20 กุมภาพันธ์ 2566

แบ่งปัน แลกเปลี่ยน เรียนรู้: แนวทางสร้างศักยภาพกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟโรบัสต้า

เรื่องและภาพ ชลทิพย์ กลิ่นศรีสุข และวีรินทร์ภัทร์ เจนวัฒนากูล

การรวมกลุ่มของเกษตรกรนับเป็นหนึ่งในวิธีการสร้างความเข้มแข็งและเสริมสร้างความยั่งยืนด้านการเกษตรของทั้งตัวเกษตรกรและชุมชน  กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟชุมชนห้วยนายร้อย  อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง คือหนึ่งในตัวอย่างสำคัญของโครงการพัฒนาระบบการผลิตกาแฟของผู้ประกอบการรายย่อย ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือคอฟฟีพลัส

แม้ว่าจะเป็นการรวมกลุ่มแบบไม่เป็นทางการแต่สมาชิกทั้งหมดล้วนมีความมุ่งมั่นและตั้งใจ  พัฒนาศักยภาพและความเข้มแข็งของตนเองและกลุ่มในการจัดการปลูกกาแฟโรบัสต้า

ด้วยเหตุนี้ โครงการคอฟฟีพลัสจึงได้เริ่มจัดอบรมหลักสูตร “โรงเรียนธุรกิจสำหรับเกษตรกร (Farmer Business School)” เมื่อปี พ.ศ. 2562 เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟโรบัสต้ารู้จักการวางแผนการเพาะปลูก มีการจดบันทึกรายจ่าย-รายรับ เพื่อให้ทราบต้นทุน กำไร เรียนรู้การกระจายความเสี่ยงโดยการปลูกพืชที่หลากหลาย  พร้อมเทคนิคเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและลดต้นทุนการผลิต

เกษตรกรสมาชิกกลุ่มผู้ปลูกกาแฟชุมชนห้วยนายร้อยจำนวน 17 คน ศึกษาดูงานที่ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนหมู่ 3 ตำบล จปร.อำเภอ กระบุรี จังหวัดระนอง รับฟังการบรรยายประวัติความเป็นมา การบริหารงาน และความสำเร็จของศูนย์ฯ

ก่อนที่กลุ่มเกษตรกรชุมชนห้วยนายร้อยจะเข้าร่วมกิจกรรมกับทางโครงการคอฟฟีพลัส สมาชิกของกลุ่มเคยได้รับการอบรมเรื่องการผสมปุ๋ยใช้เองเพื่อลดต้นทุนจากทางนักวิชาการเกษตรบริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด

อย่างไรก็ตาม สมาชิกมีความมุ่งมั่นพัฒนากลุ่มเกษตรของตนให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น ทางโครงการฯได้จัดกิจกรรมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกกลุ่มเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับการปลูกกาแฟ ปัญหาหลักที่พบคือ  ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ และต้นกาแฟอายุมากให้ผลผลิตน้อยลง สวนทางกับราคาปุ๋ยซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตหลักพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง   นำมาสู่การศึกษาดูงานเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางปฏิบัติจากกลุ่มเกษตรกรอื่นที่ประสบความสำเร็จในเรื่องการจัดการดินและปุ๋ย

การจัดการดินและปุ๋ยโดยชุมชนเพื่อชุมชน   

คุณสำรวย ขุนทองน้อย ประธานศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน อธิบายวิธีการทำปุ๋ยหมักจากแกลบกาแฟอย่างเป็นขั้นตอนโดยละเอียด

กลุ่มเกษตรกรชุมชนห้วยนายร้อยมีโอกาสเดินศึกษาดูงานที่ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่ 3 บ้านบางมุด ตำบล จ.ป.ร. อำเภอกระบุรี ห่างออกไปจากพื้นที่ชุมชนห้วยนายร้อยประมาณ 80 กิโลเมตรทางรถ ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้การทำปุ๋ยหมักแกลบกาแฟได้รับมาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงจากกรมพัฒนาที่ดิน

เกษตรกรที่มาศึกษาดูงานจะได้เรียนรู้วิธีการทำปุ๋ยหมักจากแกลบกาแฟอย่างเป็นขั้นตอนโดยละเอียด ทั้งการทำปุ๋ยหมักจากแกลบกาแฟ การทำน้ำหมักชีวภาพจากปลา การทำเชื้อราไตรโคเดอมา และการตรวจวิเคราะห์ดิน   และยังได้เยี่ยมชมแปลงสาธิตการเกษตรแบบผสมผสาน ที่มีทั้งกาแฟ ทุเรียน และไม้ผลฤดูร้อนอื่น ๆ มีการบำรุงดินด้วยปุ๋ยแกลบกาแฟที่ทำใช้เองภายในกลุ่ม

คุณสำรวย ขุนทองน้อย ในฐานะประธานศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการรวมกลุ่มว่า เกิดจากการเห็นแกลบกาแฟขยะและของเหลือที่เกิดจากการเกษตร  ชาวบ้านในชุมชนจึงรวมตัวกันเพื่อหาวิธีนำแกลบกาแฟและของเหลือมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ปัจจุบันศูนย์มีสมาชิก 30 คน ปุ๋ยจากแกลบกาแฟที่ผลิตใช้เองภายในกลุ่มแล้ว ส่วนที่เหลือจำหน่ายให้แก่บุคคลภายนอกที่สนใจ ปริมาณปุ๋ยที่จำหน่ายภายนอกในแต่ละปีขึ้นอยู่กับปริมาณแกลบกาแฟและผลผลิตเหลือใช้ที่หามาได้สำหรับการทำปุ๋ยและความต้องการใช้ปุ๋ยของสมาชิกในแต่ละปี

“การมีเป้าหมายเดียวกันความสามัคคีของสมาชิกในกลุ่ม และมีความเคารพต่อระเบียบวิธีที่ตกลงร่วมกันคือหัวใจสำคัญของการบริหารจัดการกลุ่มของเรา” คุณสำรวยกล่าว พร้อมยกตัวอย่างวิธีการจัดการเช่น เมื่อถึงวันที่จะต้องทำปุ๋ย หากสมาชิกขาดการเข้าร่วมก็จะถือว่าปีนั้นสมาชิกคนนั้นจะไม่ได้ส่วนแบ่งของปุ๋ยไปเลย หรือหากในวันที่ต้องมาติดตามการทำปุ๋ยเช่น การกลับกองปุ๋ย ต้องมีตัวแทนมาหากไม่สะดวกมาเองเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกับสมาชิกท่านอื่น จะเห็นได้ว่าทุกคนเคารพต่อกฎกติกาของกลุ่ม จึงทำให้กลุ่มสามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องและมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

การเกษตรแบบผสมผสานเพื่อความยั่งยืนของชุมชน

คุณชนิดาภา วิรมณพร สมาชิกกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟชุมชนห้วยนายร้อย สาธิตการเก็บกาแฟที่สุกแล้วในแปลงของคุณพิเชษฐ เนียมบรรดิษฐ ให้กับเจ้าหน้าที่โครงการคอฟฟีพลัส ประเทศไทย

กลุ่มเกษตรกรชุมชนห้วยนายร้อยเดินทางต่อไปยังตำบลไชยราช อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเยี่ยมชมและศึกษาแนวทางการปลูกกาแฟ ของคุณพิเชษฐ เนียมบรรดิษฐ และคุณก้าน  รักสนิท ทั้งสองท่านคือเกษตรกรสมาชิกของโครงการคอฟฟีพลัสที่เข้าร่วมกิจกรรมหลักสูตรโรงเรียนธุรกิจเกษตร และนำความรู้ที่ได้มาจัดการเกษตรแบบผสมผสานอย่างจริงจัง

คุณพิเชษฐ สามารถปลูกกาแฟโรบัสต้าควบคู่กับพืชและผลไม้เศรษฐกิจอื่น ๆ เช่นทุเรียน ยาง หมาก มะพร้าว มะละกอ

ในขณะที่เกษตรกรรุ่นใหม่อย่างคุณก้านสามารถรวบรวมสายพันธุ์กาแฟโรบัสต้าได้ 11 สายพันธุ์  และลงมือทดลองปลูกกาแฟที่มีร่วมกับพืชชนิดอื่นๆ มีวิธีการปรับปรุงดินโดยการปลูกถั่วบราซิลเป็นพืชคลุมดินที่ เพื่อรักษาความชื้นหน้าดิน สร้างสภาวะแวดล้อมที่ดีของจุลินทรีย์ในดิน

เกษตรกรทั้งสองท่านสามารถสร้างรายได้หมุนเวียนได้ตลอดปีจากแนวทางการเกษตรแบบผสมผสานที่ได้เรียนรู้จากหลักสูตรนักธุรกิจเกษตรของโครงการคอฟฟีพลัส

คุณพิเชษฐ เนียมบรรดิษฐ สมาชิกโครงการคอฟฟีพลัส อธิบายวิธีการปลูกถั่วบราซิลเป็นพืชคลุมดินให้คุณสากล ผิวขำ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มผู้ปลูกกาแฟห้วยนายร้อยที่มาศึกษาดูงาน

คุณชนิดาภา วิรมณพร ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟชุมชนห้วยนายร้อยกล่าวว่า การศึกษาดูงานครั้งนี้ทำให้ตนเองและสมาชิกตระหนักถึงความสำคัญของการทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกัน เป็นการสร้างพื้นที่ให้กับเกษตรกรตัวเล็ก ๆ ในชุมชน ได้เข้าถึงข้อมูลที่มีประโยชน์ และสามารถ สร้างรายได้เสริมให้กับตนและครอบครัวได้

คุณชนิดาภากล่าวด้วยว่า จะนำวิธีการทำปุ๋ยจากแกลบกาแฟมาทดลองใช้เพื่อปรับปรุงคุณภาพดินของสวนตนเองต่อไป

คุณสากล ผิวขำ อีกหนึ่งสมาชิกเกษตรกรห้วยนายร้อยกล่าวว่า การเยี่ยมชมแปลงเกษตรผสมผสานทำให้ตนมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนแนวทางการดูแลสวนเกษตรจากคุณพิเชษฐ   มีประโยชน์มากและตนจะนำวิธีการจัดการสวนไปปรับใช้กับพื้นที่ของตน “ระนองกับประจวบฯ สภาพอากาศอาจจะไม่ต่างกันมาก ผลผลิตหรือต้นกาแฟที่เห็นสามารถบ่งบอกได้ว่า ผู้ปลูกมีความดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี ดีใจมากที่มีโอกาสได้มาแลกเปลี่ยนพูดคุยแนวทางในการดูแลสวน และจะนำเอาแนวคิดและวิธีการใหม่ๆไปปรับใช้กับทั้งสวนตนเองและทำร่วมกันกับคนในกลุ่ม” 

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

วิดีโอ

แกลอรีภาพ

ติดต่อเรา

  • +66 2 255 4202
  • asean-agrifood@giz.de
  • 39/1 ซอยสุขุมวิท 13, ถนนสุขุมวิท, คลองเตยเหนือ, วัฒนา, กรุงเทพฯ 10110 ประเทศไทย

การเยี่ยมชม

  • 483
  • 39,937
  • 1,565,370

สื่อและแหล่งข้อมูล

โครงการ

การป้องกันข้อมูล

สมัครจดหมายข่าว

ติดตามเรา

  • Copyright © 2014 - 2019 | Sustainable Agrifood Systems in ASEAN
Scroll to Top