
ท่านแรกดร. โทบิอัส ลินด์เนอร์ (Tobias Lindner) รัฐมนตรีช่วยประจำสำนักรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี พร้อมด้วย นายเกออร์ก ชมิดท์ (Georg Schmidt) เอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมชมและศึกษาดูงานแปลงนาสาธิตของโครงการฯที่อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี และผู้บริหารจากรมการข้าว ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และเทศบาลจังหวัดและอำเภอให้การต้อนรับ

ในวันสตรีสากล 8 มีนาคม นางอุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศนำคณะผู้บริหารประกอบด้วยนางอรุณี ไฮม์ม รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ร้อยโทสรวุฒิ ปรีดีดิลก อัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ ปฏิบัติราชการ ณ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมร่วมศึกษาดูงานและเรียนรู้เทคนิคการจัดการนาข้าวรักโลก
เกษตรกรสตรี สมาชิกโครงการไทย ไรซ์ นามา 2 ท่าน คือ คุณสวณีย์ โพธิ์รัง และคุณลำภา คำแผง ร่วมบอกเล่าประสบการณ์และความท้าทายของการเปลี่ยนผ่านจากรูปแบบวิธีการปลูกข้าวแบบดั้งเดิมที่ปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย มาเป็นการทำนาลดโลกร้อนด้วย 4 เทคโนโลยี การปรับหน้าดินด้วยระบบเลเซอร์ การทำนาระบบแห้งสลับเปียก การใช้ปุ๋ยสั่งตัด และลดการเผาทำลายหญ้าและตอซัง กรรมวิธีการปลูกสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ 30% เมื่อเทียบกับวิธีทำนาปกติ

ผู้บริหารระดับนโยบายระหว่างประเทศของทั้งเยอรมนีและไทยต่างชื่นชมความสำเร็จของเกษตรกรสมาชิกโครงการ ที่ความมุ่งมั่นในการปรับเปลี่ยนวิธีปลูกข้าวแบบเดิม ไปสู่การนำเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตและความยืดหยุ่นต่อความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
ปัจจุบันแปลงสาธิต “นารักโลก”เป็นศูนย์เรียนรู้สำหรับเกษตรกรทั่วประเทศที่ต้องการพัฒนาศักยภาพ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางการเกษตร เพิ่มผลผลิตข้าวได้มากขึ้น และช่วยให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเมื่อเร็ว ๆ นี้ กลุ่มเกษตรกรยังได้ลงนามความร่วมมือบริษัท ออมสุขวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัดเพื่อส่งเสริมข้าวลดโลกร้อนการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตจากภาคเกษตรกรรม โดยจะรับซื้อข้าวลดโลกร้อน 40 ตัน

โครงการทำงานร่วมกับภาครัฐทั้งในระดับนโยบาย และในระดับจังหวัดตั้งแต่ปีพ.ศ.2561 จัดฝึกอบรมเกษตรกรเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีลดก๊าซเรือนกระจกและแนวทางการทำนาแบบยั่งยืน และสนับสนุนการปรับเปลี่ยนวิธีการทำนาผ่านการจัดตั้งเงินทุนหมุนเวียนเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการปรับเปลี่ยนวิธีการทำนา วิธีนี้สามารถสร้างรายได้ที่มากขึ้นโดยการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม การจัดการที่มีประสิทธิภาพสำหรับปัจจัยทางการเกษตร (เช่น การประหยัดน้ำ และพลังงานจากการสูบน้ำ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลงฯลฯ) และการเชื่อมโยงตลาดในการขายข้าวที่ปล่อยมลพิษต่ำ สนับสนุนการพัฒนาธุรกิจโดยใช้ประโยชน์จากโครงการสินเชื่อสีเขียวสำหรับการลงทุน เพื่อให้บริการด้านเทคโนโลยีการผลิตข้าวที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำแก่เกษตรกร เช่น การปรับระดับพื้นที่ด้วยระบบเลเซอร์ การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง การใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และการจัดการฟางและตอซัง โครงการสนับสนุนการดำเนินการพัฒนารูปแบบและกลยุทธ์การขยายผล การพัฒนามาตรฐานข้าวยั่งยืน เพื่อบูรณาการโครงการเข้ากับแผนปฏิบัติงานและงบประมาณของรัฐบาลไทย ■