09 พฤศจิกายน 2565

ไทย-เยอรมันร่วมหารือแนวทางพัฒนากลไกทางการเงินเพื่อส่งเสริมการทำนาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก-ความยั่งยืนภาคเกษตรไทย

เรื่อง: เมตตา คงพันธุ์อภิรักษ์ ผู้จัดการโครงการนวัตกรรมเครื่องมือทางการเงินเพื่อการปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ กลุ่มเกษตรและความปลอดภัยด้านอาหาร

ผู้เชี่ยวชาญทางการเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) และบรรษัทค้ำประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บยส.) พร้อมทั้งผู้แทนและที่ปรึกษาด้านการเงินจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ร่วมกันระดมสมองเพื่อหาแนวทางและกลไกการเงินที่ยั่งยืนเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรรายย่อยไทยในการทำนาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มศักยภาพชาวนาไทยในการฟื้นตัวจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอรายละเอียดความคืบหน้าของการพัฒนาและออกแบบโครงการ “การเพิ่มศักยภาพการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อสภาพภูมิอากาศ” หรือ “Thai Rice GCF” ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการจัดทำข้อเสนอโครงการโดย GIZ 

คณะทำงานเพื่อผลักดันข้อเสนอโครงการ Thai Rice GCF จัดประชุมการประชุมเชิงปฎิบัติการทั้งหมดสามครั้ง เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะและแนวทางการทำงานจากผู้เชี่ยวชาญภาคเกษตรไทยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาตและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และภาควิชาการ เพื่อระดมสมองและรวบรวมแนวคิดจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างสร้างสร้างสรรค์ เป็นขั้นตอนสำคัญสำหรับคณะทำงานเพื่อวางกรอบแนวคิดและแผนการทำงานโครงการที่เกษตรกรรายย่อยและหน่วยงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้จริงและเป็นประโยชน์กับภาคเกษตรไทยให้ได้มากที่สุด

สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับข้อเสนอของโครงการ Thai Rice GCF มีเป้าหมายหลักคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทยให้ได้อย่างน้อย 4 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยมีเป้าหมายการทำงานใน 21 จังหวัดทั้งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวหลักของประเทศไทย คาดว่าจะมีเกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวได้รับประโยชน์จากโครงการนี้มากถึง 2.5 แสนราย ผ่านกิจกรรมอบรมทักษะความรู้ เพิ่มการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรรายย่อย ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวมีความพร้อมทั้งทักษะความรู้ และความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อลดต้นทุนทางการเกษตร ลดการใช้ปุ๋ย ใช้น้ำและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการปลูกข้าว ตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการคือ พ.ศ. 2566-2571 

เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการทำงานร่วมกันในระยะยาว  ผู้แทนจาก ธกส. และ GIZ ยังได้ร่วมกันหารือแนวทางพัฒนากลไกบริหารเงินทุนเพื่อเกษตรกรไทยสีเขียว (Thai Green Farmer Facility: TGFF) และมาตรการสนับสนุนอื่น ๆ ผ่านเครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสมและสอดคล้องกับนโยบายและรูปแบบการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. ในฐานะสถาบันการเงินหลักของภาคเกษตรไทย รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมการดำเนินงานเช่น มาตรการอุดหนุนทางการเงิน กลไกการประกันสินเชื่อเพื่อเกษตรกรรายย่อย และเครื่องมือทางการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างคาร์บอนเครดิตสำหรับผู้ให้บริการทางการเกษตร โดยการถอดบทเรียนจากมาตรการด้านการเงิน “คน-ละ-ครึ่ง” ผ่านโครงการ ไทย ไรซ์ นามา (Thai Rice NAMA)  เพื่อสนับสนุนให้ชาวนาและผู้ให้บริการทางการเกษตรสามารถผลักดันเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่มีความสำคัญและจำเป็นยิ่งในการทำนาวิถีใหม่ลดโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นายธารา ศรีหมาศ รองผู้อำนวยการฝ่ายสินเชื่อ ธ.ก.ส. กล่าวระหว่างการหารือแลกเปลี่ยนว่า “ปัจจัยความสําเร็จของการดําเนินโครงการที่แท้จริงคือการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนและในทุกระดับโดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานธ.ก.ส.ทั้งในส่วนกลางและระดับสาขา  เพื่อสร้างความตระหนักรู้ไปยังกลุ่มเป้าหมายหลักคือเกษตรกรรายย่อยในฐานะผู้ผลิตต้นน้ำให้เข้าใจถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อวิชาชีพ คุณภาพชีวิตและชุมชนโดยรวม”

นางสาวอัมพวา ศีลนนท์ ที่ปรึกษาทางการเงินในฐานะผู้แทน GIZ กล่าวว่า “ข้อเสนอภายใต้โครงการ Thai Rice GCF จะช่วยยกระดับความร่วมมือเพื่อทำงานร่วมกับธ.ก.ส.ในฐานะสถาบันการเงินเพื่อเกษตรกรรายย่อยรวมถึงผู้ให้บริการสามารถเข้าถึงแหล่งทุนทางการเงินอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เราให้ความสำคัญกับทั้งการออกแบบรายละเอียดและเงื่อนไขการให้ทุนสนับสนุนอย่างหมาะสมและตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายและการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาคีเครือข่ายในทุกระดับ การพัฒนาศักยภาพบุคลากรของธ.ก.ส.ทั้งในส่วนกลางและในระดับสาขามีความจำเป็นเพราะทุกคนคือด่านหน้าในการทำงานเพื่อช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเกษตร  เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงรูปแบบทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่เหมาะสมต่อเกษตรกรแต่ละพื้นที่ และช่วยผลักดันการทำนาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ยกระดับผลผลิตและคุณภาพข้าวและภาคเกษตรไทยไปสู่ความยั่งยืน”

ภายหลังจากการหารือแลกเปลี่ยนเสร็จสิ้น ผู้แทนจาก ธ.ก.ส.และ GIZ เห็นพ้องในการลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding) ระหว่างสองหน่วยงานเป็นลำดับต่อไป นับเป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานร่วมกันเพื่อเสริมสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งของบุคลากร พร้อมผลักดันประเทศไทยไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ในปีพ.ศ. 2608 ต่อไป คณะทำงานผลักดันข้อเสนอโครงการ Thai Rice GCF กำลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการสรุปผลที่ได้จากการประชุมทั้งหมดมาปรับปรุงแผนเพื่อผลักดันข้อเสนอโครงการภายในสิ้นปี พ.ศ. 2565 ■

แกลเลอรี่ภาพ

ติดต่อเรา

  • +66 2 255 4202
  • asean-agrifood@giz.de
  • 39/1 ซอยสุขุมวิท 13, ถนนสุขุมวิท, คลองเตยเหนือ, วัฒนา, กรุงเทพฯ 10110 ประเทศไทย

การเยี่ยมชม

  • 222
  • 46,337
  • 1,581,444

สื่อและแหล่งข้อมูล

โครงการ

การป้องกันข้อมูล

สมัครจดหมายข่าว

ติดตามเรา

  • Copyright © 2014 - 2019 | Sustainable Agrifood Systems in ASEAN
Scroll to Top