GIZ ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร จัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประเด็นปัญหาการเผาการเผาเศษซากพืชหรือวัชพืช และเศษวัสดุทางการเกษตรในพื้นที่การเกษตรกรรม ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศในภาคเหนือของประเทศไทย
การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้แก่ กรมการข้าว สำนักงานจังหวัดเชียงราย สำนักงานส่วนภูมิภาคและจังหวัดจากกรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย ธนาคารเพื่อการเกษตรและการเกษตรสหกรณ์ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ บริษัท อูรมัต จำกัด บริษัทเป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จํากัด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยแม่โจ้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ทั้งหมด 66 ท่านเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่เกษตรกรรม
ในช่วงระยหลายปีที่ผ่านมา จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่และจังหวัดพื้นที่ใกล้เคียงทางภาคเหนือตอนบนต้องเผชิญกับภาวะหมอกควันรุนแรงและฝุ่นพิษ PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน เมื่อต้นปี พ.ศ. 2566 ทั้งสองจังหวัดอยู่ในลำดับต้น ๆ ของโลกที่มีมลพิษทางอากาศสูงสุดและส่งผลต่อภาวะสุขภาพ โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ การเผาในพื้นที่เกษตรกรรมยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ว่าที่ร้อยตรีดุจเดี่ยว วงศ์ภักดิ์ เกษตรจังหวัดเชียงราย ในฐานะผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายเข้าร่วมกิจกรรมกล่าวว่า “ปัญหาหมอกควันและมลพิษทางอากาศเป็นปัญหาที่ชาวจังหวัดเชียงรายต้องเผชิญตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา จังหวัดให้ความสำคัญในการรณรงค์ลดการเผา โดยประกาศขอความร่วมมืองดเผาในที่โล่ง และได้ประชาสัมพันธ์โครงการต้นแบบ “เกษตรปลอดการเผา” เพื่อลดปัญหาหมอกควันและไฟป่าอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการส่งเสริมและจัดการเศษซากพืชหรือวัชพืชและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่นฟางข้าวและตอซังข้าวโพดไปสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นอาหารสัตว์ ทำปุ๋ยหมัก เพาะเห็ดและเชื้อเพลิงชีวมวล นับเป็นการลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรอีกทางหนึ่ง”
นางพจมาน วงษ์สง่า ผู้อำนวยการโครงการ GIZ นำเสนอ “โครงการการนำร่องการใช้ประโยชน์ฟางข้าวอย่างยั่งยืน” ให้กับผู้เข้าร่วมการประชุม โครงการนี้มีจุดเริ่มต้นจากสำนักเลขาธิการอาเซียน เพื่อส่งเสริมวิธีการแปรรูปฟางข้าวและเศษชีวมวล เช่นการทำปุ๋ยหมักทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีที่ราคาแพง ช่วยลดต้นทุนการผลิต ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเผาและการใช้ปุ๋ยเคมี และยังสามารถสร้างรายได้เพิ่มแก่เกษตรกร
สำหรับช่วงกิจกรรม ผู้เข้าร่วมประชุมร่วมแสดงความคิดเห็นและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาการเผาเศษวัสดุจากการเกษตร โดยกลุ่มตัวแทนเกษตรกรให้ข้อมูลว่าปัญหาเรื่องการเผายังไม่หมดไป เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายยังไม่เข้มงวด เกษตรกรบางกลุ่มขาดความรู้ความเข้าใจในการจัดการฟางข้าวที่ถูกต้อง ขาดการสนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์เพื่อไถกลบและแปรรูปฟางข้าว รวมถึงปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ความเชื่อเรื่องการเผาป่ามีความเชื่อมโยงกับเตรียมพื้นที่เพื่อเพาะปลูกของเกษตรกร การเผาด้วยความคึกคะนองหรือต้องการกลั่นแกล้งกัน จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการวางแผนพื้นที่การเกษตรแบบองค์รวม และส่งเสริมการหยุดเผาด้วยการประยุกต์ใช้วิธีการจัดการฟางข้าวที่เหมาะสม
ดร.อรทัย ใจตุ้ย ผู้อำนวยการกลุ่มวิเทศสัมพันธ์และโครงการพิเศษ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ข้าว กรมการข้าว ให้เกียรติกล่าวปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ และกล่าวขอบคุณผู้ร่วมงานจากทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานของภาครัฐบาล ภาคเอกชนและกลุ่มเกษตรกร ที่มาร่วมแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์เพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาการเผาเศษวัสดุจากการเกษตรและขอความร่วมมือจากทุกหน่วยงานร่วมทำงานและทำกิจกรรมร่วมกันต่อไป ■