การทำนาทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คิดเป็นร้อยละ 55 ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมในภาคเกษตรกรรมทั้งหมด ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาแผนงานที่เหมาะสมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อเป็นแนวทางในการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง พัฒนาระบบฐานข้อมูลสำหรับการตรวจวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนสร้างแรงจูงใจให้กับเกษตรกรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่การผลิตข้าว เพื่อขับเคลื่อนไปสู่การเพาะปลูกข้าวอย่างยั่งยืนที่เป็นมิตรกับสภาพแวดล้อม
โครงการความร่วมมือไทย – เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาคเกษตรกรรม (Thai-German Climate Programme (TGCP) – Agriculture) ส่งเสริมการพัฒนานโยบายระดับประเทศและขับเคลื่อนการดำเนินงานในระดับจังหวัดและท้องถิ่นเพื่อการเพาะปลูกข้าวยั่งยืน มีการพัฒนาระบบตรวจวัด รายงานผล และทวนสอบ (Monitoring, Reporting, and Verification: MRV) ที่เหมาะสมสำหรับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการผลิตข้าว พร้อมทั้งให้การสนับสนุนทางการเงินและความร่วมมือระหว่างประเทศ
โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Thai Rice NAMA) องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (Deutsche Gesellschaft für Internationale Zusammenarbeit – GIZ) ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากกรมวิชาการเกษตร ได้จัดทำวีดีโอเผยแพร่สาระความรู้นี้ขึ้นเพื่อถ่ายทอดเทคนิคเกี่ยวกับการผลิตข้าว 4 ประการ ได้แก่
- การปรับระดับพื้นที่ด้วยระบบเลเซอร์ (Laser land leveling: LLL)
- การทำนาเปียกสลับแห้ง (Alternative Wetting and Drying: AWD)
- การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน
- การจัดการฟางและตอซัง