01 กรกฎาคม 2563

ความจริงอีกด้านของน้ำมันปาล์ม

ผู้คนต่างคิดว่าปาล์มน้ำมันเป็นสาเหตุสำคัญของการตัดไม้ทำลายป่า ที่ส่งผลกระทบต่อทั้งสัตว์ป่า ประชากรในท้องถิ่น และทำให้ก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้น แต่คุณทราบหรือไม่ว่า น้ำมันปาล์มกับการเพาะปลูกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสามารถดำเนินไปพร้อมกันได้?
สวนปาล์มน้ำมันในจังหวัดกระบี่
กนกวรรณ ศาศวัตเตชะ ผู้อำนวยการโครงการเพื่อการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย (SCPOPP) กล่าวถึงวิธีการผลิตน้ำมันปาล์มโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมว่า “เรายอมรับว่าการได้มาซึ่งพื้นที่เพาะปลูกและทำสวนปาล์มเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรป่าไม้ แต่การทำสวนปาล์มน้ำมันนั้นไม่ได้ลุกล้ำพื้นที่ป่าทั้งหมด ดังนั้นเราจึงไม่ควรเหมารวมและต่อต้านน้ำมันปาล์ม”

“การหันมาใช้น้ำมันปาล์มโดยที่ไม่รู้แหล่งที่มาจะส่งผลเสียมากกว่า เพราะเป็นการปิดกั้นรายได้ของเกษตรกรรายย่อยที่ไม่ได้บุกรุกป่า”

เธอกล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยมีระบบป้องกันและอนุรักษ์ป่าไม้ที่ดี ซึ่งพื้นที่ปลูกปาล์มส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนแปลงเกษตรเดิมที่เคยปลูกยางพารา ผลไม้ หรือแปลงนาที่ถูกทิ้งร้าง ดังนั้นอัตราการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกปาล์มในประเทศไทยจึงแทบจะเป็นศูนย์
กนกวรรณ ศาศวัตเตชะ ผู้อำนวยการโครงการการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย (SCPOPP)
น้ำมันปาล์มเป็นภัยต่อธรรมชาติ… จริงหรือไม่?

ความต้องการน้ำมันปาล์มที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการที่ปาล์มน้ำมันได้ครองตลาดพืชผลทางการเกษตรที่มีอัตราส่วนมากกว่าพืชชนิดอื่นๆ เช่น ถั่วเหลือง เรพซีด เมล็ดทานตะวัน มะพร้าว และมะกอก อย่างไรก็ตามผู้คนต่างคิดว่าพื้นที่ป่าดิบชื้นอย่างในอินโดนิเซียและมาเลเซียกำลังถูกทำลายเพื่อการทำสวนปาล์ม ส่งผลต่อทั้งประชากรในท้องถิ่นและสัตว์ป่าโดยเฉพาะเสือและอุรังอุตัง ที่สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature: IUCN) ได้จัดให้เป็นสิ่งมีชีวิตที่ใกล้การสูญพันธุ์ (Endangered species) ในบอร์เนียว และสิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ (Critically endangered species) ในสุมาตรา

กนกวรรณมองเห็นความจริงอีกด้านของน้ำมันปาล์มและอธิบายให้เราเข้าใจว่าการผลิตน้ำมันปาล์มที่เน้นการเพิ่มอัตราการผลิตเพียงอย่างเดียวโดยที่ไม่สนใจสิ่งแวดล้อมและสังคมรอบข้าง คือสาเหตุหลักของการตัดไม้ทำลายป่าที่แท้จริง การที่ผู้ปลูกปาล์มละเลยการผลิตที่ยั่งยืน พวกเขาไม่เพียงแต่กำลังทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์ป่าจำนวนมาก แต่ยังทำลายปอดของโลกอีกด้วย “ป่าฝนเขตร้อนทุกแห่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และสร้างออกซิเจนหรืออากาศบริสุทธิ์ให้กับเราทุกคน” เธอกล่าว
บัญชีแดงของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ค.ศ. 2007 (IUCN Red List of Threatened Species หรือ IUCN Red List) ระบุว่า อุรังอุตังทั้ง 3 สายพันธุ์ คือ บอร์เนียว (Bornean) สุมาตรา (Sumatran) และทาปานูลี (Tapanuli) อยู่ในเกณฑ์ใกล้สูญพันธุ์ อันเป็นผลมาจากการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อการทำสวนปาล์มน้ำมัน
การปลูกปาล์มน้ำมันที่ไม่ส่งผลกระทบต่อป่าและสิ่งแวดล้อม

โรงงานน้ำมันปาล์มที่ได้รับการรับรองโดย Roundtable on Sustainable Palm Oil (RSPO) จะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ผ่านมาตรการที่ลดการพังทลายของดินและปกป้องแหล่งน้ำ รวมถึงดำเนินงานภายใต้หลักจริยธรรมโดยให้ความสำคัญกับปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนและใส่ใจชุมชนรอบข้าง

ปัจจุบันน้ำมันปาล์มที่ผลิตได้ตามมาตรฐาน RSPO ทั่วโลกมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 19 ของการผลิตทั้งหมด ซึ่งถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีภาพลักษณ์ที่ดีในด้านการผลิตน้ำมันปาล์มและไม่มีปัญหาเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่า แต่จำนวนเกษตรกรที่สามารถปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนได้มีน้อยมาก โดยสาเหตุสำคัญคือการที่พวกเขายังขาดความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปลูกปาล์มอย่างยั่งยืน
วิทยากรบรรยายระหว่างการฝึกอบรมเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อเดือนกรกฎาคม 2562
ร้อยละ 79 ของชาวสวนในประเทศไทยเป็นเกษตรกรรายย่อย
การแทรกแซงตลาดน้ำมันปาล์มของรัฐบาลมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการแก้ไขปัญหาราคาที่ตกต่ำ กนกวรรณกล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ละสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) ควรส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรและทุกภาคส่วนในห่วงโซ่อุปทาน เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตน้ำมันปาล์มในประเทศให้เป็นมาตรฐานสากลและเพื่อลดผลกระทบด้านลบต่อป่าไม้และสิ่งมีชีวิตทั้งหมด “เราต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาและส่งเสริมเกษตรกรให้สามารถปลูกปาล์มได้อย่างยั่งยืน โรงงานควรซื้อน้ำมันปาล์มจากแหล่งผลิตเหล่านั้น และต้องทำการสื่อสารให้ผู้บริโภครับทราบด้วย” เธอกล่าว
สวนปาล์มน้ำมันและโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบในประเทศไทย กว่าร้อยละ 86.4 ของพื้นที่ในประเทศทั้งหมด อยู่ในจังหวัดกระบี่ สุราษฎร์ธานี และชุมพร
บทบาทของผู้บริโภคที่ขาดหายไป น้ำมันปาล์มที่ยั่งยืนไม่เป็นที่ต้องการ เนื่องจากผู้คนไม่รู้ว่าน้ำมันปาล์มเป็นส่วนประกอบสำคัญที่พบในผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวัน “ผู้บริโภคจำนวนมากคิดว่าปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าเป็นเรื่องที่ไกลตัวและไม่ใช่ปัญหาที่พวกเขาสร้างขึ้น แต่ความจริงแล้วมันเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามาก เพราะกว่าร้อยละ 50 ของผลิตภัณฑ์ที่ถูกใช้ในชีวิตประจำวัน มีน้ำมันปาล์มเป็นส่วนประกอบอยู่” กนกวรรณกล่าวเพิ่มเติมว่า การจะปลูกปาล์มอย่างยั่งยืนเกษตรกรต้องทำตามขั้นตอนต่างๆมากมายและต้องเข้ารับการอบรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะของตนเอง รวมถึงการได้รับการรับรอง RSPO นั้น ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากเช่นกัน
เมื่อผู้บริโภคเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมาย RSPO ค่าใช้จ่ายที่พวกเขาเสียไปจะย้อนกลับไปเป็นกำไรคืนสู่เกษตรกรผู้ปลูกปาล์ม อันจะเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและครอบครัว รวมทั้งสร้างแรงจูงใจในการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

คืนกำไรและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกร
น้ำมันปาล์มโอลีอินที่ถูกวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าเทสโก้ (Tesco) เป็นน้ำมันปาล์มชนิดแรกในประเทศไทยที่ได้รับเครื่องหมาย RSPO (Roundtable on Sustainable Palm Oil) ในการรับรองการผลิตและการบริโภคน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน
อีกหนึ่งบทบาทที่ไม่ควรมองข้าม… ของชาวสวนปาล์มน้ำมัน

เกษตรกรผู้ผลิตน้ำมันปาล์มเป็นจุดเริ่มต้น พวกเขาดูแลกระบวนการทั้งหมดตั้งแต่การเพาะปลูก การให้ปุ๋ย และกิจกรรมอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับสวนปาล์ม เราได้พูดคุยกับนางประคอง สกุลสวน เกษตรกรที่อยู่กับปาล์มน้ำมันในจังหวัดกระบี่มานานกว่า 40 ปี

“ในอดีตเมื่อเราพูดถึงน้ำมันปาล์ม ทุกคนจะนึกถึงน้ำมันพืชที่ใช้ในครัวเรือนเท่านั้น แต่ทุกวันนี้เราพบผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นยาสีฟัน แชมพู สบู่ โลชั่น เครื่องสำอาง น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก อาหาร น้ำมันรถยนต์ และอื่นๆ ซึ่งจุดกำเนิดของผลิตภัณฑ์เหล่านั้น คือ ปาล์มน้ำมัน”
ประคอง สกุลสวน
เราจะทำอย่างไรให้ปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่ยั่งยืน?

ปัจจุบันเกษตรกรในประเทศไทยมีความเข้าใจเกี่ยวกับการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนมากขึ้น ผ่านการที่หลายหน่วยงานได้จัดการฝึกอบรมและคอยให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ของน้ำมันปาล์ม ทำให้เกษตรกรได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“หลังจากการฝึกอบรมเราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนมากขึ้น การลงมือปฎิบัติทำให้เรารู้เกี่ยวกับการเลือกปุ๋ยที่เหมาะสมและเข้าใจวิธีการใช้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น หากพื้นที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำเราจะไม่ใส่ปุ๋ยเพื่อป้องกันการชะล้างสารเคมีลงในน้ำ การใช้ใบตาลปกคลุมดินที่จะช่วยรักษาความชื้นและลดการพังทลายของดิน ความรู้ทั้งหมดที่ได้รับช่วยให้เราเข้าใจและปรับปรุงพื้นที่เพาะปลูก รวมถึงลดการใช้สารเคมี ซึ่งจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และทำให้เรามีความสุขมากขึ้น”

“เราทุกคนต้องช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมโดยเลือกวิธีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ฉันคิดว่าการผลิตน้ำมันปาล์มด้วยวิธีที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นแนวทางที่เกษตรกรทุกคนควรนำไปปฏิบัติ” เธอกล่าว

ติดต่อเรา

  • +66 2 255 4202
  • asean-agrifood@giz.de
  • 39/1 ซอยสุขุมวิท 13, ถนนสุขุมวิท, คลองเตยเหนือ, วัฒนา, กรุงเทพฯ 10110 ประเทศไทย

การเยี่ยมชม

  • 3,123
  • 39,827
  • 1,564,806

สื่อและแหล่งข้อมูล

โครงการ

การป้องกันข้อมูล

สมัครจดหมายข่าว

ติดตามเรา

  • Copyright © 2014 - 2019 | Sustainable Agrifood Systems in ASEAN
Scroll to Top