07 กุมภาพันธ์ 2563

น้ำมันปาล์มอยู่รอบตัวเรา แต่มันดีที่สุดแล้วหรือยัง?

เขียนโดย: ทีมเกษตรกรรมและอาหาร องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย​

เมื่อพูดถึง ‘น้ำมันปาล์ม’ หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริง ๆ แล้ว น้ำมันปาล์มเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ที่เราใช้ในชีวิตประจำวันหลายอย่าง โดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ได้ทำการสำรวจพบว่า กว่า 50% ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่วางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตนั้นล้วนทำมาจากน้ำมันปาล์มทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ..

ลิปสติก : น้ำมันปาล์มช่วยให้ลิปสติกคงสีสวย ไม่ละลายในอุณหภูมิสูง แล้วยังช่วยให้สีเรียบเนียนสวยงาม

พิซซ่า : น้ำมันปาล์มช่วยให้พิซซ่าคงความสดและคงรูปร่างไม่ให้เปลี่ยนไป

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป : น้ำมันปาล์มช่วยคงให้อาหารสำเร็จรูปอยู่ในสภาพที่พร้อมจะทำเป็นอาหารได้ดี เพียงแค่เติมน้ำร้อนก็พร้อมทานได้เลย

ยาสระผม : น้ำมันปาล์มช่วยบำรุงและทำความสะอาดเส้นผมได้ดีเยี่ยม

เกษตรกรรายย่อยกำลังเก็บเกี่ยวทะลายปาล์มคุณภาพจากสวนปาล์มที่ดูแลอย่างดี (เครดิตรูปภาพ: GIZ Thailand)
เกษตรกรรายย่อยกำลังเก็บเกี่ยวทะลายปาล์มคุณภาพจากสวนปาล์มที่ดูแลอย่างดี (เครดิตรูปภาพ: GIZ Thailand)

ไอศกรีม : น้ำมันปาล์มทำให้เนื้อไอศกรีมมีความเรียบเนียนและเป็นเนื้อครีม

น้ำยาซักผ้า : น้ำมันปาล์มทำให้การทำความสะอาดยังคงเนื้อผ้าที่สวยงาม

เนยเทียม : น้ำมันปาล์มช่วยให้เนยเทียมคงสภาพได้ดีในอุณหภูมิปกติและยังมีไขมันทรานส์ต่ำมากด้วย

ช็อคโกแลต : น้ำมันปาล์มช่วยให้ผิวของช็อกโกแลตดูมันวาว น่าทาน

สบู่ : น้ำมันปาล์มช่วยชำระสิ่งสกปรกจากผิวได้ดี พร้อมเสริมการบำรุงให้ครบครัน

ไบโอดีเซล : น้ำมันปาล์มยังใช้ผสมกับเชื้อเพลิงดีเซลเพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพที่เป็นพลังงานทางเลือกที่ปล่อยฝุ่นน้อยกว่าอีกด้วย

ยังไม่หมดแค่นั้น น้ำมันปาล์มยังเป็นส่วนผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีก อาทิ เค้ก ผงซักฟอก ไปจนถึงอาหารสัตว์

“น้ำมันปาล์ม” ยังประกอบไปด้วยกรดไขมันอิ่มตัวและไม่อิ่มตัวที่มีความสมดุลกันอย่างดี จึงมีส่วนช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือดไม่ให้สูงจนเกินไป

ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งที่ส่งผลให้การใช้น้ำมันปาล์มทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น คือ การให้ผลผลิตที่สูงของพืชปาล์มน้ำมัน  ซึ่งใช้พื้นที่แค่ครึ่งหนึ่งของพืชน้ำมันประเภทอื่น ๆ เช่น ถั่วเหลือง และทานตะวัน เพื่อผลิตน้ำมันในปริมาณเท่ากัน  พืชปาล์มน้ำมันให้ปริมาณน้ำมันสูงถึง 0.6-0.8 ตัน/ ไร่ /ปี

เกษตรกรรายย่อยกับเมล็ดปาล์มน้ำมันที่เขาปลูกด้วยความภาคภูมิใจ (เครดิตรูปภาพ: GIZ Thailand)
เกษตรกรรายย่อยกับเมล็ดปาล์มน้ำมันที่เขาปลูกด้วยความภาคภูมิใจ (เครดิตรูปภาพ: GIZ Thailand)

เนื่องจากน้ำมันปาล์มมีคุณสมบัติทนต่อความร้อนสูงจึงเป็นที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและใช้ในการประกอบอาหาร ประเทศที่สามารถผลิตน้ำมันปาล์มได้เป็นจำนวนมากและเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก คือ มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย รวมถึง ประเทศไทยก็ยังติดอันดับ 1 ใน 10 เช่นกัน เพื่อตอบสนองต่อความต้องการน้ำมันปาล์มทั่วโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี

แต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกปาล์มในประเทศมาเลเซียกับอินโดนีเซียกลับเพิ่มสูงขึ้น ทำให้สูญเสียพื้นที่ป่าไปถึง 98% รวมถึงจำนวนสัตว์ป่าที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เช่น ลิงอุรังอุตัง เสือ และช้าง

ทางออกของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มที่เหมาะสมที่สุด คือ การผลิตที่ยั่งยืนและมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนจึงได้กำหนดมาตรฐาน RSPO (Roundtable on Sustainable Palm Oil) หรือมาตรฐานการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนที่ครอบคลุมมิติความยั่งยืนทั้งทางด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อมไว้เพื่อสร้างทางเลือกที่ดีกว่าให้กับผู้บริโภค

ในเมื่อน้ำมันปาล์มอยู่รอบตัวเรา จะดีกว่าหรือไม่ หากเราหันมาเลือกใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มที่เกิดจากกระบวนการที่ใส่ใจต่อโลก

มาร่วมกันสนับสนุนผลิตภัณฑ์ไทยที่ใช้น้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน (RSPO) เพื่อช่วยหยุดยั้งการทำลายระบบนิเวศ ชีวิตสัตว์ป่า และชุมชนท้องถิ่น

ติดต่อเรา

  • +66 2 255 4202
  • asean-agrifood@giz.de
  • 39/1 ซอยสุขุมวิท 13, ถนนสุขุมวิท, คลองเตยเหนือ, วัฒนา, กรุงเทพฯ 10110 ประเทศไทย

การเยี่ยมชม

สื่อและแหล่งข้อมูล

โครงการ

การป้องกันข้อมูล

สมัครจดหมายข่าว

ติดตามเรา

  • Copyright © 2014 - 2019 | Sustainable Agrifood Systems in ASEAN