การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันมีความรุนแรงจนส่งผลกระทบอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อม โดยระบบนิเวศที่เสื่อมโทรมยังทำให้ผลผลิตกาแฟและรายได้ของเกษตรกรลดลง เพื่อช่วยเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟรายย่อยรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ภายใต้โครงการ “ความยั่งยืนและการเพิ่มมูลค่าเพิ่มในห่วงโซ่อุปทานการเกษตร” ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือพันธมิตรระดับโลก ในการกำกับดูแลของกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งสหพันธรัฐเยอรมนี (BMZ) ได้ร่วมกับพันธมิตรภาคเอกชน คือ บริษัท เนสท์เล่ ในการพัฒนาโครงการฯ โดยใช้หลักพหุวิทยาการ ทั้งแนวทางการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งพันธมิตรทั้งหมดเล็งเห็นถึงศักยภาพของโครงการฯ ในการช่วยพัฒนาระบบนิเวศแวดล้อมและยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น
ด้วยความพยายามที่จะสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟรายย่อยให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงมากขึ้น ในปี พ.ศ. 2565 องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมันและบริษัท เนสท์เล่ ได้ตกลงที่จะดำเนินโครงการ “ยกระดับคุณภาพชีวิตและความพร้อมในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของผู้ผลิตกาแฟรายย่อยด้วยระบบการผลิตแบบเกษตรกรรมฟื้นฟู” หรือ “คอฟฟี่ดับเบิ้ลพลัส (Coffee++)” ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการ “พัฒนาระบบการผลิตกาแฟของผู้ประกอบการรายย่อยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” หรือ “คอฟฟี่พลัส (Coffee+)” ที่เริ่มดำเนินงานในปี พ.ศ. 2561 เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยในไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ปรับกระบวนการคิดให้มองการทำการเกษตรว่าเป็นการประกอบธุรกิจอย่างหนึ่งซึ่งจะช่วยพัฒนาระบบการจัดการสวนกาแฟให้มีผลผลิตและรายได้มากขึ้น
โครงการคอฟฟี่ดับเบิ้ลพลัสขยายพื้นที่เป้าหมายไปยังเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟรายย่อยในประเทศโกตดิวัวร์ (ไอวอรี่ โคสต์) ทวีปแอฟริกา และนำนวัตกรรมเชิงพหุวิทยาการเข้ามาใช้ในการดำเนินโครงการ โดยโครงการใหม่นี้มีวัตถุประสงค์ที่จะสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟรายย่อยในพื้นที่เป้าหมายในประเทศไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และโกตดิวัวร์ ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และมีส่วนช่วยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยการนำหลักเกษตรกรรมเชิงฟื้นฟูไปปฏิบัติ
นอกจากนั้น มาตรการใหม่ที่นำมาใช้ในโครงการคอฟฟี่ดับเบิ้ลพลัสยังรวมไปถึงการดำเนินงานด้านวนเกษตรในสวนกาแฟ การฟื้นฟูพื้นที่เกษตรกรรมและภูมิทัศน์ และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในการดำเนินกิจกรรมของโครงการฯ เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการทำงานไปอีกขั้นจากมาตรการเดิมที่เน้นให้การอบรมในหลักสูตรโรงเรียนธุรกิจเกษตร (Farmer Business School) เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของเกษตรกร เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลุ่มเกษตรกร การสร้างรายได้เพิ่มจากการปลูกพืชร่วมกับกาแฟ และการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนให้ดียิ่งขึ้น
โครงการฯ นี้มีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ. 2566 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2568 ซึ่งประเทศไทยมีพื้นที่ดำเนินโครงการฯ ในสองจังหวัดคือชุมพรและระนอง สำหรับในปีแรกนี้ประเทศไทยจะเริ่มดำเนินการด้านวนเกษตรควบคู่ไปกับการทำเกษตรกรรมเชิงฟื้นฟู นอกจากนี้ยังมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการดำเนินงาน อาทิ แอปพลิเคชันการจัดการฟาร์มอัจฉริยะ พร้อมทั้งการทำเกษตรเชิงฟื้นฟูเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและช่วยเพิ่มคาร์บอนในดิน ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เกษตรกรสร้างรายได้จากสวนเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเอื้อประโยชน์ต่อระบบนิเวศและสภาพภูมิอากาศ โดยแนวปฏิบัติการเกษตรเชิงฟื้นฟูที่โครงการฯ นำมาใช้ ได้แก่ การประเมินความอุดมสมบูรณ์ของดินเพื่อลดการใส่ปุ๋ยเกินความต้องการ การใช้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต การฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน การลดและควบคุมการชะล้างพังทลายของดิน การผลิตปุ๋ยหมักเพื่อใช้เอง รวมถึงการฟื้นฟูต้นพันธุ์กาแฟตามหลักปฏิบัติมาตรฐาน 4C ของประเทศเยอรมนี