เป็นเวลาประมาณสองปีแล้วที่ชนัญญา เชวงโชติ วางมือจากอาชีพเชฟอาหารในต่างแดน และเดินทางกลับบ้าน เพื่อมาดูแลบิดาอายุ 85 ปี และสวนมะพร้าวขนาด 35 ไร่ที่อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี
คุณชนัญญา หรือกุ้ง ชื่อเล่นที่คนในครอบครัวเรียกคือสมาชิกรุ่นทีสองของสวนลุงชะเอม เธอเติบโตที่สวนมะพร้าวของพ่อ ถึงแม้จะไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศเกือบ 10 ปี คุณกุ้งก็มีความตั้งใจที่จะกลับมาช่วยครอบครัวดูแลกิจการ “สวนลุงชะเอม“ สวนมะพร้าวที่กำลังเผชิญกับความท้าทายจากความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปัจจัยแวดล้อมในทุก ๆ ด้าน ทั้งน้ำเค็มรุกล้ำสวน สภาพดินเสื่อมโทรม ศัตรูพืช แรงงานขาดแคลน ฯลฯ หลังจากคุณกุ้งกลับมาช่วยคุณพ่อดูแลจัดการสวนลุงชะเอมไม่นาน เกษตรกรมือใหม่ต้องเผชิญกับการระบาดของหนอนด้วงมะพร้าวหัวดำทำลายผลผลิตมะพร้าวทั้งสวนเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้คุณกุ้งต้องลงมือจัดการสวนมะพร้าวอย่างจริงจังเพื่อลดผลกระทบต่อผลผลิตและรายได้ของครอบครัว
เชฟหญิงผู้ผันมาเป็นเกษตรกรได้รับคำแนะนำให้เข้าร่วมโครงการการฟื้นฟูด้วยเกษตรอินทรีย์สำหรับมะพร้าวน้ำหอมอย่างยั่งยืน (Regenerative Coconut Agriculture Project: ReCAP) เมื่อราวกลางปี พ.ศ. 2564 คุณกุ้งไม่ลังเลที่จะเข้าร่วมอบรม และเธอคือเกษตรกรรุ่นแรกที่ได้เข้าร่วมอบรมกับโครงการ เพื่อเปลี่ยนผ่านจากการทำเกษตรกรรมสวนมะพร้าวในรูปแบบเดิมคือ การปลูกมะพร้าวเชิงเดี่ยวและใช้สารเคมีจำนวนมาก ไปสู่วิถีเกษตรอินทรีย์เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความยั่งยืนให้กับวิถีเกษตรอินทรีย์สำหรับสวนมะพร้าวน้ำหอม
หลังจากได้เข้าร่วมอบรมกับโครงการ คุณกุ้งได้เรียนรู้ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการปลูกพืชคลุมดิน โดยเฉพาะ “ใบต่างเหรียญ” เพื่อลดปัญหาการพังทะลายของหน้าดินและปรับปรุงคุณภาพและรักษาความชุ่มชื้นของดิน เทคนิคนี้สามารถนำมาปฏิบัติใช้ได้ง่าย ๆ แต่ไม่เป็นที่นิยมในกลุ่มเกษตรกรสวนมะพร้าวในอดีต ด้วยความเข้าใจว่าใบต่างเหรียญคือวัชพืชที่เข้ามาแย่งสารอาหารในดินและส่งผลกระทบต่อการเติบโตของต้นมะพร้าวน้ำหอมและผลผลิต
“ไม่เคยคิดว่าพืชคลุมดินที่คนรุ่นก่อน ๆ มองว่าเป็นวัชพืชที่ต้องถอนทิ้งตลอดเวลา จะช่วยปรับปรุงคุณภาพดิน เพิ่มความชุ่มชื้นและช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรสวนมะพร้าวอย่างไม่น่าเชื่อ” คุณชนัญญากล่าวพร้อมเสริมด้วยว่า มีเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวในพื้นที่ใกล้เคียงมาซื้อใบต่างเหรียญที่บ้านของเธอสามารถขายได้ 200 บาทต่อกระสอบ
ที่สวนลุงชะเอมภายใต้การบริหารจัดการของคุณชนัญญา มีทั้งใบต่างเหรียญ และยังมีการปลูกพืชหมุนเวียนแบบผสมผสานเพื่อสร้างรายได้ตลอดทั้งปีอย่างกล้วย ถั่วแระญี่ปุ่น และสมุนไพรทั้งใบชะพลู ใบเตยหอม ขิงและตะไคร้เป็นต้น และยังมีรายได้เสริมจากการขายน้ำผึงชันโรง นอกจากนี้คุณชนัญญายังนำประสบการณ์จากการเป็นเชฟมาต่อยอดด้วยการผลิตไอศกรีมมะพร้าวน้ำหอม และรสผลไม้ต่าง ๆ ที่หาวัตถุดิบได้จากในสวน สร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้อย่างงดงาม
ในฐานะเกษตรกรรุ่นแรกที่ได้รับการอบรมกับโครงการฯ คุณชนัญญามีแผนที่จะจัดการสวนให้ได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี เพื่อขยายโอกาสทางการตลาดให้กับผลผลิตมะพร้าวจากสวนของตนด้วย
“ต้องขอขอบคุณโครงการ ReCAP ที่ให้โอกาสกับเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอมได้มีโอกาสเข้าร่วมอบรมและเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ทำให้สามารถนำมาปรับปรุงและจัดการสวนให้ดีขึ้น สร้างโอกาสการแข่งขันทางการตลาดไปสู่นานาชาติได้ สำหรับเกษตรกรรุ่นใหม่ หากเราเรียนรู้และทำงานลงมือดูแลสวนมะพร้าวด้วยวิถีเกษตรอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่าไม่นาน สวนมะพร้าวน้ำหอมก็จะทำงานดูแลเราเกษตรกรในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน” คุณชนัญญากล่าว
การจัดการขยะจากสวนมะพร้าว
เช่นเดียวกับคุณชนัญญา จารุวัฒน์ หงส์ศุภางค์พันธุ์ คือเกษตรกรสวนมะพร้าวรุ่นที่สอง เมื่อเรียนจบและใช้ชีวิตอยู่ในกรุงทพ ฯ ได้ช่วงหนึ่ง จึงตัดสินใจกลับบ้านและช่วยครอบครัว ต่อยอดธุรกิจจากผู้ผลิตมะพร้าวน้ำหอมมาเป็นผู้ขายด้วย
ทุก ๆ วันธุรกิจของคุณจารุวัฒน์ ต้องจัดการกับขยะจากสวนมะพร้าวโดนเฉพาะกากมะพร้าวและกะลามะพร้าวเป็นจำนวนหลายตันต่อวัน คุณเอ็มจึงเริ่มหาข้อมูลจากหน่วยงานราชการทั้งกรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตรในชุมชน จนได้รับคำแนะนำให้รู้จักกับโครงการ ReCAP และไม่รีรอที่จะสมัครเข้าร่วมอบรมกับโครงการเพื่อเรียนรู้วิธีการทำปุ๋ยจากกากมะพร้าวและกะลามะพร้าวหมักผสมกับมูลไก่ ไว้ใช้ในสวนมะพร้าวและมีแผนที่จะจัดจำหน่ายปุ๋ยหมักให้กับเกษตรกรในชุมชนด้วยเช่นกัน
คุณจารุวัฒน์มองว่า การทำปุ๋ยหมักไว้ใช้หรือทำขายในชุมชนเป็นเรื่องจำเป็น แม้ว่าจะไม่ได้ช่วยเร่งผลผลิตได้อย่างรวดเร็วเหมือนปุ๋ยเคมี แต่มีความสำคัญต่อต้นทุนการผลิต และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ด้วยสภาวะเศรษฐกิจและปัจจัยความไม่สงบจากการสู้รบในต่างประเทศ ส่งผลต่อราคาปุ๋ยเคมี พุ่งตัวสูงขึ้นอย่างมาก เมื่อได้เข้าร่วมอบรมกับโครงการ คุณเอ็มนำปุ๋ยหมักมาใช้ในสวนมะพร้าวขนาด 14 ไร่และสามารถลดค่าใช้ได้เฉลี่ย 40,000-50,000 บาทต่อรอบการเก็บเกี่ยวผลผลิตมะพร้าวน้ำหอม ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 4-5 เดือน
“โครงการนี้ช่วยให้เกษตรกรสามารถเปลี่ยนขยะและวัสดุเหลือใช้จากสวนมะพร้าวมาเป็นผลิตภัณฑ์ปุ๋ยหมักสร้างมูลค่า และประโยชน์ต่อการจัดการสวนเกษตรในเชิงเศรษฐกิจ อีกทั้งยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสร้างมูลค่าและความยั่งยืนให้กับผลิตภัณฑ์มะพร้าวน้ำหอมของชุมชนด้วย” คุณจารุวัฒน์กล่าว
ปัจจุบันผลผลิตมะพร้าวจากสวนของครอบครัวคุณจารุวัฒน์ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จากกระทรวงเกษตรสหรัฐ (US Department of Agriculture:USDA) คุณจารุวัฒน์กล่าวเพิ่มเติมว่ามีแผนยกระดับมาตรฐานสวนมะพร้าวของตนเองให้ได้รับการรับรองมาตรฐานการฟื้นฟูด้วยเกษตรอินทรีย์ (Regenerative Organic Certified:ROC) ซึ่งเป็นมาตรฐานองค์รวมที่ยกระดับเพิ่มขึ้นจากมาตรฐาน USDA เป้าหมายหลักคือส่งเสริมการฟื้นฟูเกษตรอินทรีย์ในทางปฏิบัติ นำไปสู่การเพิ่มคุณภาพดินเมื่อเวลาผ่านไป ลดระดับคาร์บอนทั้งชั้นใต้ดินและหน้าดินเพื่อลดปัญหาสภาวะโลกร้อน คุณจารุวัฒน์หวังว่า การนำแนวทางเกษตรเหล่านี้มาสู่การปฏิบัติจริงจะช่วยสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับสวนมะพร้าวของตนและคนงานของสวนด้วย
“มาตรฐานสากลช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับผลผลิตมะพร้าวน้ำหอมของไทย เป็นใบเบิกทางไปสู่โอกาสทางการตลาดซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นมากเพราะ สถานการณ์การแข่งขันรุนแรงได้ เกษตรกรไทยจะอยู่ได้ยากมากหาไม่รู้จักมองหาโอกาสและช่องทางทางการตลาดและพัฒนาคุณภาพผลผลิตมะพร้าวน้ำหอมของเราให้ไปได้ในตลาดที่กว้างขึ้น” คุณจารุวัฒน์กล่าว
การลงทุนธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ
ขจีพรรณ บุญศิริ ผู้จัดการด้านความยั่งยืนของบริษัท ฮาร์มเลส ฮาร์เวส ประเทศไทย กล่าวว่า การได้ทำงานภายใต้โครงการ ReCAP เป็นไปตามวัตถุประสงค์ขององค์กรที่จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานเกษตรที่ได้รับการรับรองโดยกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐ (United States Department of Agriculture: USDA) และมาตรฐานแฟร์ ฟอร์ ไลฟ์ (Fair for Life) ที่จะช่วยให้ความรู้เกี่ยวกับวิถีเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้เกษตรกรมะพร้าวน้ำหอมรายย่อยนำไปปฏิบัติใช้
“เราไม่สามารถทำวิถีเกษตรอินทรีย์คนเดียวได้ ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชนและชุมชนต้องร่วมมือกันเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม“ คุณขจีพรรณกล่าว
โครงการ ReCAP ได้สร้างสะพานเชื่อมโยงภาครัฐ ชุมชนเกษตร และภาคเอกชนอย่างเป็นระบบ ภาคเอกชนสามารถใช้ช่องทางนี้ในการส่งต่อความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการจัดการโครงสร้างธุรกิจ ซึ่งมีความสำคัญมาก แต่เกษตรกรรายย่อยยังขาดทักษะและความรู้การจัดการสวนมะพร้าว นอกจากนี้โครงการยังเชื่อมต่อภาครัฐ และหน่วยงานวิชาการมาให้ความรู้และร่วมหาแนวทางมาตรฐานการเกษตรที่เหมาะสมกับบริบทของนโยบายประเทศและที่สำคัญที่สุดคือความต้องการของผู้บริโภค
ผู้บริโภคในปัจจุบันให้ความสำคัญกับมาตรฐานความปลอดภัยและที่มาของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ผู้ผลิตเองก็ให้ความสำคัญกับแหล่งที่มาของวัตถุดิบและส่วนประกอบว่าควรมาจากแหล่งที่มาที่มีความรับผิดชอบและมีมาตรฐานการจัดการแรงงานที่เป็นธรรม ปัจจัยเหล่านี้ช่วยสร้างศักยกภาพการแข่งขันให้กับผลิตภัณฑ์ และแนวโน้มทางธุรกิจจะเป็นไปในทิศทางนี้มากขึ้น
โครงการได้สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ กับเกษตรกรมะพร้าวน้ำหอมผ่านกิจกรรมการอบรมตลอดระยะเวลาสามปีของการดำเนินงาน มีเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมากกว่า 400 คนได้รับการอบรม นอกจากชนัญญาและจารุวัฒน์และยังมีเกษตรกรอีกหลายรุ่นที่ได้นำความรู้ที่ได้รับไปปฏิบัติใช้และต่อยอดจนประสบความสำเร็จแล้ว
ลิซา เฟาสต์ ผู้จัดการโครงการ ReCAP กล่าวว่าทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะนำผลที่ได้จากการดำเนินโครงการมาประเมินความเป็นไปได้ในการต่อยอดการอบรม ส่งเสริมการถ่ายทอดองค์ความรู้ และถ่ายโอนเครื่องมือและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสวนมะพร้าวน้ำหอมด้วยวิถีเกษตรอินทรีย์ให้กับชุมชนก่อนสรุปจบโครงการต่อไป ■