12 พฤษภาคม 2564

เกษตรกรต้นแบบร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์พร้อมเดินหน้าการปลูกมะพร้าวยั่งยืน

เจ้าหน้าที่จากฮาร์มเลส ฮาร์เวสท์ ให้คำแนะนำแก่เกษตรกรต้นแบบเกี่ยวกับผลการทดสอบดินของเกษตรกรแต่ละราย

ราชบุรี ในช่วงที่ประเทศไทยอุณหภูมิเกือบ 40 องศาเซลเซียส แต่ที่ อะโรแมติก ฟาร์ม (Aromatic Farm) อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี แหล่งปลูกมะพร้าวที่ขึ้นชื่อว่าดีที่สุดในโลกยังคงพอมีร่มเงา และลมเย็นสบาย กลุ่มเกษตรกรสามารถยืนพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กันกลางแจ้งได้พร้อมกับดื่มมะพร้าวน้ำหอมคลายร้อน ไปพร้อม ๆ กับเนื้อมะพร้าวอ่อนหอมหวานแสนอร่อยที่พบได้เฉพาะพันธุ์พิเศษของประเทศไทยเท่านั้น ทุกคนมารวมตัวกันทำ “กิจกรรมพบปะเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับเกษตรกรต้นแบบ” (ReCAP Pilot Farmers’ Reunion) และเยี่ยมชมสวนมะพร้าวเกษตรอินทรีย์วิถีไทย นับเป็นการรวมตัวครั้งแรกของเกษตรกรต้นแบบทั้งหมด 13 คน หลังจากได้เข้าร่วมกิจกรรมฝึกอบรมการฟื้นฟูเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืน เกี่ยวกับการจัดการฟาร์ม สุขภาพดิน ปัจจัยการผลิตการเกษตรอินทรีย์         การจัดการศัตรูพืช และแนวทางการฟื้นฟูด้วยเกษตรอินทรีย์ (Regenerative Organic Agriculture)  เมื่อปลายปี 2563 ที่ผ่านมา

องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ร่วมกับฮาร์มเลส ฮาร์เวสท์ (Harmless Harvest) และดานอน กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบนิเวศ (Danone Ecosystem Fun) เดินหน้า โครงการการฟื้นฟูด้วยเกษตรอินทรีย์สำหรับมะพร้าวน้ำหอมอย่างยั่งยืน (Regenerative Coconuts Agriculture Project: ReCAP) ในพื้นที่นำร่องจังหวัดราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และนครปฐม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงแนวทางการทำเกษตรแบบดั้งเดิม ไปสู่การทำสวนมะพร้าวอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผ่านการสนับสนุนและฝึกอบรมเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวตามแนวทางการฟื้นฟูด้วยเกษตรอินทรีย์ เสริมสร้างทักษะทางธุรกิจขั้นพื้นฐานเพื่อเพิ่มรายได้และกระจายช่องทางการดำเนินธุรกิจ พร้อมทั้งจัดตั้งกลุ่มให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองและเกิดแรงจูงใจในการทำเกษตรแบบยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง

กิจกรรมพบปะเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับเกษตรกรต้นแบบ ณ อะโรแมติก ฟาร์ม อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี
“มะพร้าวน้ำหอม” คือหนึ่งในพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทย จากปริมาณการส่งออกกว่า 60 ล้านตัน ไปยังประเทศจุดหมายปลายทางหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และเยอรมนี คิดเป็นมูลค่าการส่งออกที่สูงถึง 3.39 พันล้านบาท ในปี พ.ศ. 2562 โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาความต้องการมะพร้าวน้ำหอมทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวมเร็ว จากกระแสด้านสุขภาพที่ผู้คนต่างให้ความสำคัญกับเลือกอาหารและเครื่องดื่มที่ให้คุณค่าทางโภชนาการ ด้วยเหตุนี้เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวที่ส่วนใหญ่ยึดเอามะพร้าวเป็นรายได้หลักเพียงแหล่งเดียว
จึงหันมาทำเกษตรเชิงเดี่ยวที่ใช้สารเคมีเพื่อให้ได้ผลผลิตที่เพียงพอต่อความต้องการดังกล่าว
คุณนวลลออ เทอดเกียรติกุล
เจ้าของอะโรแมติก ฟาร์ม
“เกษตรอินทรีย์นำอนาคตที่ดีมาสู่พวกเราทุกคน ไม่เพียงแค่เกษตรกรเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้บริโภคและโลกของเราด้วย ในฐานะเกษตรกรเราไม่ควรหยุดเรียนรู้ เพราะความสำเร็จในการทำเกษตรอินทรีย์แบบปฏิรูปคือการใช้ธรรมชาติบำบัดธรรมชาติ การผสมผสานความรู้ด้านการเกษตรในแง่มุมที่หลากหลายจะช่วยพัฒนาธุรกิจและความเป็นอยู่ของเรา”
คุณนวลลออ เทอดเกียรติกุล เจ้าของอะโรแมติก ฟาร์ม หนึ่งในเกษตรกรต้นแบบผู้เข้าร่วมโครงการ กล่าว

เมื่อก่อนอะโรแมติก ฟาร์ม ทำเกษตรโดยใช้สารเคมี ต่อมาคุณนวลลออได้ปรับปรุงแนวทางการทำเกษตรตามแนวคิดการใช้ธรรมชาติบำบัดธรรมชาติ และผสมผสานความรู้ด้านการเกษตรในแง่มุมต่าง ๆ เพื่อให้ได้ผลผลิตมะพร้าวที่ปลอดภัยตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งเมื่อแนวทางการทำเกษตรอินทรีย์ที่เธอได้ดำเนินการอยู่นั้น สอดคล้องกับมาตรฐานสากลทั่วโลก จึงทำให้มะพร้าวจากสวนของเธอได้รับการรับรองจากหลายองค์กร อาทิ มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) มาตรฐานอินทรีย์วิถีไทย (Earth Safe) และ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Certificate of Conformity of Geographical Indication:GI)
การใช้คิวอาร์โค้ดและระบบ Big Data เพื่อเก็บข้อมูล เฝ้าสังเกตการณ์ และบันทึกรายละเอียดการเติบโตของมะพร้าวน้ำหอม

เกษตรกรหญิงวัย 45 ปีได้แนะนำเกษตรกรท่านอื่น ๆ ถึงแนวทางการทำเกษตรที่เธอได้ใช้กับสวนมะพร้าวของตนเอง ถึงวิธีการปลูกพืชคลุมดิน การเพาะเลี้ยงชันโรง รวมไปถึงการนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นมาผสมผสานเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ หรือแนวทางการทำเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture) ผ่านการเก็บข้อมูล เฝ้าสังเกตการณ์ และบันทึกรายละเอียด การเติบโตของมะพร้าวน้ำหอม ด้วยระบบข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และระบบการตรวจสอบย้อนกลับโดยใช้คิวอาร์โค้ด (QR Code) เพื่อให้ง่ายต่อการติดตามและควบคุมคุณภาพผลผลิต

คุณอากุง บีโม ลิสเทนู (Agung Bimo Listyanu) ผู้ประสานงานระดับภูมิภาค ดานอน กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบนิเวศ กล่าวว่า “พวกเรารู้สึกตื่นเต้นที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการและได้ร่วมพลักดันความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมมะพร้าว การรวมตัวของเกษตรกรในครั้งนี้ จะเชื่อมโยงให้พวกเขาสามารถเข้าถึงและร่วมแบ่งปันแนวทางการฟื้นฟูด้วยเกษตรอินทรีย์ที่ดียิ่งขึ้นได้”

คุณลิซ่า เฟาสต์ ผู้จัดการโครงการ ReCAP
คุณลิซ่า เฟาสต์ (Lisa Faust) ผู้จัดการโครงการการฟื้นฟูด้วยเกษตรอินทรีย์สำหรับมะพร้าวน้ำหอมอย่างยั่งยืน กล่าวถึงการรวมตัวของกลุ่มเกษตรกรต้นแบบในครั้งนี้ว่า ช่วยเสริมสร้างแรงจูงใจในการดำเนินงานและทำให้พวกเขาเกิดความมั่นใจว่าเจ้าหน้าที่จาก ReCAP จะคอยให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง “เป็นเรื่องดีมากที่ได้เห็นว่ากลุ่มเกษตรกรต้นแบบสนับสนุนและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน การดำเนินโครงการในระยะการนำร่องนี้เราได้เห็นว่าพวกเขาเปลี่ยนแปลงไปสู่แนวทางการฟื้นฟูด้วยเกษตรอินทรีย์ได้อย่างไร พวกเราโชคดีและตื่นเต้นมากที่ได้ร่วมทำงานและแบ่งปันประสบการณ์กับกลุ่มเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวรุ่นบุกเบิกแนวทางการเกษตรกรรมยั่งยืนเหล่านี้”

คุณชัยชนะ รอดเจริญสุข หนึ่งในเกษตรกรต้นแบบ วัย 58 กล่าวว่าหลังจากที่ได้รับการฝึกอบรมการฟื้นฟูเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืน เขาได้นำเอาคำแนะนำและเทคนิคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการจัดการของเสีย การเพาะเลี้ยงชันโรง การปลูกพืชคลุมดิน และการปลูกพืชแซม มาใช้กับสวนมะพร้าวของตนเองในพื้นที่อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางการทำสวนมะพร้าวอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

คุณชัยชนะ และคุณกาญจนา รอดเจริญสุข เกษตรกรชาวสวนมะพร้าว หนึ่งในเกษตรกรต้นแบบ จากอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร

ผมยังไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าสวนมะพร้าวของผมเป็นเกษตรอินทรีย์ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ด้วยการสนับสนุนของเจ้าหน้าที่จาก ReCAP และความรู้ที่ได้รับจากการฝึกอบรม ทำให้ผมรู้สึกมีความมั่นใจมากขึ้นที่จะนำเอาแนวทางการทำเกษตรที่ยั่งยืนเหล่านี้ มาพัฒนาสวนมะพร้าวอย่างยั่งยืนต่อไป” ■

 

กิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “กิจกรรมของเกษตรกรต้นแบบ”

(Pilot Farmer Practice) ตามแนวทางการฟื้นฟูด้วยเกษตรอินทรีย์

กิจกรรมการเยี่ยมชมสวนมะพร้าวเกษตรอินทรีย์วิถีไทย ณ อะโรแมติก ฟาร์ม อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี

ประกอบไปด้วย:

  • การปลูกพืชคลุมดินอย่างใบต่างเหรียญ เพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดินและป้องกันการชะล้างของหน้าดิน
  • การปลูกพืชแซม อาทิ กล้วย กาแฟ ตะไคร้ ชะพลู ใบเตย และพริกไทย เพื่อเสริมธาตุอาหารในดิน อีกทั้งยังช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร
  • การเลี้ยงไส้เดือนเพื่อนำมูลไปทำปุ๋ยหมักและช่วยบำบัดน้ำเสีย
  • การเพาะเลี้ยงชันโรง แมลงผสมเกสรพืชที่ช่วยให้ดอกมะพร้าวได้รับการผสมเกสรที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยสร้างรายได้เสริมจากการเพาะเลี้ยงและการเก็บเกี่ยวน้ำผึ้งที่ได้ไปจำหน่าย
  • การจัดการของเสีย ผ่านการเปิดคลองกั๊ฟ การนำขยะอินทรีย์ อาทิ ใบมะพร้าว ทะลาย และลูกกระตุ้ม ไปบดย่อยทำปุ๋ยอินทรีย์หรือนำไปแปรรูปเป็นบรรจุภัณฑ์รีไซเคิล
  • การควบคุมศัตรูพืช โดยการปล่อยบราคอนและใช้กับดักฟีโรโมน เพื่อป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืชอย่างด้วงแรดและด้วงงวง
  • การปรับปรุงคุณภาพน้ำ โดยการปล่อยปลาตะเพียนหรือปลานิลลงในร่องน้ำ เพื่อควบคุมแหนหรือตะไคร่น้ำ
  • และการจัดการบัญชีฟาร์ม โดยการทำบัญชีรายรับและรายจ่าย การวิเคราะห์ว่าเกษตรอินทรีย์ช่วยให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด ผ่านการเก็บหลักฐาน บันทึกรายละเอียด รวมถึงกับวิเคราะห์ตลาดและการคาดการณ์อนาคต

แกลเลอรี่ภาพ

ติดต่อเรา

  • +66 2 255 4202
  • asean-agrifood@giz.de
  • 39/1 ซอยสุขุมวิท 13, ถนนสุขุมวิท, คลองเตยเหนือ, วัฒนา, กรุงเทพฯ 10110 ประเทศไทย

การเยี่ยมชม

  • 75
  • 35,746
  • 1,582,171

สื่อและแหล่งข้อมูล

โครงการ

การป้องกันข้อมูล

สมัครจดหมายข่าว

ติดตามเรา

  • Copyright © 2014 - 2019 | Sustainable Agrifood Systems in ASEAN
Scroll to Top