27 ธันวาคม 2566

เสริมความพร้อมเกษตรกรสตรีรับมือและปรับตัวกับสภาพภูมิอากาศ

เรื่องและภาพโดย เกียรติยศ วงศ์อุดมเลิศ กลุ่มเกษตรและความปลอดภัยด้านอาหาร GIZ ประเทศไทย

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อแต่ละคนไม่เท่ากัน โดยผู้ที่อยู่ในกลุ่มชายขอบและไม่ได้รับความเท่าเทียมกันในสังคม ไม่ว่าจะเป็นด้านเพศสภาพ ชาติพันธุ์ และปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมอื่น ๆ จะได้รับผลกระทบรุนแรงกว่ากลุ่มอื่น ด้วยเหตุนี้ โครงการการจัดการห่วงโซ่อุปทานข้าวและมันฝรั่งเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศด้วยวิธีการปลูกข้าว มันฝรั่ง และข้าวโพดหมุนเวียนอย่างยั่งยืน (Building a Climate Resilient Potato Supply Chain Through a Whole-Farm Approach: RePSC) จึงได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “สตรีเกษตรอาสา ลดก๊าซเรือนกระจก” เป็นเวลาสองวันที่อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นพื้นที่ทำงานของโครงการฯ โดยมีผู้นำเกษตรกรสตรีที่เป็นสมาชิกโครงการฯ มาเข้าร่วมมากถึง 50 คน เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับการเกษตรที่ยั่งยืน และเปิดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับความสำคัญของสตรีในการเตรียมความพร้อมและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ พร้อมทั้งเป็นตัวแทนเกษตรกรสตรีเพื่ออาสานำองค์ความรู้จากการอบรมไปปฏิบัติและขยายผลภายในชุมชนและนอกพื้นที่

การจัดอบรมในครั้งนี้ให้ความรู้กับเกษตรกรสตรีอาสาเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจกและแนวทางในการบรรเทาผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ไม่ว่าจะเป็น ฝนแล้ง น้ำท่วม และการระบาดของโรคและศัตรูพืช การที่พวกเราเห็นความสำคัญเรื่องการลดโลกร้อนและลงมือปฏิบัติร่วมกันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเรา ครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติ” ว่าที่ร้อยตรีดุจเดี่ยว วงศ์ภักดิ์ หัวหน้าสำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงรายกล่าว พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของการฝึกอบรมและประโยชน์จากการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกรสตรีในภาคการเกษตรของประเทศไทย รวมทั้งส่งเสริมบทบาทของเกษตรกรสตรีในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศผ่านแนวทางปฏิบัติด้านการเกษตรที่ยั่งยืน

 

ตลอดสองวันของการอบรมเชิงปฏิบัติการ เกษตรกรสตรีอาสาได้เรียนรู้ทักษะที่สำคัญสำหรับการลดก๊าซเรือนกระจก เช่น การทำบัญชีรายรับรายจ่ายสำหรับธุรกิจการเกษตร การใช้สารเคมีอย่างรอบคอบ การควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี โดยวิทยากรที่มาให้ความรู้ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนโดยอาจารย์จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงราย เจ้าหน้าที่จากเกษตรอำเภอเวียงป่าเป้า เจ้าหน้าที่จากเทศบาลเวียงกาหลง เจ้าหน้าที่จากบริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด (PepsiCo) และเจ้าหน้าที่โครงการฯ ขององค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ)

เกษตรกรสตรีอาสาที่เข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้ยังได้ลองใช้อุปกรณ์แว่นสวมศีรษะแบบระบบเสมือนจริง หรือ วีอาร์ (VR: Virtual Reality) ในการจำลองสวมชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment: PPE) เพื่อป้องกันสารเคมี

การสร้างองค์ความรู้และเพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกรสตรีอาสาสอดคล้องกับเป้าหมายของโครงการฯ ในการเสริมสร้างความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และลำพูน ผ่านการจัดการพื้นที่เกษตรกรรมอย่างยั่งยืนตามแนวทางปฏิบัติทางการเกษตรแบบฟื้นฟู ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในกลุ่มเกษตรกรทางด้านแนวทางและเทคนิคต่าง ๆ เพื่อบรรเทาปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

สำหรับวิสา หล้าคำภา เกษตรกรจากตำบลเวียงกาหลง การทำเกษตรกรแบบผสมผสานภายในสวนมันฝรั่งและนาข้าวญี่ปุ่นตลอดสามปีที่ผ่านมาเริ่มเห็นผลที่ดี การทำเกษตรที่ใช้เคมีอย่างไม่สมเหตุผลก่อให้เกิดปัญหาดินกรดและต้นทุนการผลิตที่สูง โดยคุณวิสาได้แสดงความคิดเห็นหลังการอบรมว่า “การอบรมในครั้งนี้ทำให้เข้าใจถึงการเกษตรอย่างยั่งยืนมากขึ้น เช่น เรื่องการทำปุ๋ยสั่งตัด การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา การใช้สารเคมีอย่างถูกต้อง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ดีต่อสุขภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

คุณรัชนก กันทา เกษตรกรผู้ปลูกข้าวจากตำบลแม่เจดีย์ อายุ 54 ปี ให้ความคิดเห็นว่า “แนวปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีเริ่มต้นจากการวางแผนทางการเงิน เราสามารถนำทักษะเหล่านี้มาพัฒนากลุ่มออมทรัพย์และวิสาหกิจแปรรูปผลิตภัณฑ์ในชุมชนของเราได้ เพื่อเสริมสร้างทักษะสตรีและส่งเสริมการพัฒนาชุมชนในระยะยาว” นอกจากนี้ คุณรัชนกยังเน้นย้ำว่าการอบรมนี้เป็นประโยชน์ต่อสตรีและชุมชนอย่างมาก เพราะเป็นการเปิดพื้นที่ให้เกษตรกรสตรีแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับความสำคัญของสตรีในปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

หลังจากการอบรมในครั้งนี้ โครงการฯ จะยังคงให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทำเกษตรแบบยั่งยืนและติดตามผลการปฏิบัติของเกษตรกรที่เข้าร่วมการอบรมอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งวางแผนที่จะพัฒนาสตรีเกษตรอาสาในพื้นที่ของโครงการฯ ในจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย และจังหวัดลำพูน เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่สามารถเผยแพร่ความรู้และมีทักษะในการรับมือกับภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในชุมชนของตนเองต่อไปในระยะยาว

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

แกลอรี่ภาพ

ติดต่อเรา

  • +66 2 255 4202
  • asean-agrifood@giz.de
  • 39/1 ซอยสุขุมวิท 13, ถนนสุขุมวิท, คลองเตยเหนือ, วัฒนา, กรุงเทพฯ 10110 ประเทศไทย

การเยี่ยมชม

สื่อและแหล่งข้อมูล

โครงการ

การป้องกันข้อมูล

สมัครจดหมายข่าว

ติดตามเรา

  • Copyright © 2014 - 2019 | Sustainable Agrifood Systems in ASEAN