คณะผู้บริหารระดับสูงของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เดินทางศึกษาดูงานด้านการพัฒนากลไกการเงินสีเขียวและนวัตกรรมการเงินเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน ณ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ระหว่างวันที่ 22 – 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียนรู้นวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตรและการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตอย่างยั่งยืน รวมทั้งเปิดโอกาสผู้บริหารของธ.ก.ส.ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สมาคมการเกษตร รวมถึงสถาบันการศึกษาและวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนากลไกหรือเครื่องมือทางการเงิน และรูปแบบธุรกิจการเกษตรที่ส่งเสริมความยั่งยืนทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมของเยอรมัน โดยเฉพาะประเด็นสำคัญคือการรองรับความเสี่ยงและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การศึกษาดูงานในครั้งนี้ว่าเป็นการส่งเสริมให้คณะศึกษาดูงานได้เรียนรู้แนวทางการพัฒนารูปแบบการเงินสีเขียว การสร้างนวัตกรรมการเงินเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืนและเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งสอดคล้องการนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ของประเทศไทย รวมถึงการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ของ ธ.ก.ส. ตามวิสัยทัศน์ขององค์กรในการเป็นธนาคารพัฒนาชนบทที่ทันสมัย และมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรนับล้านของไทย
ตลอดสัปดาห์ คณะผู้บริหารระดับสูง ธ.ก.ส. ได้มีโอกาสพบผู้แทนของ GIZ ที่สำนักงานใหญ่ และร่วมประชุมกับสถาบันทางการเงิน ณ นครแฟรงก์เฟิร์ตซึ่งถือเป็นศูนย์กลางการเงินที่สำคัญของโลก ได้แก่ ธนาคารแห่งรัฐเฮสเซ่น-ทือริงเงิน (Helaba) ธนาคาร ชปาร์คาสเซอหรือธนาคารเพื่อการออมทรัพย์ของเยอรมัน (Sparkasse Bank) ธนาคารเพื่อการพัฒนาการเกษตรและธุรกิจเกษตรของเยอรมัน (Rentenbank) และกองทุน InsuResilience Solutions Fund (ISF) เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการดำเนินงานและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น สินเชื่อสีเขียวเพื่อธุรกิจการเกษตรที่ยั่งยืน สินเชื่อเพื่อส่งเสริมห่วงโซ่คุณค่าภาคการเกษตรในพื้นที่ชนบท การออกตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond) และการประกันภัยความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น
ในช่วงท้ายของการศึกษาดูงาน ณ กรุงเบอร์ลินคณะศึกษาดูงานพร้อมผู้แทนสถานทูตไทยประจำเยอรมนีได้เดินทางเข้าพบผู้แทนจาก กระทรวงเศรษฐกิจและการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) และกองทุน Mitigation-Action Facility ในฐานะผู้ให้ทุนโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงโครงการไทย ไรซ์ นามา (Thai Rice NAMA) ในประเทศไทยด้วย และได้มีโอกาสหารือเกี่ยวกับความสำคัญของนโยบายและการสนับสนุนด้านการเงินเพื่อมุ่งเน้นสู่การพัฒนามาตรการการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและรับมือผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสองประเทศ
ฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า “การศึกษาดูในครั้งนี้ ธ.ก.ส.ได้รับองค์ความรู้หลายด้านทั้งด้านนวัตกรรมการเกษตรและการเงินสีเขียว รวมทั้งทิศทางนโยบายระหว่างประเทศที่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่การเงินสีเขียวของภาคเกษตร จึงเป็นทั้งเป็นโอกาสและความท้าทายอย่างยิ่งของธ.ก.ส. ในการเตรียมความพร้อมและพัฒนาสมรรถนะบุคคลากรให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบต่อความเสี่ยงในภาคเกษตรและการเงินการธนาคารของประเทศไทย อีกทั้งธ.ก.ส. มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรให้เข้าถึงการสนับสนุนด้านนวัตกรรมเพื่อการเกษตรสีเขียวและเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อรับมือกับผลกระทบและความเสี่ยงที่คาดไม่ถึงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ธ.ก.ส. และ GIZ จะเป็นพันธมิตรที่แน่นแฟ้นและสนับสนุนซึ่งกันและกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและการเปลี่ยนผ่านภาคการเกษตรไทยสู่การเกษตรที่ยั่งยืน”
ทิม มาห์เลอร์ ผู้อำนวยการด้านการพัฒนาธุรกิจและอดีตผู้อำนวยการ GIZ ประเทศไทย กล่าวเน้นย้ำว่า “ธ.ก.ส.และ GIZ ทำงานร่วมกันอย่างยาวนานเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนในภาคการเกษตร การให้เกษตรกรได้เข้าถึงเครื่องมือทางการเงินมีความจำเป็น เพราะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยสร้างความตระหนักรู้ในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมต่อไป” ■
บทความที่เกี่ยวข้อง
- GIZ เปิดตัวโครงการการพัฒนาบริการทางการเงินเชิงนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมภาคเกษตรไทยรับมือกับความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศ
- ไทย ไรซ์ นามา เดินหน้ามาตรการทางการเงิน พร้อมสนับสนุนเกษตรกรเพิ่มประสิทธิภาพการทำนาลดโลกร้อน
- ไทย-เยอรมันร่วมหารือแนวทางพัฒนากลไกทางการเงินเพื่อส่งเสริมการทำนาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก-ความยั่งยืนภาคเกษตรไทย