สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องกับวิถีชีวิตของคนไทย ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องปรับตัวและหาแนวทางที่เหมาะสมเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลง เพื่อขับเคลื่อนการทำงานรวมทั้งกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้เงื่อนไขวิถีชีวิตใหม่ และการเว้นระยะห่างทางสังคม ด้วยเหตุนี้ โครงการพัฒนาระบบการผลิตกาแฟของผู้ประกอบการรายย่อย ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ คอฟฟี่พลัส (Coffee+) จึงจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการออนไลน์ขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรและเจ้าหน้าที่หน่วยงานเกษตรในพื้นที่เข้าใจองค์ความรู้ทั้งทางทฤษฎีและการปฏิบัติของหลักสูตร เพื่อเกิดกระบวนการเรียนรู้แนวทางการจัดการธุรกิจเกษตรอย่างต่อเนื่อง
หลักสูตร “โรงเรียนธุรกิจสำหรับเกษตรกร” (Farmer Business School: FBS) คือ หนึ่งผลงานสำคัญของโครงการ ที่ได้รับการออกแบบเพื่อส่งเสริมและพัฒนาทักษะและศักยภาพการจัดการธุรกิจเชิงเกษตร เช่น กลไกราคาและตลาด การวางแผนการผลิต การคำนวณต้นทุนและกำไร การปลูกพืชผสมผสานเพื่อลดความเสี่ยง รวมถึงการปลูกฝังวินัยการจดบันทึก และการออมเงินอย่างถูกวิธีให้กับเกษตรกร เจ้าหน้าที่นักวิชาการระดับปฏิบัติการของกรมส่งเสริมการเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ระบบการผลิตกาแฟในประเทศไทยเกิดความยั่งยืน
การจัดการอบรมออนไลน์ครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเกษตรกรรายย่อยและเจ้าหน้าที่เกษตรจากจังหวัด กระบี่ สุราษฎร์ธานี โดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาทักษะการเพิ่มผลผลิตและรายได้ ลดต้นทุนการจัดการให้กับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟรายย่อย เพื่อก้าวสู่การเป็นนักธุรกิจเกษตรและผู้ประกอบการในระยะยาว
พจมาน วงษ์สง่า ผู้อำนวยการโครงการคอฟฟี่พลัส กล่าวว่า แรกเริ่ม องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ได้พัฒนาหลักสูตรนักธุรกิจการเกษตรและนำมาใช้กับโครงการเพื่อพัฒนาศักยภาพเกษตรกรผู้ปลูกโกโก้รายย่อยจำนวน 350,000 รายในประเทศแถบแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก ต่อมาหลักสูตรนี้ได้รับการปรับเนื้อหาและรูปแบบหลักสูตรให้เข้ากับบริบทของภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อนำมาใช้พัฒนาทักษะและองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟจำนวน 10,500 รายในประเทศอินโดนีเซีย ไทย และฟิลิปปินส์ สำหรับประเทศไทย โครงการคอฟฟี่พลัส มีพื้นที่นำร่องอยู่ในจังหวัดชุมพร และจังหวัดระนอง ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญของการปลูกกาแฟโรบัสต้าของไทย เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟรายย่อยและเจ้าหน้าที่เกษตรของทั้งสองจังหวัดได้รับการอบรมหลักสูตรนักธุรกิจเกษตรไปแล้วก่อนหน้านี้ทั้งในรูปแบบการอบรมเชิงปฏิบัติแบบกลุ่มและในรูปแบบออนไลน์ และครั้งนี้ได้ต่อยอดการอบรมหลักสูตรมายังพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง คือ สุราษฎร์ธานีและกระบี่
รองศาสตราจารย์ดร.สุธัญญา ทองรักษ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นวิทยากรหลักสูตร กล่าวว่า การอบรม FBS ออนไลน์มีความท้าทายเนื่องจากเนื้อหาของหลักสูตรมุ่งเน้นการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ และการเรียนรู้จากประสบการณ์ เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้และทักษะที่ในการเป็นเกษตรกรมืออาชีพ เดิมทีหลักสูตรนักธุรกิจการเกษตรได้รับการออกแบบเพื่อการอบรมแบบเดิมในห้องประชุม อย่างไรก็ตามเมื่อปรับให้อยู่ในรูปแบบออนไลน์แล้ว มีการปรับเนื้อหาและรายละเอียดให้เหมาะสมกับการอบอรมออนไลน์ เพื่อให้ครอบคลุมเนื้อหาทั้ง 12 ตอน คือ
- บทที่ 1 “การเกษตรเป็นธุรกิจหรือไม่?”
- บทที่ 2 “เรียนรู้หน่วยนับ เพื่อทราบจำนวนทรัพย์สิน”
- บทที่ 3 “การบริหารจัดการฟาร์มอย่างมีประสิทธิภาพ”
- บทที่ 4 “รายจ่าย-รายรับ”
- บทที่ 5 “การตัดสินใจเพื่อเพิ่มรายได้”
- บทที่ 6 “ความเสี่ยงในธุรกิจเกษตรมีอะไรบ้าง?”
- บทที่ 7 “การบริหารการเงินตลอดทั้งปี”
- บทที่ 8 “การเข้าถึงบริการที่ดีทางการเงิน”
- บทที่ 9 “เพิ่มรายได้ด้วยการพัฒนาคุณภาพผลผลิต”
- บทที่ 10 “ประโยชน์ของการเป็นสมาชิกกลุ่มเกษตรกร”
- บทที่ 11 “เพิ่มกำไรด้วยการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิต”
- บทที่ 12 “ก้าวสู่การเป็นนักธุรกิจเกษตร”
เสียงจากผู้เข้าร่วมอบรม
พิศิษฏ์ เป็ดทอง เกษตรกรจากอำเภอลำหับ จังหวัดกระบี่กล่าวว่า การอบรมครั้งนี้ทำให้เขาได้เรียนรู้เทคนิคการเพิ่มผลผลิตการเกษตรซึ่งเป็นหนึ่งในเนื้อหาของหลักสูตร และสามารถนำมาใช้ติดตามการเจริญเติบโตของต้นกาแฟ เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดค่าใช้จ่ายจากการใช้ยาฆ่าแมลงได้ ในพื้นที่ปลูกกาแฟโรบัสต้าขนาด 10 ไร่ ที่ครอบครัวของเขาปลูกมาตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี อย่างไรก็ตามเขามองว่าหลักสูตรจะมีประโยชน์กับเกษตรกรยิ่งขึ้น หากมีการจัดการอบรมแยกสำหรับเกษตรกรที่มีประสบการณ์ และเกษตรกรรุ่นใหม่ ความรู้และเทคนิคจะมีความเฉพาะเจาะจง ตรงกับความต้องการและสามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้ง่ายขึ้น
ฐิติมา จรูญรัตน์ เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่ได้เข้าร่วมอบรมกับโครงการและเห็นว่าความรู้ที่ได้จากโครงการเป็นประโยชน์กับเจ้าหน้าที่เกษตร และสามารถนำความรู้ไปถ่ายทอดแลกเปลี่ยนกับเกษตรกรเวลาลงพื้นที่ได้ทุกครั้ง อย่างไรก็ตามฐิติมาเห็นว่าความรู้และทักษะจากหลักสูตรจะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรรุ่นใหม่ที่รับช่วงต่อการทำกิจการเกษตรจากครอบครัวมากกว่า เพราะมีความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยี การสร้างเครือข่ายกับเกษตรกรรุ่นใหม่ด้วยกันทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ กลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ แม้ว่าจะมีไม่มาก แต่เป็นความหวังในการประกอบอาชีพเกษตรและเป็นนักธุรกิจเกษตรที่มีคุณภาพของไทยต่อไป “ควรมีการจัดอบรมหลักสูตรธุรกิจการเกษตรรูปแบบออนไลน์ให้กับเกษตรกรรุ่นใหม่ต่อไปในอนาคตเพื่อที่พวกเขาจะได้มีโอกาสเรียนรู้ทักษะการจัดการเกษตรที่เป็นประโยชน์ ซึ่งนำไปสู่การปฎิบัติจริงและรับช่วงวิถีเกษตรจากครอบครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว” ■