ระยะเวลาดำเนินโครงการ : มกราคม 2561 – ตุลาคม 2565
โครงการพัฒนาระบบการผลิตกาแฟของผู้ประกอบการรายย่อย ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แม้ว่าความต้องการกาแฟจะมีสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ทว่าหลายปีที่ผ่านมานี้ การผลิตกาแฟในประเทศผู้ผลิตหลักๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลงเป็นอย่างมาก เนื่องจากพื้นที่ปลูกกาแฟลดลงในขณะที่ความต้องการและการบริโภคสูงขึ้น ดินเสื่อมโทรมขาดความอุดมสมบูรณ์ ต้นกาแฟมีอายุมากกว่า 25 ปีขึ้นไปและขาดการดูแลรักษา ตัดแต่งทรงพุ่ม สวนมีสภาพเสื่อมโทรมและมีการใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ เกษตรกรขาดความรู้และทักษะในการเป็นผู้ประกอบการเกษตรเชิงธุรกิจ (Agri-preneurship) ตลอดจนขาดการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice: GAP)
วัตถุประสงค์
เพื่อพัฒนาระบบการปลูกกาแฟที่สามารถมีผลผลิตเพิ่มขึ้น สร้างรายได้มากขึ้น อันนำไปสู่การมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟรายย่อยในพื้นที่เป้าหมายในประเทศไทย (2,000 ราย) อินโดนีเซีย (7,000 ราย) และฟิลิปปินส์ (1,500 ราย) รวมทั้งสิ้น 10,500 ราย
ประเทศ
ประเทศไทย
แนวทางการดำเนินงาน
โครงการพัฒนาระบบการผลิตกาแฟของผู้ประกอบการรายย่อยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือโครงการคอฟฟี่พลัส ทำงานเพื่อสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟโรบัสต้าใน 3 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย จำนวนทั้งสิ้น 10,500 ราย ในจำนวนนี้เป็นเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในประเทศไทย 2,000 ราย โดยโครงการฯ ได้สนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในการเพิ่มทักษะและองค์ความรู้ในการทำการเกษตรเชิงธุรกิจ ภายใต้หลักสูตร “โรงเรียนธุรกิจเกษตร” (Farmer Business School: FBS) เพื่อเสริมสร้างทักษะการเป็นผู้ประกอบการและวางพื้นฐานที่นำไปสู่การบริหารจัดการแปลงเกษตรแบบมืออาชีพ อีกทั้งยังมีการฝึกอบรมหลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice: GAP) เพื่อพัฒนาทักษะทางเทคนิคในเรื่องการเพิ่มผลผลิตกาแฟ การจัดการดินและธาตุอาหาร การปลูกกาแฟแบบผสมผสาน การฟื้นฟูสภาพต้นกาแฟ ตลอดจนการทำแปลงสาธิตเพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ให้แก่เกษตรกรอื่นๆ
นอกจากนี้โครงการฯ ยังช่วยสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน เสริมสร้างโครงสร้างองค์กรท้องถิ่นเดิมที่มีอยู่ และสร้างความเป็นเจ้าของในท้องถิ่นให้คงอยู่อย่างยั่งยืน นอกเหนือจากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างเกษตรกรแล้ว โครงการฯ ยังสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และบทเรียนระหว่างภาครัฐในพื้นที่ระดับประเทศและภาคประชาสังคม รวมทั้งการนำองค์ความรู้ที่มีถ่ายทอดให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐเพื่อส่งต่อให้กับเกษตรกรหรือผู้สนใจต่อไป
ผลการดำเนินโครงการที่ผ่านมา
1. การเสริมสร้างศักยภาพผ่านหลักสูตร “โรงเรียนธุรกิจเกษตร (FBS)”
- ครูฝึก/ผู้ฝึกสอน: มีการจัดฝึกอบรมครูฝึกหลักสูตร “โรงเรียนธุรกิจเกษตร (FBS)” และการฝึกอบรมทบทวนความรู้ครูฝึกหลักสูตร “โรงเรียนธุรกิจเกษตร (FBS)”
- เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ: มีการจัดอบรมเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟหลักสูตร “โรงเรียนธุรกิจเกษตร (FBS)” ให้กับเกษตรกรทั้งสิ้น 2,018 ราย (ตั้งแต่เดือนกันยายน 2561 - มกราคม 2563) และได้มีการติดตามเกษตรกร และมีการทบทวนความรู้ให้กับเกษตรกรที่ได้รับการอบรมไปแล้วจำนวน 1,113 ราย ในจำนวนนี้มีเกษตรกรที่ได้นำความรู้ที่ได้รับไปปฎิบัติจนครบคิดเป็นร้อยละ 23.27 ในขณะที่เกษตรกรที่ได้นำความรู้ที่ได้รับไปปฎิบัติเพียงบางส่วนคิดเป็นร้อยละ 65.86 นอกจากนี้ยังได้มีการจัดอบรมเพิ่มเติมในส่วนของเทคนิคการเพิ่มผลผลิตกาแฟ การลดต้นทุนโดยการผสมปุ๋ยใช้เอง การจัดการดินและธาตุอาหาร การปลูกพืชผสมผสานและการฟื้นฟูสภาพต้นกาแฟ
- องค์กรเกษตรกร/กลุ่มเกษตรกร: เกิดการเข้ามามีส่วนร่วมขององค์กรเกษตรกร/กลุ่มเกษตรกร ผ่านการจัดทำแผนร่วมกัน และการแลกเปลี่ยนความรู้/ประสบการณ์ระหว่างกลุ่มที่มีความเข้มแข็งแล้วกับกลุ่มที่เพิ่งเริ่มจัดตั้ง
2. ผลิตผลขององค์ความรู้
- มีการจัดทำคู่มือครูฝึก/ผู้ฝึกสอนหลักสูตร “โรงเรียนธุรกิจเกษตร (FBS)”
- มีการจัดทำคู่มือและแบบฝึกหัดสำหรับเกษตรกรหลักสูตร “โรงเรียนธุรกิจเกษตร (FBS)”
- มีการจัดทำหลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) และเทคนิคในการเพิ่มผลผลิตกาแฟ การลดต้นทุนโดยการผสมปุ๋ยใช้เอง การจัดการดินและธาตุอาหาร การปลูกผสมผสาน และการฟื้นฟูสภาพต้นกาแฟ
3. การปลูกพืชแบบผสมผสาน
- มีการจัดทำแบบจำลองการปลูกพืชผสมผสาน และการปลูกพืชร่วมกับพืชกาแฟจำนวน 3 แบบ
- มีการจัดทำแปลงสาธิตการปลูกพืชผสมผสานและการปลูกพืชร่วมกับพืชกาแฟจำนวน 17 แปลง เพื่อเป็นต้นแบบให้เกษตรกรรายอื่นได้เรียนรู้
4. ความร่วมมือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากภาคส่วนต่างๆ
- เกิดความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นในการนำแผนยุทธศาสตร์กาแฟระดับชาติไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมในระดับท้องถิ่น การสนับสนุนให้เกิดแผนยุทธศาสตร์กาแฟโรบัสต้าจังหวัดชุมพร และการสนับสนุนให้เกิดคณะทำงานขับเคลื่อนการทำงานตามแผนยุทธศาสตร์กาแฟโรบัสต้าจังหวัดชุมพร
- เกิดความร่วมมือกับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร ในการจัดทำหลักสูตร “โรงเรียนธุรกิจเกษตร (FBS)” สำหรับพืชกาแฟ เป็นหลักสูตรระยะสั้นของวิทยาลัยฯ และการจัดทำแปลงสาธิตการปลูกพืชร่วมกับพืชกาแฟในพื้นที่ของวิทยาลัยฯ
5. การยอมรับและนำองค์ความรู้ที่ได้จากโครงการไปใช้ในองค์กร
- มีการขยายเครือข่ายการเรียนรู้และนำองค์ความรู้ที่ได้จากโครงการไปใช้ในการปฏิบัติงานในส่วนงานที่เกี่ยวข้องขององค์กร เช่น การจัดอบรมวิทยากรในหลักสูตร “โรงเรียนธุรกิจเกษตร (FBS)” ให้กับเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาคมกาแฟแห่งประเทศไทย
- มีการเผยแพร่องค์ความรู้ในหลักสูตร “โรงเรียนธุรกิจเกษตร (FBS)” ในรูปแบบสื่อการสอนการ์ตูนพร้อมภาพเคลื่อนไหวแบบ 2 มิติ ผ่านระบบ Smart Box ให้แก่ศูนย์การเรียนรู้จำนวน 800 แห่งภายใต้การกำกับดูแลของกรมวิชาการเกษตร (Department of Agriculture)
ผู้สนับสนุนด้านงบประมาณ
กระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) ผ่านแผนงานการส่งเสริมการพัฒนาของภาคเอกชน (DeveloPPP.de)
หน่วยงานร่วมดำเนินการ
บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด