19 ตุลาคม 2563

จีไอแซดจับมือภาครัฐ-เอกชนเดินหน้าเชื่อมโยงตลาดข้าวยั่งยืนเพื่อเกษตรกรไทย

โครงการตลาดนำการผลิตเพื่อเกษตรกรรายย่อย (ประเทศไทย) ชูอุบลราชธานี ร้อยเอ็ด และสุรินทร์ให้เป็นพื้นที่นำร่องผลิตข้าวยั่งยืนพร้อมตั้งเป้าหมายผลผลิตไม่น้อยกว่า 1.5 แสนตัน สร้างโอกาสส่งออกข้าวยั่งยืนในตลาดโลก

อุบลราชธานี วันที่ 15 ตุลาคม 2563 – องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ภายใต้โครงการตลาดนำการผลิตเพื่อเกษตรกรรายย่อย (ประเทศไทย) (Market-oriented Small Holder Value Chain: MSVC TH) หรือ เบรีย 2 (BRIA II) ร่วมกับ กรมการข้าว บริษัทโอแลม (ประเทศไทย) จำกัด และคร็อปไลฟ์ (CropLife) จัดงาน “วันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าวที่ยั่งยืน” และพิธีลงนาม MOU การรับซื้อข้าวจากเกษตรกรระหว่างเกษตรกรผู้ผลิตข้าวที่ยั่งยืน โรงสี และบริษัท โอแลม (ประเทศไทย) จำกัด ณ แปลงสาธิตการผลิตข้าวที่ยั่งยืน บ้านดอนหมู ตำบลขามเปี้ย อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีผู้แทนจากกรมการข้าว GIZ ผู้ประกอบการโรงสี ผู้นำเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ และเกษตรกรในจังหวัดใกล้เคียงเข้าร่วมงานกว่า 300 ราย

การจัดงานครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มทักษะความสามารถของเกษตรกรไทยในการผลิตข้าวตามมาตรฐานข้าวยั่งยืนผ่านเทคนิคในการทำนารูปแบบใหม่ที่สามารถลดต้นทุนและช่วยลดโลกร้อน ได้แก่ การวางแผนการเพาะปลูก การจัดการแปลงนาร่วมกัน การใช้เครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าว การควบคุมกำจัดวัชพืช การผสมปุ๋ยใช้เองตามผลตรวจดิน การจัดการฟางข้าวและตอซัง และการกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีผสมผสาน เทคนิคเหล่านี้จะช่วยบำรุงดินและฟื้นฟูระบบนิเวศจากการลดการใช้สารเคมี ส่งเสริมการใช้สารเคมีอย่างปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเหมาะสม สร้างสังคมที่น่าอยู่ให้กับชุมชนได้
ดร.อรรถวิชช์ วัชรพงศ์ชัย ผู้อำนวยการโครงการตลาดนำการผลิตเพื่อเกษตรกรรายย่อย (ประเทศไทย) กล่าวรายงานการประชุม
ดร.อรรถวิชช์ วัชรพงศ์ชัย ผู้อำนวยการโครงการตลาดนำการผลิตเพื่อเกษตรกรรายย่อย (ประเทศไทย) (Market Oriented Small Holder Value Chain: MSVC-TH) กล่าวว่า โครงการฯ มีการดำเนินการตามนโยบายส่งเสริมการผลิตและสร้างห่วงโซ่คุณค่าของข้าวยั่งยืนให้กับเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มีการเชื่อมโยงตลาดและจุดรับซื้อข้าวจากเกษตรกรที่ผลิตตามมาตรฐานข้าวยั่งยืนในพื้นที่ชุมชนนำร่องเพื่อสร้างศักยภาพทางการตลาดและส่งออกข้าวยั่งยืนในตลาดโลก โดยโครงการมีกรอบระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2561 – กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 และมีพื้นที่เป้าหมายในสามจังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด และสุรินทร์ และมีเป้าหมายผลผลิตไม่น้อยกว่า 1.5 แสนตัน และเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศเพื่อโอกาสสำหรับการส่งออกในเวทีโลกซึ่งจะเป็นต้นแบบการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าของข้าวยั่งยืนต่อไป

“ทางโครงการฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเชื่อมโยงตลาดให้กับเกษตรกรและสนับสนุนนโยบายตลาดนำการผลิต จึงได้ดำเนินการขยายผลการฝึกอบรมทักษะและเทคนิคการทำนารูปแบบใหม่ที่สามารถลดต้นทุน ช่วยลดโลกร้อน และเพิ่มผลผลิตข้าวที่ยั่งยืนให้กับเกษตรกร และวันนี้เราได้จัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าวยั่งยืนและพิธีลงนาม MOU ระหว่างเกษตรกรผู้ผลิต ข้าวยั่งยืนกับ บริษัท โอแลม (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับเกษตรกรและเชื่อมโยงตลาดข้าวหอมมะลิที่ผลิตตามมาตรฐานข้าวยั่งยืนอย่างเป็นระบบมากขึ้น”   ดร.อรรถวิชช์กล่าว

สำหรับปี 2563 โครงการ MSVC TH ได้ดำเนินการขยายผลการฝึกอบรมการผลิตข้าวที่ยั่งยืนให้กับเกษตรกรไปแล้วกว่า 10,000 ราย จากกลุ่มเกษตรกร 100 กลุ่มในจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดสุรินทร์ โดยมีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงตลาดข้าวหอมมะลิที่ผลิตตามมาตรฐานข้าวยั่งยืนจำนวนประมาณ 60,000 ตันข้าวเปลือก

ในปี พ.ศ.2562 ผู้ตรวจประเมินตามมาตรฐานการผลิตข้าวยั่งยืนจากต่างประเทศได้เข้าทำการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสำหรับการปลูกข้าวอย่างยั่งยืน (Sustainable Rice Platform: SRP) ในกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดอุบลราชธานี ผลการประเมินพบว่าเกษตรกรในพื้นที่มีมาตรฐานการปลูกข้าวอยู่ในระดับที่ยั่งยืนโดยได้รับคะแนนเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 93.87 ตามดัชนีชี้วัดสมรรถนะ SRP ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2554 โดยจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศร่วมกับเครือข่ายสมาชิกจากภาคเอกชน ประชาสังคม ตลอดจนชุมชนวิจัยและพัฒนากว่า 100 องค์กรเพื่อขับเคลื่อนตลาดการค้าข้าวระดับโลก และส่งเสริมแนวทางการจัดซื้อจัดหาอย่างยั่งยืนให้เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรและสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการผลิตข้าวให้น้อยที่สุด

นางสาวนราวดี โหมดนุช ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์วิจัยเพื่อความยั่งยืนจากบริษัท โอแลม (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่านอกเหนือจากด้านราคา คุณภาพ และความปลอดภัย อันเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าแล้ว ผู้บริโภคยุคใหม่ยังได้ให้ความสำคัญกับผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการผลิตสินค้าเหล่านั้นด้วย 

“ข้าวหอมมะลิไทยนั้นมีชื่อเสียงในตลาดโลกอยู่แล้วเรื่องของคุณภาพ และความหอมอันเป็นเอกลักษณ์ การที่โครงการ MSVC TH เข้ามาช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรให้มีการปรับเปลี่ยนมาสู่การทำนาอย่างยั่งยืน และได้รับการรับรองตามมาตรฐานข้าวยั่งยืน (SRP) จึงเป็นการยกระดับข้าวไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลที่ครอบคลุมในทุกมิติ ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะการผลิต การตลาด และการบริโภคอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องเดินควบคู่กันไป”
นายธนู ทัฬหกิจ ผู้แทนเกษตรกร และมิสเตอร์ เร็กซ์ โธมัส ผู้จัดการทั่วไปบริษัท โอแลม (ประเทศไทย) จำกัด ลงนามในข้อตกลงร่วมกันระหว่างเกษตรกร โรงสี และโอแลมเพื่อรับซื้อข้าวยั่งยืนจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ
นายธนู ทัฬหกิจ ประธานกลุ่มข้าวยั่งยืนบ้านดอนหมู ตำบลขามเปี้ย อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวในฐานะตัวแทนเกษตรกรว่ามาตรฐานข้าวยั่งยืนว่าเกษตรกรในพื้นที่มีความตื่นตัวในการเข้าร่วมโครงการฯ ทำให้กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวยั่งยืนมีสมาชิกเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในระยะเวลาเพียงสองปี อย่างไรก็ตามพี่น้องเกษตรกรยังจำเป็นต้องรู้จักปรับตัวนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้ในการการผลิตข้าวตามมาตรฐานข้าวยั่งยืนเพื่อรับมือกับผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนต่อการปลูกข้าวและสร้างโอกาสให้กับเกษตรกรเข้าสู่ตลาดข้าวใหม่ ๆ ในเวทีโลกได้

“เกษตรกรไทยจะสามารถสร้างรายได้จากการทำนาได้อย่างยั่งยืนได้ก็ต่อเมื่อรู้จักให้ความสำคัญและดูแลเอาใจใส่ในวิธีการการผลิตข้าวตามมาตรฐานข้าวยั่งยืนอย่างจริงจัง เพื่อสร้างโอกาสให้กับข้าวยั่งยืนไทยในตลาดข้าวระดับโลกและเป็นแนวทางการปฏิบัติที่ยั่งยันให้เป็นตัวอย่างกับเกษตรกรรุ่นใหม่ต่อไป”
องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เป็นองค์กรของรัฐบาลเยอรมันที่ดำเนินงานด้านความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน GIZ ปฏิบัติงานในนามของหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนทั้งในประเทศเยอรมนีและต่างประเทศ รวมทั้งรัฐบาลของประเทศต่างๆ สหภาพยุโรป องค์การสหประชาชาติ ธนาคารโลก และองค์กรที่ให้ทุนอื่นๆ GIZ ดำเนินงานอยู่ในกว่า 120 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานทั้งสิ้นประมาณ 22,000 คน ซึ่งร้อยละ 70 เป็นคนในประเทศ

ติดต่อเรา

  • +66 2 255 4202
  • asean-agrifood@giz.de
  • 39/1 ซอยสุขุมวิท 13, ถนนสุขุมวิท, คลองเตยเหนือ, วัฒนา, กรุงเทพฯ 10110 ประเทศไทย

การเยี่ยมชม

  • 847
  • 40,301
  • 1,565,734

สื่อและแหล่งข้อมูล

โครงการ

การป้องกันข้อมูล

สมัครจดหมายข่าว

ติดตามเรา

  • Copyright © 2014 - 2019 | Sustainable Agrifood Systems in ASEAN
Scroll to Top