03 พฤษภาคม 2565

เกษตรฯ เปิดตัวใบรับรอง ePhyto พร้อมใช้รับรองสินค้าส่งออก ทุกประเทศ 1 ก.ค.นี้ ดันส่งออกฉลุย

กลุ่มประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์การ กรมวิชาการเกษตร

กรมวิชาการเกษตร จับมือ กลุ่มพันธมิตรโลกด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Global Alliance for Trade Facilitation) เปิดตัว ระบบใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์   หลังนำร่องเปิดใช้งานส่งออกพืช 22 ชนิดไปจีนกระแสดีเกินคาด  เอื้อผู้ประกอบการลดขั้นตอนและระยะเวลาการทำงาน  ตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้ตั้งแต่ประเทศปลายทางจนถึงเกษตรกร   ดีเดย์เปิดใช้งานใบรับรอง e Phyto ขยายคลุมสินค้าไปทุกประเทศทั่วโลก  1 กรกฎาคม 2565 นี้

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า  กรมวิชาการเกษตร ได้ดำเนินโครงการระบบใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ (ePhyto)ร่วมกับ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กรมศุลกากร และกลุ่มพันธมิตรโลกด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า ผ่านทางองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ)  ตามนโยบายของนางสาวมนัญญา  ไทยเศรษฐ์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ที่ได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการปรับปรุงการออกใบอนุญาต ใบรับรองผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์  เพื่ออำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องกับทำธุรกรรมการขอใบอนุญาต ใบรับรอง เพื่อการนำเข้า ส่งออก นำผ่าน และโลจิสติกส์   ซึ่งโครงการดังกล่าวจะทำให้ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรสามารถขอใบรับรองสุขอนามัยพืชผ่านระบบใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ (ePhyto) ด้วยความสะดวกและรวดเร็ว  ช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการขอใบรับรองด้วยตนเอง 

จากซ้ายไปขวา: นางสาวเสาวลักษณ์ ศุภกมลเสนีย์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และนายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ รองอธิบดีกรมศุลกากรเข้าร่วมพิธีเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการ

ระบบใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ (ePhyto Certificate) ได้มีการออกแบบและพัฒนาให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์กับประเทศคู่ค้า ผ่านช่องทาง National Single Window : NSW ภายใต้การกำกับดูแลของกรมศุลกากรและ National Telecom โดยการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนจะแลกเปลี่ยนผ่าน ASEAN Single Windows (ASW) Gate Way ส่วนประเทศนอกอาเซียนจะแลกเปลี่ยนผ่าน ePhyto Hub ที่อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยการอารักขาพืชระหว่างประเทศ (International Plant Protection Convention: IPPC) โดยเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมาได้นำร่องเปิดการใช้งานระบบใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์กับการส่งออกผลไม้ 22 ชนิดไปสาธารณรัฐประชาชนจีน  และตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม2565 เป็นต้นไป จะขยายการให้บริการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการส่งออกทุกชนิดสินค้าไปทุกประเทศทั่วโลก 

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าวว่า  การออกใบรับรองสุขอนามัยพืช สำหรับสินค้าส่งออกไปยังต่างประเทศ เพื่อนำไปสำแดงต่อประเทศผู้นำเข้าว่าสินค้าได้ผ่านการตรวจสอบรับรองด้านสุขอนามัยพืชตามเงื่อนไข เป็นภารกิจที่สำคัญภารกิจหนึ่งของกรมวิชาการเกษตร เป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติกักพืช และเป็นงานบริการที่สนับสนุนผู้ประกอบการส่งออก ในการตรวจสอบ โรคแมลง และศัตรูพืช ให้สอดคล้องตามเงื่อนไขของประเทศคู่ค้า และเป็นไปตามมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรการด้านสุขอนามัยพืช  โดยในปี 2564 กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช จำนวน 409,279 ฉบับ คิดเป็นมูลค่าการส่งออกประมาณ 784,259 ล้านบาท

“การออกแบบและพัฒนาระบบใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ของกรมวิชาการเกษตรจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการส่งออก ลดขั้นตอนในการปฏิบัติงานที่ซ้ำซ้อน แลกเปลี่ยนข้อมูลที่จำเป็นผ่านอิเล็กทรอนิกส์เพื่อลดการใช้กระดาษ และสามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับได้ตั้งแต่ประเทศปลายทางจนถึงเกษตรกรผู้ผลิต นอกจากนี้ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งภาครัฐ และผู้ประกอบการ สามารถนำข้อมูลที่มีการบันทึกไว้ในระบบมาใช้ประโยชน์ในการเจรจาต่อรองทางการค้า หรือกำหนดเงื่อนไขด้านสุขอนามัยพืช หรือนำมาวิเคราะห์เพื่อวางแผนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ซึ่งจะนำไปสู่การขยายตลาดและเพิ่มมูลค่าการส่งออกของไทย

ผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน ออสเตรเลีย บราซิล จีน สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ในนาม กลุ่มพันธมิตรโลกด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Global Alliance for Trade Facilitation) และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ร่วมเปิดตัวโครงการในรูปแบบไฮบริด

กรมวิชาการเกษตรจึงร่วมกับกลุ่มพันธมิตรโลกด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า ผ่านทางองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ)  จัดให้มีงานเปิดตัว การใช้งานระบบใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ของไทยอย่างเป็นทางการ  เพื่อสร้างการสร้างการรับรู้ให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมศุลกากร  มกอช. บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) และภาคเอกชนจากสมาคมและบริษัทต่างๆ   ณ โรงแรมรามาการ์เด้น กรุงเทพฯ และผ่านระบบการประชุมทางไกล”   อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าว ■  

แกลอรีภาพ

วีดีโอ

ติดต่อเรา

  • +66 2 255 4202
  • asean-agrifood@giz.de
  • 39/1 ซอยสุขุมวิท 13, ถนนสุขุมวิท, คลองเตยเหนือ, วัฒนา, กรุงเทพฯ 10110 ประเทศไทย

การเยี่ยมชม

สื่อและแหล่งข้อมูล

โครงการ

การป้องกันข้อมูล

สมัครจดหมายข่าว

ติดตามเรา

  • Copyright © 2014 - 2019 | Sustainable Agrifood Systems in ASEAN