21 กันยายน 2563

“ผลิตภัณฑ์อินทรีย์” อาชีพเสริมสร้างรายได้งามจากสวนปาล์มน้ำมัน

ปัจจุบันอาชีพเสริมทางการเกษตรได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นในกลุ่มเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรปาล์มน้ำมันที่ต้องเผชิญกับความผันผวนของคุณภาพผลผลิตและราคาของตลาดโลก รวมทั้งต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกร ดังนั้นการหารายได้เพื่อเสริมต้นทุนของปัจจัยการผลิต และเป็นทางเลือกในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ
คน ช้าง และสวนปาล์มสามารอยู่ร่วมกันได้และไม่ทำร้ายกัน

คุณระเบียบ การเร็ว เป็นเกษตรกรหญิงชาวสวนปาล์มน้ำมัน ตำบลทับปริก อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ อีกคนที่มองหารายได้เสริมจากอาชีพสวนปาล์มของครอบครัวและได้มีการลองผิดลองถูกจนกระทั่งประสบความสำเร็จจนถึงทุกวันนี้

“การหมั่นศึกษาหาความรู้ และมองหาโอกาสจากสิ่งรอบตัว ทำให้เรามีอยู่มีกินในทุกสถานการณ์” คุณระเบียบกล่าว

ระเบียบ การเร็ว เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ตำบลทับปริก อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่

ในปีพ.ศ. 2553 คุณระเบียบได้เล็งเห็นว่าทำสวนปาล์มมาหลายปียังได้ผลผลิตและกำไรไม่ดีนัก จึงหาแนวทางในการลดต้นทุนการผลิตปาล์มน้ำมันไปพร้อมกับการ ‘เพาะเห็ดในสวนปาล์ม’ โดยใช้ทะลายปาล์มเปล่าที่เหลือทิ้งจากกระบวนการผลิต เพราะเห็นว่ายังไม่ค่อยมีใครทำและตลาดยังไม่กว้าง คุณระเบียบจึงปรับใช้พื้นที่ว่างระหว่างแถวในสวนปาล์มน้ำมันเพื่อเริ่มเพาะเห็ดฟางลาน และใช้น้ำจากห้วยน้ำเล็กๆ ที่ติดกับพื้นที่สวนของตนมาใช้เพาะเลี้ยง

สามปีต่อมา คุณระเบียบ ได้เริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบผังแปลง วางผังแปลงใหม่ โดยปรับเปลี่ยนเป็นการเพาะเห็ดฟางโรงเรือนและใส่ปุ๋ยเคมีร่วมกับการคลุมโคนด้วยทะลายเปล่าปาล์มน้ำมัน ต่อมาในปีพ.ศ. 2560 จึงหยุดการใส่ปุ๋ยเคมีและทะลายเปล่าปาล์มน้ำมันร่วมกับการใส่ปุ๋ยหมักที่ทำขึ้นเอง เพราะเธอและครอบครัวก็บริโภคเห็ดจากฟาร์มนี้ หากลดการใช้สารเคมีจะมีผลดีต่อทั้งครอบครัวของเธอและผู้บริโภคด้วย ผลิตภัณฑ์เห็ดของคุณระเบียบจึงมีคุณภาพ สะอาด อร่อย ไม่มีกลิ่นเหม็นเพราะจะนำทะลายเปล่าปาล์มน้ำมันมาล้างให้สะอาดก่อนและฆ่าเชื้อโดยการอบไอน้ำก่อนนำขึ้นโรงเรือนทุกครั้ง

ด้วยจุดขายหลักคือ ความสะอาด รสชาติ ความกรอบและไม่มีกลิ่นของทะลายเปล่าปาล์มน้ำมันทำให้ลูกค้าชอบและขายดีเพราะผลิตภัณฑ์เห็ดคุณระเบียบได้รับมาตรฐานการปฏิบัติการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice : GAP) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 นอกจากนี้ สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองกระบี่ยังจัดให้โรงเพาะเห็ดของคุณระเบียบเป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพสินค้าเกษตร (ศพก.)อีกด้วย

ปัจจุบัน คุณระเบียบในฐานะประธานกลุ่มเครือข่ายด้านการผลิตเห็ดฟางจากทะลายเปล่าปาล์มน้ำมัน สามารถผลิตเห็ดเพื่อจำหน่ายวันละ 60 – 80 กิโลกรัม ขายได้วันละ 2,000 – 3, 000 บาท ปัจจุบันจำหน่ายที่ตลาดเกษตรกร แมคโคร ส่งตามร้านอาหารและโรงแรมในจังหวัดกระบี่ และเป็นที่รู้จักมากขึ้น รายได้สุทธิจากการขายเห็ดอยู่ที่ 321,373 บาทในปีพ.ศ. 2562 นับว่าเป็นรายได้เสริมที่เยอะมากและมีความภูมิใจที่ทำได้

ปุ๋ยหมักชีวภาพ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เกษตรกสวนปาล์มหญิงแกร่งผู้นี้ใช้เป็นอาชีพเสริม เธอเริ่มศึกษาอย่างจริงจัง ไม่อยากทิ้งทะลายเปล่าปาล์มน้ำมันไว้โดยที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เธอได้รับความรู้จากการเข้าร่วมโครงการ 9101 ตามรอยพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืน ในปีพ.ศ. 2560 มาลงมือปฎิบัติแบบลองผิดลองถูกจนเห็นผล ปัจจุบัน จึงทำให้เธอปรับเปลี่ยนจากการใช้ปุ๋ยเคมีมาเป็นปุ๋ยอินทรีย์จากทะลายเปล่าเพิ่มมากขึ้น สามารถผลิตปุ๋ยหมักเพื่อใช้เองและจำหน่ายให้แก่เพื่อนเกษตรกร รวมถึงผู้ที่สนใจนำไปขายต่อ เพื่อนำไปใช้ปรับปรุงคุณภาพดินและเพิ่มธาตุอาหารให้กับปาล์มและพืชอื่นๆ จนเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน เธอเล่าว่ารายได้สุทธิจากปุ๋ยชีวภาพทะลายเปล่าปาล์มน้ำมันในปีที่ผ่านมาประมาณ 282,800 บาท โดยต้นทุนประมาณ 90% เป็นค่าวัตถุดิบ เช่น ทะลายเปล่าปาล์มน้ำมัน มูลไก่ ขี้เถ้า กากน้ำตาล เป็นต้น ถึงแม้ว่าจะมีค่าวัตถุดิบที่สูงแต่ก็ให้ผลกำไรที่คุ้มค่า

ทุกวันนี้ ครอบครัวของคุณระเบียบมีรายได้จากอาชีพเสริมมากกว่าอาชีพหลักคือการทำสวนปาล์มน้ำมันแล้ว อย่างไรก็ตาม คุณระเบียบยืนยันว่าจะพัฒนาสวนปาล์มที่เป็นมรดกมาจากพ่อแม่ไปเรื่อยๆ ให้ประสบความสำเร็จไปด้วยกัน

ปัจจุบัน เกษตรกรมองถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจหลายชนิดต้องมีการปรับตัว คุณระเบียบซึ่งเป็นเกษตรกรชาวสวนปาล์มที่กำลังจะเข้าสู่ระบบการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  (Roundtable on Sustainable Palm Oil : RSPO) จึงเล็งเห็นความสำคัญของการจัดการสวนของตนเอง

ในสวนปาล์มน้ำมันของคุณระเบียบอยู่ใกล้กับแหล่งเลี้ยงช้าง ซึ่งปกติแล้วช้างต้องเดินผ่านเข้าออกในสวนปาล์มทุกวัน คุณระเบียบบอกว่า ช้างกับปาล์มอยู่ร่วมกันได้ เราไม่ได้ทำร้ายช้าง และที่เลี้ยงช้างก็เป็นธุรกิจที่อยู่ใกล้เคียง ดังนั้นเวลาช้างเดินผ่านเข้าออกในสวน เราก็ได้ประโยชน์จากมูลของช้าง ซึ่งเป็นปุ๋ยที่ดีชนิดหนึ่ง

“การจัดการสวนที่เป็นไปตามระบบมาตรฐาน เป็นที่แน่นอนว่าจะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ในทางปฏิบัตินั้นทำได้ไม่ยาก การเข้าร่วมโครงการกับ GIZ ช่วยให้เกษตรกรได้ปฏิบัติที่ถูกต้องและยั่งยืน อีกอย่างการสนับสนุนจากทางโรงงานจะมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้เกษตรกรดำเนินการได้เร็วขึ้นและเห็นประโยชน์ที่ชัดเจนจากการร่วมมือกัน”

“การจะทำให้เกิดความยั่งยืนทั้งด้านของผลผลิต รายได้ และสิ่งแวดล้อมนั้น การมองหาโอกาสจากสิ่งรอบตัวจนเกิดเป็นรายได้หลายช่องทาง เป็นสิ่งที่สำคัญที่จะส่งผลให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” คุณระเบียบกล่าวทิ้งท้าย

ติดต่อเรา

  • +66 2 255 4202
  • asean-agrifood@giz.de
  • 39/1 ซอยสุขุมวิท 13, ถนนสุขุมวิท, คลองเตยเหนือ, วัฒนา, กรุงเทพฯ 10110 ประเทศไทย

การเยี่ยมชม

  • 566
  • 40,020
  • 1,565,453

สื่อและแหล่งข้อมูล

โครงการ

การป้องกันข้อมูล

สมัครจดหมายข่าว

ติดตามเรา

  • Copyright © 2014 - 2019 | Sustainable Agrifood Systems in ASEAN
Scroll to Top