03 กันยายน 2564

เยาวชนไทยร่วมส่งเสริมการปลูกกาแฟอย่างยั่งยืน

เรื่องแปล: ศรีจักรภัทร เฉลิมชัย กลุ่มเกษตรและความปลอดภัยทางอาหารว; ภาพ: สรรเพชร กิจไพบูลทวี กชกร จิตโสภา และวันวิสาข์ พานิช

สรรเพชร กิจไพบูลทวี เติบโตในครอบครัวชาวสวนในพื้นที่จังหวัดกระบี่ ครอบครัวของเขาทำสวนปาล์มร่วมกับการปลูกผักพื้นบ้านและไม้ผลพื้นเมือง การทำสวนแบบดั้งเดิมที่ต้องใช้ระยะเวลาและแรงงานจำนวนมาก สวนทางกับรายได้ที่ได้รับ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้เขาตัดสินใจศึกษาต่อด้านการจัดการสวนเกษตรในมหาวิทยาลัย

ปัจจุบันสรรเพชร หรือโอ๊ต กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 3 ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและธุรกิจเกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อเร็ว ๆ นี้ โอ๊ตและเพื่อนนักศึกษาอีก 2 คน ได้เข้าร่วมการฝึกงานในโครงการพัฒนาระบบการผลิตกาแฟของผู้ประกอบการรายย่อย ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือคอฟฟี่พลัส เป็นระยะเวลา 3 เดือนในพื้นที่จังหวัดชุมพรและระนอง ทั้งสามคนร่วมแบ่งปันความประทับใจและประสบการณ์ใหม่ที่ตนได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำกาแฟอย่างยั่งยืนเพื่อปูพื้นฐานและเตรียมพร้อมไปสู่การเป็นนักธุรกิจเกษตรรุ่นใหม่

สรรเพชร กิจไพบูลทวีนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและธุรกิจเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เรียนรู้การจัดการปลูกกาแฟยั่งยืนจากพิเชษฐ เนียมบรรดิษฐ เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟโรบัสต้า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
“ผมได้เรียนรู้เกี่ยวกับหลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) ที่เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟรายย่อยนำไปใช้ควบคู่กับการนำเทคโนโลยีเกษตรที่ช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนการใช้ปุ๋ย แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และเป็นการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นนักธุรกิจเกษตรในอนาคต ผมได้นำเอาความท้าทายและผลลัพธ์ที่ได้จากการเรียนรู้จากเกษตรกรรายย่อยไปประยุกต์ใช้กับสวนของครอบครัวได้เป็นอย่างดี” โอ๊ตกล่าว

โอ๊ตเล่าเพิ่มเติมว่า ตนและเพื่อนนักศึกษาเดินทางไปยังพื้นที่ดำเนินโครงการในจังหวัดชุมพรและระนอง และได้มีโอกาสพบกับเกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกกาแฟโรบัสต้า โดยเกษตรกรเหล่านี้ล้วนได้เข้าร่วมการอบรมเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ หลักสูตรโรงเรียนธุรกิจเกษตร (Farmer Business School: FBS) ที่ดำเนินการโดยโครงการคอฟฟี่พลัส และได้นำเอาความรู้ที่ได้รับไปปฎิบัติจริงในสวนกาแฟของตนเอง หลักสูตรโรงเรียนธุรกิจเกษตร คือ ผลงานที่โดดเด่นซึ่งสะท้อนถึงความร่วมมือระหว่างโครงการคอฟฟี่พลัส กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมวิชาการเกษตร เพื่อให้ผู้ปลูกกาแฟรายย่อยมีความรู้และทักษะการเป็นผู้ประกอบการผ่านการลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ทั้งในเรื่องของวิธีจัดการแปลงเกษตรแบบมืออาชีพ เทคนิคการเพิ่มผลผลิตกาแฟ การลดต้นทุนโดยการผสมปุ๋ยใช้เอง การจัดการดินและธาตุอาหาร รวมถึงการปลูกพืชผสมผสานและการฟื้นฟูสภาพต้นกาแฟ เกษตรกรจะได้เข้าร่วมอบรมกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐและครูฝึกของหลักสูตร “โรงเรียนธุรกิจเกษตร” เพื่อเรียนรู้วิธีการถ่ายทอดความรู้ไปสู่กลุ่มเกษตรกรในชุมชนของตนเองได้อย่างทั่วถึง
ดร. นิตยา ชาอุ่น จากบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ในฐานะผู้ที่ชื่นชอบการดื่มกาแฟ กชกร จิตโสภา หรือถุงแป้ง กล่าวว่า การเดินทางไปอำเภอกระบุรี จังหวัดระนองในครั้งนี้ ทำให้เธอได้เรียนรู้กระบวนการผลิตกาแฟโรบัสต้าในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การปลูก การเลือกเมล็ดคุณภาพสูง ไปจนถึงกระบวนการล้างผลกาแฟและการคั่วกาแฟ ความรู้และประสบการณ์จากการฝึกงานครั้งนี้สามารถนำไปต่อยอดกับธุรกิจร้านอาหารของครอบครัวในจังหวัดสงขลาได้ “ผู้ประกอบการรายย่อยในทุกภาคส่วนจำเป็นต้องปรับตัวและรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงการระบาดโควิด-19” ถุงแป้งกล่าวเพิ่มเติมว่าธุรกิจร้านอาหารของครอบครัวได้รับผลกระทบ แต่จากการฝึกงานทำให้เธอได้เรียนรู้ว่าภาคการเกษตรได้รับผลกระทบน้อยมากเพราะมีวิถีชีวิตที่พึ่งพาตนเองและผลผลิตที่มีอยู่ยังสามารถสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง
ดร. นิตยา ชาอุ่น จากบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
สำหรับ วันวิสาข์ พานิช หรือเฟิร์น แม้ว่าเธอจะไม่ไช่นักดื่มกาแฟเหมือนเพื่อน ๆ แต่เฟิร์นเห็นว่ากาแฟเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย การฝึกงานกับโครงการคอฟฟี่พลัสทำให้เธอเรียนรู้ปัญหาโลกร้อนและภัยแล้งที่กำลังส่งผลกระทบต่อปริมาณผลิตกาแฟที่ลดลง ดังนั้นวิธีการประเมินคุณภาพของเมล็ดกาแฟดิบจากแหล่งที่มา รวมทั้งการควบคุมคุณภาพตลอดกระบวนการจึงมีความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการคัดขนาด การคั่ว และการแปรรูปเมล็ดกาแฟ

ไม่เพียงแค่ความรู้ที่ได้รับ เธอยังสนุกสนานกับการทดสอบและชิมกาแฟ และยังสามารถแยกความแตกต่างของโทนกลิ่นและรสชาติของกาแฟ อาทิ เมล็ด กาแฟที่ให้รสเปรี้ยวแบบผลไม้ ความหอมกรุ่นคล้ายถั่ว รสชาตินุ่มละมุนของคาราเมล และรสขมเหมือนช็อกโกแลตหรือโกโก้

ภายหลังจากการพบกับเกษตรกรรายย่อย โอ๊ตกล่าวว่า ความสำเร็จของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการคอฟฟี่พลัส เป็นแรงบันดาลใจให้เขาตั้งใจจะนำเอาแนวทางการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีไปปรับปรุงการทำสวนของครอบครัว นวัตกรรมและเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในกระบวนการผลิตกาแฟ ตั้งแต่การเก็บเกี่ยวเมล็ดเชอร์รี่กาแฟ การล้างเมล็ด การอบแห้งและการคั่ว ไปจนถึงกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการปลูกกาแฟอย่างยั่งยืนในประเทศไทยต่อไป เขาเชื่อว่าการจัดการพื้นที่เพาะปลูก โดยการวิเคราะห์ดินและการทำการเกษตรแบบผสมผสาน เช่น มะละกอ กล้วย หรือพืชอื่นๆ ร่วมกับกาแฟ โดยเฉพาะต้นหมากที่สามารถขายได้ราคาสูงและเป็นที่ต้องการของประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา เป็นหนึ่งในทางเลือกที่ดีของเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่นอกจากจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่นแล้ว ยังเป็นการปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรรายย่อยในช่วงการระบาดของโควิด -19 อีกด้วย

การปลูกพืช เช่น กล้วย หมาก ควบคู่ไปกับกาแฟ ถือเป็นทางเลือกที่ดี และเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะได้เรียนรู้
วิธีการบริหารจัดการสวนกาแฟเพื่อเพิ่มรายได้และเป็นนักธุรกิจเกษตรด้วย

นักศึกษาฝึกงานทั้งสามคนได้แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากโครงการคอฟฟี่พลัสกับเพื่อนร่วมชั้นของตน ด้วยความหวังที่จะสร้างแรงบันดาลใจในการทำการเกษตรที่ยั่งยืนผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง

พจมาน วงษ์สง่า ผู้อำนวยการโครงการคอฟฟี่พลัส ได้เน้นย้ำถึงประโยชน์ในการฝึกงานของนักศึกษาร่วมกับโครงการว่า นอกจากจะช่วยพัฒนาความถนัดทางวิชาชีพแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างบทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบ และเปิดประตูไปสู่โอกาสในอนาคต โดยเฉพาะผู้ที่เรียนวิชาเอกที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ความรู้ที่ได้รับนี้จะเป็นสะพานไปสู่งานภาคการเกษตรหลังจากสำเร็จการศึกษาในมหาวิทยาลัย

นักศึกษาสามารถนำเอาทักษะและความรู้ที่ได้รับจากการฝึกงานไปประยุกต์ใช้กับการทำสวนหรือธุรกิจของตน เพื่อปรับตัวเท่าทันกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงและราคาสินค้าที่มีความผันผวน ตลอดจนมีความพร้อมในการรับมือกับความเสี่ยงในการทำเกษตร สามารถสร้างรายได้ที่ยั่งยืน และปรับปรุงคุณภาพชีวิตของครอบครัวและชุมชนของตนได้ดีขึ้น

“ชุมชนท้องถิ่นที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ น้ำ ดิน และธาตุอาหารในดิน เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมการปลูกกาแฟอย่างยั่งยืน พวกเราควรให้ความรู้ทางเทคนิคและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชน ควบคู่ไปกับการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเกษตร เพื่อให้คนรุ่นใหม่มีความพร้อมและสามารถเป็นนักธุรกิจเกษตรได้ในระยะยาว” พจมานกล่าว ■

แกลเลอรี่ภาพ

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

Farmer Business School(FBS) – หลักสูตรโรงเรียนธุรกิจสำหรับเกษตรกร ...
Factsheet: Improving Smallholder Coffee Farming Systems in Southeast Asia (Coffee+).
เอกสารภาษาไทยโครงการพัฒนาระบบการผลิตกาแฟของผู้ประกอบการรายย่อย ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ติดต่อเรา

  • +66 2 255 4202
  • asean-agrifood@giz.de
  • 39/1 ซอยสุขุมวิท 13, ถนนสุขุมวิท, คลองเตยเหนือ, วัฒนา, กรุงเทพฯ 10110 ประเทศไทย

การเยี่ยมชม

สื่อและแหล่งข้อมูล

โครงการ

การป้องกันข้อมูล

สมัครจดหมายข่าว

ติดตามเรา

  • Copyright © 2014 - 2019 | Sustainable Agrifood Systems in ASEAN