10 พฤศจิกายน 2565

5 มุมมองเกษตรกรหญิงสะท้อนความสำเร็จ ในการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน

เรื่อง: โครงการการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในปัจจุบันบทบาทผู้หญิงเป็นที่พูดถึงเพิ่มมากขึ้น ในโครงการการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ โครงการ SCPOPP ก็เป็นหนึ่งในโครงการฯ ที่มีเกษตรกรผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการอาสาเข้ามาเป็นวิทยากรในการฝึกอบรม การเข้ามามีบทบาทเป็นคณะกรรมการบริหารจัดการกลุ่ม หรือแม้แต่การเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอแนวคิดเพื่อพัฒนากิจกรรมของโครงการฯ ให้ดีขึ้น

จากการลงพื้นที่ดำเนินกิจกรรมและพูดคุยกับกลุ่มเกษตรกรหลายๆกลุ่ม ทางโครงการฯ มักจะเห็นเกษตรกรผู้หญิงเข้ามาร่วมกิจกรรมถึงร้อยละ 40 ซี่งเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างมากสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน และเกษตรกรก็มีส่วนร่วมกับกิจกรรมเป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้จึงเป็นการจุดประกายให้กับทางโครงการฯว่า อะไรเป็นแนวคิดหลักที่เกษตรกรหญิงอย่างพวกเขาได้เข้ามามีบทบาทในการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน

กล้าหาญ ความไม่ยอมแพ้ในแบบชาวสวนภาคใต้ที่ต้องพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ วัน

คุณเรณู ภู่สุวรรณ
เกษตรกรส่วนใหญ่ได้รับการสืบทอดการจัดการสวนปาล์มจากรุ่นสู่รุ่น และเกษตรกรส่วนใหญ่ก็มีอายุค่อนข้างมาก มีแนวทางการปฏิบัติและดูแลสวนกันตามที่เคยทำกันมา แต่ในปัจจุบันกระแสการผลิตปาล์มน้ำมันที่ยั่งยืนได้เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรจำเป็นต้องปรับตัวให้สามารถเข้าสู่ระบบและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดได้.

“เราพอทราบว่าการทำสวนปาล์มแบบที่เคยทำมาก็พอเลี้ยงชีพอยู่ได้ แม้การทำแบบยั่งยืนมันต้องปรับเปลี่ยนเยอะโดยเฉพาะอย่างยิ่งความใส่ใจที่เพิ่มมากขึ้นและทำคนเดียวไม่ได้ เราต้องมีกลุ่มเกษตรกรรายย่อยอยู่ด้วยกัน ทำด้วยกันเป็นทีม ต้องมีความกล้าที่จะปรับเปลี่ยนจากวิถีเดิมๆที่เคยปฏิบัติ ถ้ามัวแต่กลัวว่าทำแล้วไม่รู้จะดีไหม ทำแล้วจะได้เงินมากกว่าเดิมไหม เราก็ไม่สามารถทำอะไรได้ พี่ไม่เคยลังเลที่จะให้ความร่วมมือเต็มที่ มีปัญหาก็ค่อยๆแก้กันไป ทุกอย่างมีทางออกเสมอ” คุณเรณู ภู่สุวรรณ เกษตรกรจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมัน RSPO ไทยอินโดลำทับ อำเภอลำทับ จังหวัดกระบี่

อุทิศตน เมื่อหน้าที่ความรับผิดชอบไม่ได้หยุดแค่คำจำกัดความว่าเกษตรกร

คุณอุบนรัตน์ เผือกแดง
หลายครั้งที่เจ้าหน้าที่โครงการสังเกตว่าเกษตรกรสมาชิกโครงการส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย แต่เมื่อมีการทำกิจกรรมการฝึกอบรม กลับกลายเป็นเกษตรกรผู้หญิงที่เข้ามาร่วมและเข้ามาฝึกอบรมแทน จากการพูดคุยก็ได้ทราบข้อมูลว่าการทำสวนปาล์มนั้นส่วนใหญ่ทำกันแบบครอบครัว สามีทำงานประจำ เช่น รับราชการ หรือทำงานอย่างอื่นนอกบ้าน ทำให้ภรรยาที่อยู่บ้านมีเวลาที่จะมาเข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า ในฐานะของเกษตรกรหญิงต้องรับผิดชอบในหน้าที่เพิ่มขึ้นมากกว่าการทำหน้าที่ภรรยา ลูก หรือแม่ เพื่อให้ครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดี กินอิ่ม นอนหลับ และทุกคนอยู่อย่างมีความสุข แต่เพื่อการพัฒนาสวนปาล์มน้ำมันให้เกิดความยั่งยืน การรับมือกับสิ่งต่างๆ จะสำเร็จลุล่วงไม่ได้เลย หากไม่ใช่เพราะการอุทิศตนกับสิ่งที่ต้องรับผิดชอบอย่างสุดความสามารถ

“เรามีแม่ที่ชราและมีโรคประจำตัว จำเป็นต้องดูแล แต่เมื่อได้รับมอบหมายทางสามีให้เข้าร่วมกิจกรรมกับทางโครงการฯ เราก็พร้อมทำเต็มที่ บางครั้งอาจจะเข้าร่วมอบรมไม่ได้ แต่ก็จะขอทางกลุ่มเข้าเรียนรู้และฝึกอบรมผ่านทางออนไลน์แทน” คุณอุบนรัตน์ เผือกแดง เกษตรกรจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมันเขาต่อ อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ สีหน้าแม้จะดูเศร้า แต่แววตาแสนมุ่งมั่นพร้อมรอยยิ้ม พร้อมแม่วัยชราที่นั่งอยู่ที่พื้นในบ้านยิ้มทักทายกลับมา ทำให้เป็นอีกภาพที่น่าจดจำอย่างมาก การต่อยอด กำไรชีวิตที่ไม่ได้มาจากเม็ดเงินของปาล์มน้ำมันเท่านั้น แต่ความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพัฒนาต่อยอดต่างหาก คือ สิ่งสำคัญ
คุณสุรีภรณ์ ไชยยศ
“กำไร” ที่มี “ความสุข” เป็นส่วนผสมที่ลงตัวและมีความหมายที่ชัดเจนมากขึ้นที่ได้เรียนรู้จากเกษตรกรหญิงท่านหนึ่ง “ตอนแรกปลูกแค่ยางพารากับปาล์มน้ำมันนี่แหละ แต่ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจนได้เลี้ยงวัว เพื่อการต่อยอดเรื่องปุ๋ยหมัก และอื่น ๆ เช่น ไก่ เป็ด ที่สามารถเก็บไข่ขายได้เพิ่มอีกทางด้วย ตอนนี้เรากำลังเข้าสู่กระบวนการผลิตปาล์มน้ำมันให้ยั่งยืน เมื่อทำแล้วก็ใช้แนวคิดเหล่านี้มาขยับขยายทำในสิ่งที่เราตั้งใจมุ่งมั่นไว้ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในทุกๆ ด้าน เวลาผ่านไปก็สนุกได้ทำสวนปาล์มไปด้วย เก็บไข่ขายไปด้วย แล้วก็ได้ขยายเพิ่มไปเอง” คุณสุรีภรณ์ ไชยยศ เป็นเกษตรกรจากกลุ่มวิสาหกิจชุมกลุ่มผู้ผลิตปาล์มน้ำมันคุณภาพตำบลเขาตอก อำเภอเคียนซา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นเกษตรกรหญิงวัย 50 ปี ที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจทำในสิ่งที่ชอบ เห็นคุณค่าในสิ่งรอบตัว ทุกสิ่งมีผลต่อสุขภาพจิตและแนวคิดที่ดี นั่นคือประกายแห่งความสุข
คุณนันทิยา กรตมี
ผู้นำทางความคิด ผู้อยู่เบื้องหลังและเบื้องหน้าที่นำพาเพื่อนเกษตรกรสู่ความยั่งยืน

เทคโนโลยีอย่างเช่น แอพลิเคชั่น เป็นอีกเครื่องมือที่โครงการได้พัฒนาขึ้นมาเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปใช้ในการจดบันทึกและการจัดการสวนปาล์ม แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายสำหรับเกษตรกรที่จะนำไปใช้ได้อย่างคุ้นชิน คนที่เข้าใจและมีแนวคิดที่มุ่งมั่น จึงจะนำพาให้เกษตรกรไปสู่จุดหมายได้

“ชอบแอป i-Palm มาก ตอนแรกก็จะงงๆ หน่อยเพราะเป็นสิ่งที่ใหม่สำหรับเกษตรกรชาวสวนปาล์มของเรา แต่ก็พยายามทำความเข้าใจเพราะเห็นว่ามันมีประโยชน์ และช่วยในการจัดการสวนปาล์มของเราเป็นอย่างมาก เราให้ลูกทีมในกลุ่มใช้ทุกคนและสอนจนกว่าเขาจะเข้าใจ เมื่อเราบันทึกทำให้เรารู้ว่าได้ผลผลิตเท่าไหร่ สวนเติบโตอย่างไร เห็นว่าจุดไหนยังขาดและต้องเพิ่มเติม ตอนแรกทุกคนก็ไม่ค่อยยอมรับ เราจึงพยายามลงไปหาเกษตรกรแบบตัวต่อตัวเพื่อสอนวิธีใช้และชี้แจงให้เห็นประโยชน์ ส่งผลให้ปีนี้กลุ่มเราจัดการข้อมูลได้ง่ายขึ้น มันรวมอยู่ในที่เดียวและมีหลักฐานชัดเจน” คุณนันทิยา กรตมี เกษตรกรจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนชาวสวนปาล์มตำบลท่าอุแท อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี หนึ่งในวิทยากรหญิงของโครงการฯ พูดด้วยความภูมิใจ เห็นได้ชัดว่าเทคโนโลยีไม่ใช่สิ่งเกินความสามารถที่จะเรียนรู้ เพียงแต่ต้องอาศัยความอดทน และที่สำคัญต้องมีแกนนำหลักที่คอยช่วยเหลือสนับสนุน กระตุ้น และแนะนำให้เกษตรกรสามารถทำให้ได้ และถึงเวลาที่เราต้องยอมรับและเปลี่ยนแปลงแนวคิดในการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้มากขึ้นในการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน

รู้รอบด้าน มากกว่าทักษะการจัดการสวนอย่างมีประสิทธิภาพ ความเป็นเกษตรกรหญิงที่มีอีคิวสูง ทำให้ตอบโต้กับสิ่งต่างๆ ด้วยความอ่อนโยนและพร้อมเปิดใจ

คุณสุดารัตน์ หนูรอด
“ได้ติดตามข่าวอยู่ตลอด และนำมาบอกเล่าปรับใช้กับทางกลุ่มของเรา เรารู้ว่าทางฝั่งยุโรปจริงจังกันมากเรื่องการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม จึงต้องการผลผลิตต้นทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทางกลุ่มเตรียมตัวกันมานาน ล้มลุกคลุกคลานมาเยอะ แต่เพราะเรามีเป้าหมายที่ใหญ่มาก เราเลยรู้ว่าเราทำเพื่ออะไร เราหวังว่าสิ่งที่เราพยายามทำมันจะสร้างแรงกระเพื่อมได้ เราลองมาทุกอย่างแต่ก็ไม่ยอมแพ้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคน หรือนวัตกรรมที่ช่วยเกษตรกร ทุกอย่างมีต้นทุนที่สูง แต่ไม่เคยคิดเลยว่าสิ่งเหล่านี้คือค่าใช้จ่ายที่สิ้นเปลือง มันคือการลงทุนที่เห็นกำไรในรูปแบบของคุณค่าที่ยั่งยืนทั้งนั้น” คุณสุดารัตน์ หนูรอด เกษตรกรจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศรีเจริญ กรีนปาล์มออยล์ กระบี่ อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ สิ่งที่เธอพูดได้ตอกย้ำว่า ไม่ว่าเกษตรกรหญิงหรือชาย ที่เข้ามาบริหารจัดการสวนปาล์มเพื่อให้เกิดความยั่งยืนนั้น สิ่งสำคัญคือ การเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ต้องรู้ให้รอบด้าน รู้ให้ทุกมุมมอง เพื่อเป็นประโยชน์ในการนำสิ่งที่ได้รับรู้นั้นมาวิเคราะห์และวางแผนการบริหารจัดการ

สุดท้ายนี้ในทุกการต่อสู้ที่พาเกษตรกรหญิงมาไกลจนถึงวันนี้ บางคนอาจมองไม่เห็นหรือแทบจะไม่ได้นึกถึงบทบาทอันทรงพลังของพวกเธอ ยังมีผู้หญิงอีกมากมายที่มีแนวคิดและมุมมองที่ดี เป็นประโยชน์ในการพัฒนา เราหวังว่าโครงการการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะเป็นหนึ่งในแรงผลักดันให้เกิดมุมมองเชิงบวกที่มากขึ้นสำหรับผู้หญิง และจงมีความภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนในภาคการเกษตรและภูมิใจที่เป็น “เกษตรกรหญิง” ■

ติดต่อเรา

  • +66 2 255 4202
  • asean-agrifood@giz.de
  • 39/1 ซอยสุขุมวิท 13, ถนนสุขุมวิท, คลองเตยเหนือ, วัฒนา, กรุงเทพฯ 10110 ประเทศไทย

การเยี่ยมชม

  • 159
  • 46,079
  • 1,579,468

สื่อและแหล่งข้อมูล

โครงการ

การป้องกันข้อมูล

สมัครจดหมายข่าว

ติดตามเรา

  • Copyright © 2014 - 2019 | Sustainable Agrifood Systems in ASEAN
Scroll to Top