20 กันยายน 2566

ธ.ก.ส.-GIZ เดินหน้าพัฒนาขีดความสามารถบุคลากร-เกษตรกร เตรียมความพร้อมด้านการเงินเพื่อรับมือความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ

เรื่อง: กลุ่มเกษตรและความปลอดภัยด้านอาหาร ภาพ: เกียรติยศ วงศ์อุดมเลิศ

ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ)ถ่ายรูปร่วมกัน

กรุงเทพฯ 20 กันยายน พ.ศ. 2566 – ที่ห้องประชุม 801 ชั้น 8  สำนักงานใหญ่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร   (ธ.ก.ส.) มีการจัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อร่วมกำหนดกิจกรรมและความร่วมมือภายใต้โครงการพัฒนาเครื่องมือทางการเงินเพื่อการปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศในภาคการเกษตรในภูมิภาคอาเซียน (Innovative Climate Risk Financing for the Agricultural Sector in the ASEAN Region Project) หรือโครงการ AgriCRF

การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ นับเป็นกิจกรรมแรกที่ ธ.ก.ส.และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมันหรือ GIZ ประเทศไทยจัดขึ้นร่วมกันภายหลังจากที่ทั้งสองหน่วยงานลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (Memorandum of Understanding: MoU) ไปเมื่อวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันเพื่อพัฒนาขีดความสามารถและการเตรียมความพร้อมด้านการเงินเพื่อการเกษตรสีเขียว (Green Agricultural Finance)

นายพงษ์พันธ์ จงรักษ์ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวเปิดกิจกรรมครั้งนี้ “หากเราติดตามข่าวสารทุกวันนี้จะพบว่าภัยธรรมชาติทั่วโลก ทวีความรุนแรงอย่าไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สะท้อนความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาชีพเกษตรหลีกเลี่ยงความเสี่ยงนี้ไม่ได้ และนับเป็นภารกิจสำคัญ ความร่วมมือของ ธ.ก.ส. GIZ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องทางภาครัฐทั้งกรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และทางภาคเอกชนที่สนับสนุนการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเงินในภาคการเกษตร จะช่วยให้เกิดการพัฒนาขีดความสามารถและการเตรียมพร้อมทางการเงินเพื่อการรับมือภัยความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศสำหรับเกษตรกรไทย”

โครงการ AgriCRF โดยได้รับทุนสนับสนุนมูลค่าสี่ล้านยูโร หรือราว 150 ล้านบาทจากกระทรวงความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งสหพันธรัฐเยอรมัน (BMZ) โดยมีองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เป็นผู้ดำเนินโครงการทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคเพื่อพัฒนาศักยภาพเกษตรกรรายย่อยของไทยและภูมิภาคอาเซียนให้สามารถเข้าถึงเครื่องมือทางการเงินที่จำเป็นเพื่อรับมือกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเสริมสร้างความเท่าเทียมทางเพศในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินในภาคเกษตร

ทั้งนี้ GIZ มุ่งวางรากฐานความร่วมมือและการดำเนินงานกับ ธ.ก.ส.  ผ่านกิจกรรมกรรมของโครงการ AgriCRF ซึ่งสอดคล้องและสามารถเติมเต็มกิจกรรมอื่นๆ ที่ทั้งสองหน่วยงานทำงานร่วมกันก่อนหน้านี้และที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต อาทิ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Thai Rice NAMA) ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนโครงการโดย Mitigation Action Facility  โครงการระบบการผลิตข้าวที่ยั่งยืนแบบองค์รวม Inclusive Sustainable Rice Landscapes (ISRL) ที่อยู่ภายใต้กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก(Global Environment Facility: GEF) และโครงการเพิ่มศักยภาพการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ (Strengthening Climate-Smart Rice Project: GCF Thai Rice) ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนภูมิอากาศสีเขียว Green Climate Fund (GCF) (เร็วๆนี้)

โครงการ AgriCRF นี้มีระยะเวลาดำเนินโครงการระหว่าง มกราคม พ.ศ. 2566 – ธันวาคม พ.ศ. 2568 ภายใต้ช่วงเวลาดังกล่าวทั้งสองหน่วยงานจะมีกรอบกิจกรรมร่วมกัน ดังนี้

1) การพัฒนาองค์ความรู้ด้านการเงินเพื่อรับมือความเสี่ยงเนื่องจากภัยและผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศในภาคการเกษตรสำหรับพนักงานและลูกค้า

2) การนำร่องใช้เครื่องมือที่ช่วยให้สถาบันการเงิน (ธ.ก.ส.) ประเมินภัยความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตร และเพื่อประกอบการบริหารความเสี่ยง และประกอบการตัดสินใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน อาทิ สินเชื่อ BCG

3) การศึกษาความเป็นไปได้ของการมีประกันภัยพืชผลแบบดัชนี (index crop insurance) สำหรับประเทศไทย และการสมัครกองทุน InsuResilience Solutions Fund (ISF)

ดร.นานา คึนเคล ผู้อำนวยการและผู้ประสานงานกลุ่มเกษตรและความปลอดภัยทางอาหาร GIZ ประเทศไทย กล่าวภายในการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ความร่วมมือระหว่างธ.ก.ส. และ GIZ รวมทั้งหน่วยงานและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งจากภาคการเกษตร และภาคการเงินอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการ AgriCRF จะช่วยเพิ่มทั้งรายได้ให้กับเกษตรกรและการเตรียมความพร้อมต่อการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่มีความผันผวนมากขึ้น ทั้งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน และจะสามารถส่งเสริมการดำเนินงานของทั้งสองหน่วยงานผ่านโครงการ GIZ อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมการจัดการทางการเกษตรและผลิตผลทางการเกษตรยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในระยะยาว”

การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้มีเจ้าหน้าที่ธ.ก.ส.และ GIZ เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้นประมาณ 30 คน โดยกิจกรรมช่วงเช้าเป็นการระดมแนวคิดเพื่อดำเนินงานภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือและกรอบการทำงานของโครงการ AgriCRF และได้เรียนรู้เกี่ยวกับความสำคัญของการเงินเพื่อรับมือต่อความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศสำหรับเกษตรกร สำหรับกิจกรรมช่วงบ่ายเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินจากมูลนิธิธนาคารออมสินเยอรมันเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ (German Sparkassenstiftung (German Government Savings Bank) for International Cooperation (DSIK)  เกี่ยวกับเครื่องมือช่วยบริหารความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กับสถาบันการเงิน   เพื่อดำเนินงานและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมกับสมาชิกของ ธ.ก.ส. ที่มีอยู่มากถึงกว่า 4 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ รวมถึงมีการนำเสนอเพื่อการหารือถึงความสนใจและความเป็นไปได้ในการยกระดับ และเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระดับนานาชาติ และเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านผลิตภัณฑ์ประกันภัยพืชผลอย่างยั่งยืนของ อันจะส่งเสริมให้เกษตรกรปรับตัวเพื่อรับมือต่อความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตรได้ในอนาคต

อนึ่ง กรอบกิจกรรมที่นำเสนอในการประชุมฯครั้งนี้เป็นการต่อยอดจากการรวมรวมระดมความคิด และแลกเปลี่ยนร่วมกับ ธ.ก.ส. ในหลายๆโอกาสที่ผ่านมา ตั้งแต่การจัดประชุมหารือหลายภาคส่วนเพื่อเปิดโครงการฯร่วมกับหน่วยงานต่างๆทั้งด้านภาคการเกษตร ประกันภัย การเงิน และเทคโนโลยี เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ คณะผู้บริหารระดับสูงของ ธ.ก.ส. และผู้แทนของ GIZ ได้เดินทางเพื่อศึกษาดูงานด้านการพัฒนากลไกการเงินสีเขียวและนวัตกรรมการเงินเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน ณ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อเรียนรู้นวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตรและการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตอย่างยั่งยืน รวมทั้งเปิดโอกาสผู้บริหารของธ.ก.ส.ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สมาคมการเกษตร รวมถึงสถาบันการศึกษาและวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนากลไกหรือเครื่องมือทางการเงิน และรูปแบบธุรกิจการเกษตรที่ส่งเสริมความยั่งยืนทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมของเยอรมัน โดยเฉพาะประเด็นสำคัญคือการรองรับความเสี่ยงและโดยเฉพาะประเด็นสำคัญคือการรองรับความเสี่ยงและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

แกลอรี่ภาพ

ติดต่อเรา

  • +66 2 255 4202
  • asean-agrifood@giz.de
  • 39/1 ซอยสุขุมวิท 13, ถนนสุขุมวิท, คลองเตยเหนือ, วัฒนา, กรุงเทพฯ 10110 ประเทศไทย

การเยี่ยมชม

สื่อและแหล่งข้อมูล

โครงการ

การป้องกันข้อมูล

สมัครจดหมายข่าว

ติดตามเรา

  • Copyright © 2014 - 2019 | Sustainable Agrifood Systems in ASEAN