟางข้าวและตอซัง บ้างก็เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการปลูกพืชหมุนเวียนต่าง ๆ จนทำให้ฟางถูกเผาทิ้งอย่างน่าเสียดาย การเผาฟางอาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม จนกลายเป็นมลภาวะและก่อให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจกที่ส่งผลให้สภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง

ภาคการเกษตรมีเศษฟางที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวเป็นปริมาณมาก อย่างไรก็ตามเกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการฟางข้าวและตอซัง นำไปสู่การเเผาฟางข้าวและตอซังเกิดมลพิษต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการอบรม เกษตรกรภาคอีสานมากกว่า 18,000 รายที่เข้าร่วมโครงการตลาดนำการผลิตเพื่อเกษตรกรรายย่อย เลือกที่จะไม่เผาฟาง แต่นำฟางไปทำเป็นอาหารสำหรับปศุสัตว์แทนเพราะเป็นแหล่งอาหารชั้นดี  ฟางแห้งยังสามารถนำไปใช้ปลูกผักต่าง ๆ ได้อีกด้วย  

การจัดการฟางข้าวและตอซัง เป็นหนึ่งในเทคนิคการทำนาลดโลกร้อน ที่สอดคล้องกับ “ข้อตกลงกลาสโกว์” ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายในการลดการใช้พลังงานถ่านหินและฟอสซิลที่ไม่มีประสิทธิภาพ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเพื่อไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงเกินสององศาเซลเซียส และมีการตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกครึ่งหนึ่งภายในปีพ.ศ. 2573 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ.2593

รูปแสดงผลการลดก๊าซเรือนกระจกจากมาตรการภาคพลังงาน ที่มา: องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

นอกจากเกษตรกรรุ่นใหม่อย่างเพียงใจที่สนใจการจัดการฟางข้าวและตอซังแล้ว เกษตรกรหัวก้าวหน้าอย่างนางหนูปี แสงงาม ยังมองเห็นรายได้ที่ยั่งยืนจากการจัดการฟางและตอซังหลังการเก็บเกี่ยวในแต่ละปีด้วย

แม่หนูปีกล่าวว่า แต่ละปีเธอสามารถส่งฟางข้าวอัดก้อนให้กับคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้มากถึง 3,000 ก้อนโดยหนึ่งก้อนจะอยู่ที่ราคาประมาณ 35 บาท คิดเป็นรายได้ราว 100,000 บาทต่อปี

นางหนูปี แสงงาม เกษตรกรอำเภอสำโรง จังหวัดอุบลราชธานีเข้าร่วมเป็นสมาชิกของโครงการตลาดนำการผลิตเพื่อเกษตรกรรายย่อย (ประเทศไทย) เมื่อปี พ.ศ. 2562

แม่หนูปีได้แนวคิดการทำธุรกิจนี้จากการศึกษาดูงานการจัดการฟางข้าวและตอซังภายหลังเก็บเกี่ยวที่จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อหลายสิบปีก่อน และไม่รีรอที่จะนำไอเดียนี้มาใช้ในพื้นที่ชุมชนของตน เกษตรกรหญิงแกร่งวัย 48 ปีท่านนี้ถือเป็นหนึ่งในผู้นำเกษตรกรสำคัญที่ช่วยส่งเสริมและอบรมสมาชิกโครงการฯ ให้เรียนรู้เกี่ยวกับเทคนิคการทำนาลดโลกร้อน เพราะเกษตรกรจำนวนมากยังคงมีความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับการเผาฟางข้าวว่าช่วยเพิ่มธาตุอาหารในดิน อีกทั้งยังทำการเผาเพื่อเร่งปรับพื้นที่สำหรับปลูกข้าวนาปลังและพืชหมุนเวียนเช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด และพืชชนิดอื่น ๆ 

ข้อมูลจากสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติระบุว่าภาคการเกษตรผลิตฟางข้าวมากถึงราว 1 พันล้านตันต่อปี โดยเฉพาะในทวีปเอเชียมีมากถึงร้อยละ 90 ดังนั้น การใช้เครื่องจักรในการจัดเก็บฟางข้าวและตอซังจากการเกษตรเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับเกษตรกรรุ่นใหม่

“การจัดการฟางข้าวและตอซังโดยไม่เผาทิ้ง และนำฟางไปทำเป็นอาหารปศุสัตว์แทน นอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับเกษตรกรแล้ว ยังสามารถเพิ่มรายได้และลดมลภาวะจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนด้วย” แม่หนูปีกล่าว

ฟางข้าวอัดก้อนเป็นวิธีที่นิยมทำกันมากในชุมชนเกษตรกรในอุบลราชธานีและจังหวัดใกล้เคียง

มนตรี พรหมลักษณ์ ผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า “นอกจากเกษตรกรหญิงอย่างเพียงใจและหนูปีแล้ว ยังมีเกษตรกรสมาชิกโครงการจำนวนทั้งสิ้น 18,772 รายในจังหวัดอุบลราชธานีและสุรินทร์ ที่ได้รับการอบรมเกี่ยวกับการบริหารจัดการนาเพื่อลดการเผาฟางและลดโลกร้อนจากโครงการ นอกจากนี้ โครงการยังช่วยให้ชุมชนสามารถเข้าถึงกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐที่ส่งเสริมให้เกษตรกรรู้จักการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิต ลดโลกร้อนและมลภาวะในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน”

แกลเลอรี่ภาพ

วีดีโอ

ติดต่อเรา

  • +66 2 255 4202
  • asean-agrifood@giz.de
  • 39/1 ซอยสุขุมวิท 13, ถนนสุขุมวิท, คลองเตยเหนือ, วัฒนา, กรุงเทพฯ 10110 ประเทศไทย

การเยี่ยมชม

สื่อและแหล่งข้อมูล

โครงการ

การป้องกันข้อมูล

สมัครจดหมายข่าว

ติดตามเรา

  • Copyright © 2014 - 2019 | Sustainable Agrifood Systems in ASEAN