17 มีนาคม 2564

กระทรวงเกษตรฯ จับมือจีไอแซด ชูเทคโนโลยีปรับระดับพื้นที่ด้วยระบบเลเซอร์ช่วยชาวนาลดโลกร้อน

โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ “ไทย ไรซ์ นามา” (Thai Rice NAMA) พร้อมสนับสนุนให้เกษตรกรปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ โดยมีเป้าหมายโครงการกว่า 280,000 ไร่  เพิ่มโอกาสในการพัฒนาศักยภาพด้านการผลิตข้าวของไทย

พระนครศรีอยุธยา, 17 มีนาคม 2564 – กรมการข้าว ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำเทศไทย ภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ “ไทย ไรซ์ นามา” (Thai Rice NAMA) จัดงานสาธิตการปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ณ ตำบลสามบัณฑิต อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร อธิบดีกรมการข้าว นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ และเกษตรกรในจังหวัดพื้นที่เข้าร่วมงานกว่า 200 ราย

นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร อธิบดีกรมการข้าว

การจัดงานสาธิตในครั้งนี้มุ่งหวังให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและเกษตรกรได้เข้าใจถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยเทคโนโลยี 4 ป. ที่เป็นหลักสำคัญของการทำนา ของโครงการ ไทย ไรซ์ นามา (Thai Rice NAMA) คือ ป.ที่หนึ่ง ปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ ป.ที่สอง เปียกสลับแห้ง ป.ที่สาม ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และ ป.สุดท้าย แปรสภาพฟางและตอซังข้าว โดยเน้นส่งเสริมการปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์

นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า การปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ เป็นเทคโนโลยีหลักที่จะสนับสนุนให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นในการปฏิบัติเทคโนโลยีอื่น เช่น ลดการใช้น้ำและค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้สูบน้ำด้วยการจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง ลดอัตราการสูญเสียปุ๋ยและข้าวได้รับปุ๋ยสม่ำเสมอทั่วกันทั้งแปลงนาจากการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน

“นาแปลงใหญ่กับบทบาทผู้นำการเปลี่ยนแปลง กรมการข้าวมุ่งดำเนินงานส่งเสริม ถ่ายทอดความรู้ผ่านนาแปลงใหญ่ในพื้นที่ 6 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ชัยนาท สิงห์บุรี สุพรรณบุรี และปทุมธานี เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ส่งต่อสู่เกษตรกรรายย่อยอย่างครอบคลุมและทั่วถึงโดยการจัดงานสาธิตในครั้งนี้ กรมการข้าวหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถทำให้เกิดการยอมรับของชาวนาในวงกว้าง ทั้งในจังหวัดพื้นที่เป้าหมายและพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป”

เจ้าหน้าที่สาธิตและอธิบายการทำงานของเครื่องอัดหญ้าแห้ง และฟางแห้ง

นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า การพัฒนาการผลิตภาคการเกษตรโดยใช้นวัตกรรมก็เป็นหนึ่งใน 3 ประเด็นพัฒนาของจังหวัด ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มในภาคเกษตร โดยใช้นวัตกรรมและภูมิปัญญาที่สร้างสรรค์ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เสริมสร้างอาชีพและความการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายในท้องถิ่น

เกษตรกรผู้สนใจการปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์จะได้รับการสนับสนุนทุนจากภาครัฐเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตข้าวยั่งยืน
“การปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์นี้ จะเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่จะสนับสนุนการสร้างเครือข่าย การลดต้นทุนการผลิต และการส่งเสริมอาชีพการเกษตรเพื่อสร้างรายได้ในชุมชนได้อย่างยั่งยืนภายในท้องถิ่น เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชาวนาไทยและเกษตรกรไทยทุกท่าน”

โอเล่ เฮนริกเซ่น ผู้อำนวยการโครงการ ไทย ไรซ์ นามา (Thai Rice NAMA) กล่าวว่า เกษตรกรไทยควรได้เข้าถึงเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วในทุกวันนี้ และการสนับสนุนจากภาครัฐเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้แก่เกษตรกรเพื่อการพัฒนาภาคผลิตข้าวอย่างยั่งยืน
โอเล่ เฮนริกเซ่น ผู้อำนวยการโครงการ ไทย ไรซ์ นามา
“การพัฒนาตามเป้าหมายแผนและนโยบายของประเทศที่วางไว้ตามกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และตัวเกษตรกรเอง เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เกษตรกรเองต้องปรับตัวเพื่อให้เท่าทันกับเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน และภาครัฐก็เป็นผู้สนับสนุนหลักที่จะผลักดันให้เกษตรกรได้เข้าถึง”

โครงการ ไทย ไรซ์ นามา (Thai Rice NAMA) ได้พัฒนาแผนการดำเนินงานสำหรับเทคโนโลยีลดก๊าซเรือนกระจก ผ่านการจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการฯ คณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ คณะทำงานของโครงการฯ และคณะอนุกรรมการโครงการฯ ระดับจังหวัดในพื้นที่เป้าหมาย 6 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ชัยนาท สิงห์บุรี สุพรรณบุรี และปทุมธานี โดยจัดกิจกรรมพัฒนาและเสริมสร้างการทำนาแบบยั่งยืนและลดโลกร้อน พัฒนายุทธศาสตร์ตลาดข้าวยั่งยืน และจัดตั้งระบบเงินทุนหมุนเวียนเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงเทคโนโลยีแก่เกษตรกร
นายสินสมุทร คงประโยชน์ (ขวามือ) กำลังสาธิตวิธีการควบคุมวัชพืชในที่นาให้กับเพื่อนเกษตรกรที่มาร่วมงาน

นายสินสมุทร  คงประโยชน์ ชาวนาตำบลสามบัณฑิตและเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2531 ผู้ตัดสินใจทำการปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ กล่าวในฐานะตัวแทนเกษตรกรถึงความตื่นตัวของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่โครงการต่อเทคโนโลยีการผลิตข้าวยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“การปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ช่วยประหยัดเวลาในการสูบน้ำเข้าแปลงนาได้มาก ไม่ต้องคอยเฝ้าทั้งวันทั้งคืน และยังช่วยให้จัดการแปลงนาได้สะดวกขึ้น ทำนาได้ปลอดภัยมากขึ้นด้วย เพราะพื้นนาเรียบเสมอกัน ไม่เป็นหลุมเป็นบ่อ และการทำปฏิบัติตามเทคโนโลยีเหล่านี้ ทำให้รู้สึกว่าได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมจากการทำงานของเราด้วย”

อธิบดีกรมการข้าว นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร (คนที่ 2 จากซ้าย) ถ่ายภาพร่วมกับทีมภาคสนามโครงการไทยไรซ์ นามา
โอเล่ เฮนริกเซ่น ผู้อำนวยการโครงการ ไทย ไรซ์ นามา (Thai Rice NAMA) และ ไพรัช หวังดี ผู้จัดการโครงการภาคสนามอาวุโส

ติดต่อเรา

  • +66 2 255 4202
  • asean-agrifood@giz.de
  • 39/1 ซอยสุขุมวิท 13, ถนนสุขุมวิท, คลองเตยเหนือ, วัฒนา, กรุงเทพฯ 10110 ประเทศไทย

การเยี่ยมชม

สื่อและแหล่งข้อมูล

โครงการ

การป้องกันข้อมูล

สมัครจดหมายข่าว

ติดตามเรา

  • Copyright © 2014 - 2019 | Sustainable Agrifood Systems in ASEAN