27 มกราคม 2565

เพิ่มศักยภาพนวัตกรรมการประกันภัยทางการเกษตรในภูมิภาคอาเซียน หนุนเกษตรกรเตรียมพร้อมรับมือกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง

ผู้เชี่ยวชาญภาคการเกษตรและประกันภัยแนะประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำเป็นต้องสร้างนวัตกรรมและเครือข่ายความร่วมมือที่แข็งแกร่งระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างเร่งด่วน เพื่อจัดการความเสี่ยงทางการเกษตรที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตร การเงิน รวมถึงตัวแทนจากภาครัฐและเอกชนกว่า 60 คน เข้าร่วมพูดคุยและประเมินบทบาทด้านการเงิน นวัตกรรม เทคโนโลยีสำหรับการประกันภัยภาคการเกษตรเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การจัดการความเสี่ยงทางการเงินของภาคการเกษตรเป็นประเด็นสำคัญที่มีการถกรายละเอียดเชิงลึกในเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งล่าสุด จัดโดยสำนักงานเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) ร่วมกับเครือข่ายการประกันภัยรายย่อย (Microinsurance Network: MiN)  และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (Deutsche Gesellschaft für Internationale Zusammenarbeit: GIZ) ประจำประเทศไทย การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้มีผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตร การเงิน รวมถึงตัวแทนจากภาครัฐและเอกชนกว่า 60 คน เข้าร่วมพูดคุยและประเมินบทบาทด้านการเงิน นวัตกรรม เทคโนโลยีสำหรับการประกันภัยภาคการเกษตร พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และบทเรียนการทำงานในประเทศต่าง ๆ เพื่อหาแนวทางระดับภูมิภาคสำหรับจัดการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยงในห่วงโซ่ทางการเกษตร

ลอเรนโซ ชานประธานเครือข่ายการประกันภัยรายย่อย (MiN)
“แม้ว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีทรัพยากรที่เอื้อต่อการทำเกษตรกรรม แต่การเผชิญกับปัญหาภัยธรรมชาติและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ทำให้ภูมิภาคของเราที่ประชากรส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก ต้องมีความพร้อมในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังจะเกิดในอนาคต” ลอเรนโซ ซาน (Lorenzo Chan) ประธานเครือข่ายการประกันภัยรายย่อย (MiN) กล่าวระหว่างการเปิดเวทีประชุม

ภาคเกษตรกรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คิดเป็นร้อยละ 25 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาจำนวนมากชี้ให้เห็นว่า ความเสี่ยงจากการเผชิญกับภัยธรรมชาติและสภาพอากาศที่รุนแรงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า ประเทศอินโดนีเซีย ไทย เมียนมาร์ มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ถือเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยกตัวอย่างเช่นเมื่อปี 2563 ประเทศฟิลิปปินส์ต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติตลอดปี ทั้งภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินไหว พายุไซโคลน ไต้ฝุ่น ดินถล่ม และน้ำท่วม ฯลฯ สร้างความเสียหายให้กับสินค้าเกษตรเป็นมูลค่ากว่า 282 ล้านเหรียญสหรัฐ
เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่จังหวัดอุบลราชธานี ประเทศไทยเมื่อปี 2562 รุนแรงที่สุดในรอบ 17 ปี ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงและบ่อยครั้งขึ้น เกิดควาเสี่ยงสูงต่อภาคเกษตรกรรม เครดิตภาพ: กรมประมง

ผลการศึกษาของเครือข่ายการประกันภัยรายย่อย ประจำปี 2564 บ่งชี้ว่า ประชากรกว่าห้าพันล้านคนทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของราคาผลผลิตทางการเกษตรและการเข้าไม่ถึงการประกันภัยที่ครอบคลุม อันส่งผลกระทบต่อกลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อยเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุผลเหล่านี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องเตรียมความพร้อมโครงการสาธารณะ และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างเร่งด่วน เพื่อสร้างกลไกที่ยั่งยืนในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและเพื่อเป็นหลักประกันให้กับกลุ่มประชากรเปราะบางตลอดห่วงโซ่คุณค่าการเกษตร” คุณชาน กล่าว

ความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการออกแบบ พัฒนา และนำเสนอแนวทางแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน เพื่อลดความเสี่ยงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับภาคการเกษตรได้รับการเน้นย้ำ การประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคในครั้งนี้ มุ่งสร้างการรับรู้และศักยภาพผ่านการแบ่งปันบทเรียนและแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด ตลอดจนผลักดันแนวทางแก้ไขปัญหาที่เป็นนวัตกรรมใหม่ให้เกิดขึ้น

“ไม่มีหน่วยงานใด หน่วยงานเดียวสามารถทำงานขับเคลื่อนการรับมือกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ ความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเตรียมความพร้อมนวัตกรรมการประกันภัยภาคการเกษตรตลอดห่วงโซ่คุณค่าในการจัดการกับความท้าทายนี้ อุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารทำงานเพื่อให้เราและครอบครัวมีอาหารทานทุกมื้อ เรามีหน้าที่ที่จะต้องช่วยให้ห่วงโซ่คุณค่านี้ดำเนินต่อไปเช่นกัน” คุณซาน กล่าวเสริม

สำหรับแผนการดำเนินงานการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงด้านอาหาร พร้อมกับการรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศสมาชิกอาเซียนได้นำกรอบนโยบายอาเซียนมาใช้ร่วมกัน โดยเน้นย้ำความสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งและความสามารถในการรับมือภัยพิบัติ การประกันภัยภาคการเกษตรถือเป็นเครื่องมือในการลดความเสี่ยงให้กับภาคเกษตรกรรม และเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญเพื่อการจัดการกับความท้าทายที่เกิดขึ้นในภูมิภาค

ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับห่วงโซ่คุณค่าของภาคเกษตรกรรม โดยคณะทำงานการเกษตรด้านพืชของอาเซียน (ASEAN Agriculture Working Group on Crops) ได้ร่วมพัฒนาแผนยุทธศาสตร์การปฏิบัติการความร่วมมืออาเซียนสำหรับสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. 2564-2568 (Strategic Plan of Action for the ASEAN Cooperation in Agricultural Cooperative 2021-2025) โดยมุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างขีดความสามารถของอาเซียนในการประกันภัยพืชผลระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งนี้ คณะทำงานได้ผลักดันเรื่องประกันภัยพืชผลมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560

ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถดังกล่าวให้กับประเทศสมาชิกอาเซียน องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ได้ร่วมมือกับสำนักเลขาธิการอาเซียนในการพัฒนาแนวทางว่าด้วยการดำเนินการประกันการเกษตรในอาเซียน (ASEAN Guideline on Agricultural Insurance Implementation) ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการสรุปผล และจะเสนอต่อคณะทำงานฯ ในกลางปี 2565 นี้

การประกันภัยภาคการเกษตรในอาเซียน
ดร. อันญ่า เอิลเบค (Anja Erlbeck) ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน กลุ่มเกษตรและความปลอดภัยด้านอาหาร องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย นำเสนอภาพรวมการประกันภัยภาคการเกษตรของอาเซียน

การประกันภัยภาคการเกษตรไม่ใช่ประเด็นใหม่สำหรับภูมิภาคนี้ ในปี 2523 ประเทศฟิลิปปินส์ได้เปิดตัวโครงการประกันพืชผล ปศุสัตว์ และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำระดับชาติเป็นครั้งแรก ต่อมาประเทศไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ได้ดำเนินโครงการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรเช่นเดียวกัน ดร. อันญ่า เอิลเบค (Anja Erlbeck) ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน กลุ่มเกษตรและความปลอดภัยด้านอาหาร องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย กล่าว

การให้เงินอุดหนุนและการเชื่อมโยงสินเชื่อ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยขยายการประกันการเกษตรในห่วงโซ่คุณค่า ในขณะเดียวกันการสนับสนุนปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่ไม่ใช่ปัจจัยทางการเงินอย่างปุ๋ย ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการปรับขนาดกลไกประกันภัยภาคการเกษตรได้

ดร. เอิลเบค เล็งเห็นถึงทิศทางของนวัตกรรมและกลไกประกันภัยภาคการเกษตรในภูมิภาค เธอเน้นย้ำถึงความสำคัญของการให้มีผลิตภัณฑ์ประกันภัยแบบดัชนี การกระตุ้นความสนใจของภาคเอกชน พร้อมกับส่งเสริมการดำเนินการประกันภัย เพื่อลดความเสี่ยงในห่วงโซ่คุณค่าและการทดสอบเทคโนโลยีทางการเกษตร

กรอบแนวทางและแผนการดำเนินงานการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงด้านอาหาร พร้อมกับการรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศภูมิภาคอาเซียน

กี่เดช อนันต์ศิริประภา   (Kheedej Anansiriprapa) ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันวินาศภัยไทย และประธานคณะทำงานประกันการเกษตรอาเซียน (ASEAN Agricultural Insurance Working Group) สภาธุรกิจประกันภัยอาเซียน (ASEAN Insurance Council) กล่าวว่า สมาคมฯ ได้จัดให้มีเวทีเสวนาสำหรับภาคการเกษตร บริษัทประกันภัย และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องในภูมิภาค เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลและแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดระหว่างประเทศสมาชิก ในการพัฒนาระบบการประกันภัยภาคการเกษตร

คุณกี่เดชยังได้แบ่งปันประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยในโครงการประกันภัยภาคการเกษตรแบบที่สนับสนุนเบี้ยเพิ่มเติมว่า มีบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมดำเนินงานขับเคลื่อนโครงการระดับชาติ ประจำปี 2564 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 40 ราย “องค์กรภาคเอกชนไม่สามารถดำเนินโครงการประกันภัยภาคการเกษตรได้โดยลำพัง หากปราศจากเจตจำนงทางการเมืองและความร่วมมือที่แข็งแกร่งจากภาครัฐ” เขากล่าวในระหว่างการประชุม

ยุก จำเริญฤทธิ์ (Youk Chamroeunrith) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ประกันฟอร์เต้ (กัมพูชา) จำกัด (Forte Insurance) ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การทดสอบโครงการนำร่องผลิตภัณฑ์ประกันแบบดัชนีสภาพอากาศ ความชื้นในดิน และผลผลิต ในปี 2558-2564 เขายังกล่าวเสริมอีกว่า เทคโนโลยีดาวเทียมมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนข้อมูลสำหรับประกันภัยแบบดัชนี

นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับมุมมองและโอกาสในการดำเนินงานร่วมกันในระดับภูมิภาค ผ่านการนำเอานวัตกรรมการประกันภัยภาคการเกษตรมาใช้ เพื่อส่งเสริมห่วงโซ่คุณค่าทางการเกษตรที่ยืดหยุ่น โดยการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ได้มีความเห็นร่วมกันในการดำเนินการร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียน อันรวมไปถึงการส่งเสริมนวัตกรรมการประกันภัย

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

Factsheet: Strengthening Climate-Smart Rice Value Chains
เอกสารภาษาไทยโครงการเพิ่มศักยภาพห่วงโซ่มูลค่าของข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ

ติดต่อเรา

  • +66 2 255 4202
  • asean-agrifood@giz.de
  • 39/1 ซอยสุขุมวิท 13, ถนนสุขุมวิท, คลองเตยเหนือ, วัฒนา, กรุงเทพฯ 10110 ประเทศไทย

การเยี่ยมชม

สื่อและแหล่งข้อมูล

โครงการ

การป้องกันข้อมูล

สมัครจดหมายข่าว

ติดตามเรา

  • Copyright © 2014 - 2019 | Sustainable Agrifood Systems in ASEAN