04 เมษายน 2565

โครงการ Thai Rice NAMA ยกระดับความช่วยเหลือปี 65 ให้เงินอุดหนุน 50% ‘คนละครึ่ง’ สำหรับชาวนาและผู้ประกอบการที่สนใจเพื่อการทำนาวิถีใหม่ลดโลกร้อน

พิชญนันท์ พรหมพิชญานนท์ กลุ่มเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร

โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ ‘ไทย ไรซ์ นามา’ เปิดตัวมาตรการยกระดับความช่วยเหลือโดยเพิ่มมาตรการสนับสนุนด้านการเงิน “คน-ละ-ครึ่ง” เพื่อผลักดันเทคโนโลยีเพิ่มผลผลิตข้าวและส่งเสริมการทำนาวิถีใหม่เพื่อลดโลกร้อน

นายณัฎฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการโครงการ ไทย ไรซ์ นามา กล่าวว่ามาตรการความช่วยเหลือทางการเงินชุดล่าสุดนี้ ถูกออกแบบมาสำหรับชาวนาและผู้ให้บริการทางการเกษตรในพื้นที่ดำเนินโครงการ 6 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี  อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และสุพรรณบุรี โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

มาตรการสนับสนุนควบคู่ หรือแพ็กเกจ 1  สำหรับชาวนาที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถเลือกสมัคร หากได้รับการอนุมัติ จะได้รับเงินอุดหนุน 50% พร้อมกับเงินทุนหมุนเวียนอีก 50% รวมสูงสุด 2,000 บาทต่อไร่

โปร 2  สำหรับผู้ให้บริการทางการเกษตรเพื่อจัดซื้อชุดอุปกรณ์ปรับหน้าดินด้วยระบบเลเซอร์ (Laser Land Levelling: LLL)  โดยให้เงินอุดหนุนถึง 50% ของราคาชุดอุปกรณ์แต่ไม่เกิน 200,000 บาทต่อราย นอกจากนี้ผู้ที่สนใจร่วมเป็นผู้ให้บริการปรับ LLL สามารถขอรับการอบรมที่โครงการฯ จัดให้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย

“มาตรการสนับสนุน คนละครึ่ง เพื่อการเกษตรครั้งนี้จะช่วยให้ทั้งชาวนาและผู้ให้บริการทางการเกษตรผู้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนภาคการผลิตข้าวของไทย สามารถผลักดันเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่มีความสำคัญและจำเป็นยิ่งในการทำนาวิถีใหม่เพื่อลดโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” นายณัฎฐกิตติ์กล่าว

โครงการไทย ไรซ์ นามา มีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ และได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก NAMA Facility  โดยได้รับการสนับสนุนในการดำเนินการโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กรมการข้าว องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และหน่วยงานพันธมิตรต่าง ๆ เพื่อพัฒนายุทธศาสตร์ตลาดข้าวยั่งยืน และจัดตั้งระบบเงินทุนหมุนเวียนเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงเทคโนโลยีแก่ชาวนา พร้อมส่งเสริมเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการทำนาลดโลกร้อน ตามมาตรการ  ‘3 เพิ่ม 3 ลด’ คือ เพิ่มผลผลิตข้าว เพิ่มคุณภาพข้าว เพิ่มรายได้ ลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้น้ำ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและภาวะโลกร้อน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนให้กับชาวนาไทยราวหนึ่งแสนครัวเรือนในพื้นที่ดำเนินโครงการ

ข้าวมีความสำคัญอย่างยิ่งในประเทศไทย เนื่องจากมีพื้นที่เพาะปลูกประมาณครึ่งหนึ่งของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งประเทศ และการทำนาในประเทศปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 55% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรทั้งหมด ส่งผลให้การทำนาข้าวของประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 4 ของโลกเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ นอกจากนี้การขังน้ำในนาข้าวในพื้นที่เขตนาชลประทานส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งมีศักยภาพการก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่า อีกทั้งการขาดแรงจูงใจเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ชาวนาไทยไม่ต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงการผลิตข้าวแบบดั้งเดิมไปสู่การผลิตข้าวแบบใหม่ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและภาวะโลกร้อน โอเล เฮ็นริกเซ่น ผู้จัดการโครงการกล่าว

และเมื่อเร็ว ๆ นี้ นายพงษ์พันธ์ จงรักษ์ ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)  พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ในฐานะผู้จัดการเงินทุนสนับสนุนภายใต้โครงการไทย ไรซ์ นามา ได้ลงพื้นที่ที่จังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อประชุมหารือแนวทางการขับเคลื่อนและดำเนินงานมาตรการ ในพื้นที่นำร่อง 6 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สุพรรณบุรี  พร้อมกันนี้ยังได้เข้าพบปะชาวนาและเยี่ยมชมแปลงนาสาธิตที่ได้รับการปรับพื้นที่ด้วยระบบเลเซอร์ (LLL) ของโครงการไทย ไรซ์ นามา ในจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อรับทราบการปฏิบัติตามแนวทางการปลูกข้าวแบบลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 4ป+1 ประกอบด้วย การปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ (LLL) การจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง การจัดการปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การจัดการฟางและตอซัง และการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน

ผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการและรับเงินอุดหนุน “คนละครึ่ง” สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงาน GIZ ศูนย์วิจัยข้าว ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว สถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี หรือ สำนักงานเกษตรอำเภอ ในพื้นที่ 6 จังหวัด ตั้งแต่วันนี้ถึงจนถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 เท่านั้น

ติดต่อเรา

  • +66 2 255 4202
  • asean-agrifood@giz.de
  • 39/1 ซอยสุขุมวิท 13, ถนนสุขุมวิท, คลองเตยเหนือ, วัฒนา, กรุงเทพฯ 10110 ประเทศไทย

การเยี่ยมชม

สื่อและแหล่งข้อมูล

โครงการ

การป้องกันข้อมูล

สมัครจดหมายข่าว

ติดตามเรา

  • Copyright © 2014 - 2019 | Sustainable Agrifood Systems in ASEAN