08 มีนาคม 2565

สื่อการเรียนรู้ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบ “MRV” สำหรับภาคส่วนข้าวของประเทศไทย

โชติกา ธรรมสุวรรณ และพัชรินทร์ แซ่เฮง กลุ่มเกษตรและอาหาร

องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) จับมือกรมการข้าวและสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI)  ผลิตสื่อการเรียนรู้ประกอบการศึกษาระบบตรวจวัด รายงานผลและทวนสอบก๊าซเรือนกระจก (The Monitoring, Reporting and Verification System: MRV) ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการจัดการความรู้ (Knowledge Management) เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เชิงเทคนิคด้านการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคส่วนข้าวไปสู่กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นักวิจัยไทย นักส่งเสริมการเกษตร เกษตรกรในพื้นที่ และผู้สนใจทั่วไป โดยแปรเปลี่ยนองค์ความรู้ที่ซับซ้อนให้สามารถศึกษาและทำความเข้าใจง่าย ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายใหญ่คือ การพัฒนาระบบที่สะท้อนการรายงานปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่แท้จริง มีความโปร่งใสและการันตีความน่าเชื่อถือ 

ในวงการงานที่เกี่ยวข้องกับเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทราบกันดีว่า ระบบ MRV ได้รับการพัฒนาเพื่อเป็นแนวทางให้กับประเทศต่าง ๆ ในการตรวจวัด (Monitoring) รายงานผล (Reporting) และทวนสอบ (Verification) สำหรับกิจกรรมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งภาคการผลิตข้าวของประเทศไทยกำลังมุ่งมั่นพัฒนาระบบดังกล่าว เป็นความท้าทายใหม่เนื่องจากเป็นศาสตร์ที่อาศัยความรู้ทางเทคนิคค่อนข้างมาก แต่ด้วยความร่วมมือจากหลากหลายสหวิทยาการ ทั้งสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม สาขาเกษตรด้านการผลิตข้าว และการส่งเสริมการเกษตรซึ่งทำงานส่งเสริมกันโดยตรงกับเกษตรกรในพื้นที่ ร่วมกันปูทางไปสู่ความสำเร็จ

สำหรับสื่อการเรียนรู้ที่ผลิตมีทั้งรูปแบบสิ่งพิมพ์และมัลติมีเดีย สื่อรูปแบบแผ่นพับที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการศึกษาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากนาข้าว ซึ่งอธิบายขั้นตอนการดำเนินงาน ตั้งแต่การจัดทำแปลงทดลอง ทั้งแปลงสาธิตและแปลงเกษตรกร และการเก็บตัวอย่างก๊าซจากแปลงทดลองเพื่อนำมาวิเคราะห์ด้วยเครื่องก๊าซโครมาโตรกราฟ (Gas Chromatography – GC) โดยเฉพาะการวิเคราะห์ก๊าซมีเทน และก๊าซไนตรัสออกไซด์ ที่ถูกปล่อยจากนาข้าวในระหว่างการปลูกข้าว ผู้สนใจสามารถคลิกได้ที่นี่ 

นอกจากนี้ ยังมีชุดวิดีโอฝึกอบรมการคำนวณค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่ง GIZ พัฒนาและจัดการเรียนการสอนร่วมกับวิทยากรจากสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ 

สำหรับเนื้อหาของชุดวิดีโอฝึกอบรม จะประกอบด้วย 2 บทเรียนหลักด้วยกัน ได้แก่ บทเรียนในหัวข้อ การคำนวณค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์เกษตรกร  ดร.ลัดดาวัลย์ กรรณนุช ที่ปรึกษาระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ บรรยายบทเรียนในหัวข้อ การคำนวณค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์เกษตรกร ผู้สนใจสามารถคลิกได้ที่นี่

ดร.ลัดดาวัลย์ กรรณนุช ที่ปรึกษาระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ บรรยายบทเรียนในหัวข้อ การคำนวณค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
จากข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์เกษตรกร

สำหรับบทเรียนในหัวข้อที่สอง การคำนวณค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากข้อมูลที่ได้จากเครื่องก๊าซโครมาโตรกราฟและแปลงทดลอง หรือที่เรียกว่า การตรวจวัดโดยตรง (Direct Measurement) บรรยายโดย ดร. โธมัส แยเคล ผู้เชี่ยวชาญจาก GIZ และดร. นิตยา ชาอุ่น นักวิจัยจากบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้สนใจสามารถคลิกได้ที่นี่

ดร. โธมัส แยเคล ผู้เชี่ยวชาญจาก GIZ และดร. นิตยา ชาอุ่น นักวิจัยจากบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

โครงการ Thai-German Climate Programme สาขาเกษตร (TGCP-Agriculture)  เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2561 โดยสนับสนุนการถ่ายทอดองค์ความรู้ ทักษะต่าง ๆ เกี่ยวกับการตรวจวัดและวิเคราะห์ค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตั้งแต่การออกแบบแปลงทดลองที่ใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไปจนถึงกระบวนการสุดท้ายในการทำงานวิจัย ได้แก่ การวิเคราะห์ข้อมูลและการเขียนสรุปรายงานการทดลอง โครงการ TGCP-Agriculture มุ่งขยายศักยภาพของนักวิจัยข้าวไทยในการสร้างผลงานวิจัยและการจัดการข้อมูลทางเทคนิคด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคส่วนข้าว เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการรับมือกับสภาวะโลกร้อนได้ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ 

ภายใต้การพัฒนาระบบ MRV สำหรับภาคการปลูกข้าว โครงการ TGCP-Agriculture อำนวยความสะดวกให้เกิดความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากหลายแขนง ทั้งนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ ผู้กำหนดนโยบาย จากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง นักวิจัย นักส่งเสริมการเกษตร  และเกษตรกรผู้ให้ข้อมูลจากพื้นที่แปลงทดลองใน 6 จังหวัดภาคกลางได้แก่ชัยนาท อ่างทอง ปทุมธานี สุพรรณบุรี อยุธยา และสิงห์บุรี และใน 1 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี 

“การฝึกอบรมนักวิจัยด้านข้าว ให้มีความรู้ความเข้าใจ ในการดำเนินการตรวจวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในนาข้าวนั้น มีกิจกรรมทั้งภาคสนามตลอดจนการทำงานในห้องปฏิบัติการ มีกระบวนการที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อน ซึ่งจะทำให้ผลที่ได้ออกมา มีความโปร่งใส และให้ความน่าเชื่อถือได้อย่างดี” ดร.ลัดดาวัลย์ กรรณนุช ที่ปรึกษาระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) กล่าว

ความสำเร็จของการถ่ายทอดความรู้ต่างๆ เพื่อรองรับระบบ MRV นอกจากจะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับข้อมูลงานวิจัยด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตรแล้ว ยังเป็นหนึ่งในหลักฐานเชิงประจักษ์ (empirical evidence) ที่สำคัญที่สามารถสะท้อนปัญหาโลกร้อนที่เกิดขึ้น และสร้างความตระหนักรู้ให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนให้เล็งเห็นความสำคัญของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตร

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

เอกสารโครงการ MRV
คู่มือการจัดการเทคโนโลยีการผลิตข้าวลดโลกร้อน
คู่มือการจัดการเทคโนโลยีการผลิตข้าวลดโลกร้อน

ติดต่อเรา

  • +66 2 255 4202
  • asean-agrifood@giz.de
  • 39/1 ซอยสุขุมวิท 13, ถนนสุขุมวิท, คลองเตยเหนือ, วัฒนา, กรุงเทพฯ 10110 ประเทศไทย

การเยี่ยมชม

  • 37
  • 46,171
  • 1,580,278

สื่อและแหล่งข้อมูล

โครงการ

การป้องกันข้อมูล

สมัครจดหมายข่าว

ติดตามเรา

  • Copyright © 2014 - 2019 | Sustainable Agrifood Systems in ASEAN
Scroll to Top