20 กันยายน 2563

“โรงเรียนธุรกิจสำหรับเกษตรกร” เสริมสร้างศักยภาพสู่การเป็นนักธุรกิจเกษตรมืออาชีพ

ศิริวรรณ นาคมุข นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร อำเภอสวี จังหวัดชุมพร รู้สึกประหลาดใจเมื่อเธอกับเพื่อนในกลุ่มแจกแจงรายละเอียดค่าใช้จ่ายครัวเรือนและพบว่ามีรายจ่ายมากถึง 45,000 บาทต่อเดือน
“การปรับเปลี่ยนวิธีบริหารจัดการเงินและควบคุมค่าใช้จ่ายเป็นสิ่งสำคัญที่เกษตรกรควรเรียนรู้และลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง วิธีบริหารจัดการการเงินในรูปแบบของการจดบันทึกรายรับรายจ่ายและแผนการเงินตลอดปี จะช่วยให้การทำธุรกิจการเกษตรสร้างรายได้หรือผลกำไรที่ยั่งยืนให้กับครัวเรือนและชุมชนได้” คุณศิริวรรณ กล่าว

 

คุณศิริวรรณกล่าวด้วยว่า เธอจะนำความรู้ที่ได้จากการอบรมครั้งนี้ไปทดลองใช้กับเกษตรสวนผสมจำนวน 40 ไร่ของครอบครัวเพื่อเป็นตัวอย่าง พร้อมนำไปถ่ายทอดให้กับเกษตรกรในพื้นที่นำไปทดลองปฏิบัติโดยการปลูกกาแฟแซมกับสวนปาล์มและสวนผลไม้ในพื้นที่ ในฐานะวิทยากรส่งเสริมการเกษตรประจำอำเภอ “เกษตรกรจะเรียนรู้ได้ดีที่สุดเมื่อเห็นตัวอย่างและได้ลงมือทำ”

การทำบัญชีรายจ่ายรายรับเช่นนี้เป็นหนึ่งใน 12 บทเรียนสำคัญของการก้าวไปสู่การเป็น “นักธุรกิจเกษตร” ของหลักสูตร “โรงเรียนธุรกิจสำหรับเกษตรกร” (Farmer Business School: FBS) ที่องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ในนามโครงการพัฒนาระบบการผลิตกาแฟของผู้ประกอบการรายย่อย ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ คอฟฟี่พลัส (Coffee+) และหน่วยงานของภาครัฐของไทยได้จัดอบรมเมื่อวันที่ 18-21 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา

การอบรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เจ้าหน้าที่นักวิชาการระดับปฏิบัติการของกรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 50 คน เข้าใจองค์ความรู้ทั้งทางทฤษฎีและการปฏิบัติของหลักสูตร เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมและการแลกเปลี่ยนแนวทางการจัดการธุรกิจเกษตรในพื้นที่ของโครงการ ได้แก่ อำเภอท่าแซะและอำเภอสวี จังหวัดชุมพร และอำเภอกระบุรีและอำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง

รองศาสตราจารย์ดร.สุธัญญา ทองรักษ์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยากรหลักสูตร FBS ในการอบรมครั้งนี้ กล่าวว่า เนื้อหาของหลักสูตรได้รับการออกแบบโดย GIZ เพื่อมุ่งเน้นการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ “Learning by doing” หรือ “Experiential learning” มีเครื่องมือ แบบฝึกหัด ที่ช่วยสนับสนุนให้ผู้เรียน โดยเฉพาะเกษตรกรได้มีความรู้และทักษะที่สำคัญในการทำเกษตรเชิงธุรกิจ รวมทั้งการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ปฏิทินเกษตร การบันทึกกิจการฟาร์ม รวมทั้งรายรับและรายจ่าย

กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมศักยภาพเกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกกาแฟ รวมทั้งพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ทั้งทุเรียน มะพร้าว เนื่องจากส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวคิดและแนวทางในการทำเกษตรเชิงธุรกิจหรือเชิงพาณิชย์ หากรู้จักสร้างความชัดเจนในเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงการผลิตกับการตลาดได้ครบวงจร เกษตรกรก็จะสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันด้านการตลาดส่งผลให้สามารถทำกำไรจากธุรกิจฟาร์มได้

หลักสูตร FBS นอกจากจะเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้เรียนรู้การวางแผนการผลิตกาแฟคุณภาพแล้ว เนื้อหาในหลักสูตรเหล่านี้ยังเป็นประโยชน์กับการทำงานของเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรผู้รับผิดชอบงานหลัก เพราะเป็นการเพิ่มขีดความรู้ความสามารถผ่านการปฏิบัติด้วยการทำหน้าที่วิทยากร ถ่ายทอดองค์ความรู้ในหลักสูตรให้กับเกษตรกรอย่างเป็นระบบต่อไป

นายเจริญ บุญลาภทวีโชค อุปนายก สมาคมกาแฟไทย กล่าวว่าเทคนิคการเกษตรที่ได้เรียนรู้ตลอด 4 วันของการอบรมเป็นเรื่องที่เกษตรกรส่วนใหญ่ทำได้และเคยทำมาบ้างไม่มากก็น้อย แต่อาจไม่ได้บริหารจัดการอย่างเป็นระบบเหมือนในที่ระบุไว้หลักสูตร ทำให้ไม่สามารถบริหารการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกษตรกรจึงไม่สามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายหรือลดการใช้สารเคมีได้อย่างเป็นระบบ
ความรู้ที่ได้ในวันนี้ทางสมาคมฯ มีแผนจะนำไปขยายผลกับสมาชิกผู้ปลูกกาแฟในจังหวัดอื่น ๆ ทั้งในภาคใต้และภาคเหนือต่อไป

ด้านนางพจมาน วงษ์สง่า ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาระบบการผลิตกาแฟของผู้ประกอบการรายย่อยในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ โครงการคอฟฟี่พลัส (Coffee+) GIZ ประเทศไทย กล่าวว่า “เพื่อที่จะต่อยอดความรู้หลักสูตร FBS ถ่ายทอดสู่เกษตรกรอย่างยั่งยืน ทางโครงการฯ มองเห็นโอกาสของความร่วมมือ จึงได้จัดอบรมทักษะและองค์ความรู้ที่จำเป็นในการประกอบการเกษตรในรูปแบบธุรกิจแก่เจ้าหน้าที่นักวิชาการระดับปฏิบัติการของกรมส่งเสริมการเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อถ่ายทอดสู่เกษตรกรต่อไป เช่น กลไกราคาและตลาด การวางแผนการผลิต การคำนวณต้นทุนและกำไร การปลูกพืชผสมผสานเพื่อลดความเสี่ยง รวมถึงการปลูกฝังวินัยการจดบันทึก และการออมเงินอย่างถูกวิธี นอกจากการอบรมให้เกษตรกรแล้ว หลักสูตรโรงเรียนธุรกิจสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟมืออาชีพ หรือ Farmer Business School (FBS) ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย GIZ นั้น ยังเหมาะกับคนรุ่นใหม่ที่จะมารับช่วงต่อจากเกษตรกรรุ่นพ่อแม่ ซึ่งจะนำไปสู่ความยั่งยืนของระบบการผลิตกาแฟในประเทศไทยด้วย”

หลังการอบรม โครงการฯ โดย GIZ จะมีการติดตามผล โดยการลงพื้นที่ให้คำแนะนำแก่เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร ของกรมส่งเสริมการเกษตร ในการนำร่องจัดการอบรมเกษตรกรตามหลักสูตร FBS นี้ในจังหวัดชุมพรและระนอง เป้าหมายจังหวัดละหนึ่งครั้ง โดยมีเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟเข้าร่วมจังหวัดละ 20 ราย ซึ่งจะจัดขึ้นประมาณปลายเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้

ติดต่อเรา

  • +66 2 255 4202
  • asean-agrifood@giz.de
  • 39/1 ซอยสุขุมวิท 13, ถนนสุขุมวิท, คลองเตยเหนือ, วัฒนา, กรุงเทพฯ 10110 ประเทศไทย

การเยี่ยมชม

  • 70
  • 46,232
  • 1,580,018

สื่อและแหล่งข้อมูล

โครงการ

การป้องกันข้อมูล

สมัครจดหมายข่าว

ติดตามเรา

  • Copyright © 2014 - 2019 | Sustainable Agrifood Systems in ASEAN
Scroll to Top