นักศึกษามากกว่า 100 คนจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพรนำร่อง เข้าร่วมฝึกฝนการเป็นนักธุรกิจการเกษตรมืออาชีพ ผ่าน 3 ห้องเรียน เพื่อเก็บเกี่ยวทักษะ องค์ความรู้ และประสบการณ์จากเกษตรกรต้นแบบ เพื่อพลิกโฉมสวนกาแฟโรบัสต้าให้กลายเป็นธุรกิจ สร้างรายได้ให้ตนเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน
นายวิบูลย์ รัตนาภรณ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เปิดเผยว่า “โครงการคอฟฟี่พลัส และโรงเรียนธุรกิจสำหรับเกษตรกรมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากกาแฟเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทย สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในภาคใต้ของไทยจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดชุมพร ความต้องการของตลาดก็มีแนวโน้มเติบโตขึ้น แต่ผลผลิตกาแฟในประเทศกลับลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นราคากาแฟตกต่ำ และราคาของพืชเศรษฐกิจตัวอื่น เช่น ทุเรียน สูงกว่ากาแฟ ภาครัฐจึงเล็งเห็นความสำคัญในการเร่งแก้ไขปัญหา และดำเนินยุทธศาสตร์กาแฟประจำปี 2560-2564 เพื่อให้อุตสาหกรรมกาแฟไทย และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พัฒนาคุณภาพเมล็ดกาแฟสู่มาตรฐานสากลได้”
บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทยได้จัดกิจกรรมโรงเรียนนักธุรกิจกาแฟ FBS – SmartGen ขึ้น ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร จังหวัดชุมพร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ในการทำการเกษตรเชิงธุรกิจ และสร้างแรงบันดาลใจให้นักศึกษาที่จะสามารถประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพเกษตรกรในอนาคต
ภายในบริเวณงาน กิจกรรมโรงเรียนธุรกิจสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟมืออาชีพ หรือ Farmer Business School (FBS) จะแบ่งออกเป็น 3 ห้องเรียน ได้แก่ ห้องเรียนที่ 1 – ‘เพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน ได้อย่างไร’ ห้องเรียนที่ 2 – ‘เทคนิคพัฒนาคุณภาพผลผลิต เพิ่มรายได้’ และห้องเรียนที่ 3 – ‘เรียนรู้เคล็ดลับสู่การเป็นนักธุรกิจเกษตร’
หลังจากเข้าร่วมฝึกฝนทักษะการเป็นนักธุรกิจเกษตรแล้ว เกษตรกรชาวสวนกาแฟตัวจริงจะมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การปลูกกาแฟให้เกษตรกรรุ่นใหม่ได้ฟังในช่วง Coffee Genius Talk เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นให้เกษตรรุ่นใหม่หันมาปลูกกาแฟโรบัสต้ากันมากขึ้น และมองการปลูกกาแฟให้เป็นธุรกิจเกษตร
ว่าที่ร้อยตรี นิพนธ์ ภู่พลับ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร เปิดเผยว่า “ทางวิทยาลัยเตรียมบรรจุหลักสูตรโรงเรียนธุรกิจสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกกกาแฟมืออาชีพ หรือ Farmer Business School (FBS) ไว้ในชั้นเรียนของวิทยาลัย และวางแผนจะใช้แปลงสาธิตการปลูกพืชร่วมกับกาแฟเป็นพื้นที่เรียนรู้ให้กับนักศึกษาที่สนใจ รวมทั้งนำความรู้และแนวคิดในการทำเกษตรแบบธุรกิจขยายผลสู่ที่บ้านและผู้ปกครองของนักศึกษา ตลอดจนขยายผลสู่วิทยาลัยเกษตรในภาคใต้อีกจำนวน 8 แห่งในอนาคตอันใกล้ อีกด้วย”
นายทาธฤษ กุณาศล ผู้จัดการฝ่ายบริการการเกษตร บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวว่า “ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของโลกในปัจจุบันมีผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งในด้านสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม จึงมีความจำเป็นต้องปลูกฝังเกษตรกรรุ่นใหม่ให้พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ การเปลี่ยนมุมมองด้านการเกษตรให้เป็นเชิงธุรกิจหรือ Agripreneurship Development Program โดยการถ่ายทอดความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมถึงการฝึกฝนทักษะด้านการเกษตรที่จำเป็น จะทำให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนจากผลผลิตที่คุ้มค่าในระยะยาว”
ด้านนางพจมาน วงษ์สง่า ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาระบบการผลิตกาแฟของผู้ประกอบการรายย่อยในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ หรือโครงการคอฟฟี่พลัส (Coffee+) ประเทศไทย กล่าวว่า “ทางโครงการมองเห็นโอกาสของความร่วมมือ จึงได้จัดอบรมทักษะและองค์ความรู้ที่จำเป็นในการประกอบการเกษตรในรูปแบบธุรกิจแก่เกษตรกร เช่น กลไกราคาและตลาด การวางแผนการผลิต การคำนวณต้นทุนและกำไร การปลูกพืชผสมผสานเพื่อลดความเสี่ยง รวมถึงการปลูกฝังวินัยการจดบันทึก และการออมเงินอย่างถูกวิธี นอกจากการฝึกอบรมแก่กลุ่มเกษตรกรแล้ว หลักสูตรโรงเรียนธุรกิจสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟมืออาชีพ หรือ Farmer Business School (FBS) ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย GIZ นั้น ยังเหมาะกับคนรุ่นใหม่ที่จะมารับช่วงต่อจากเกษตรกรรุ่นพ่อแม่ ซึ่งนำไปสู่ความยั่งยืนอีกด้วย”
โครงการคอฟฟี่พลัส (Coffee+) เป็นโครงการที่เกิดขึ้นที่เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่าง บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ภายในระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี (2561 – 2563) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารายได้ และสนับสนุนความเป็นอยู่ของเกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกกาแฟโรบัสต้าให้มีผลผลิตและรายได้เพิ่มขึ้น ผ่านการอบรมตามหลักสูตรโรงเรียนธุรกิจสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟมืออาชีพ หรือ Farmer Business School (FBS) ในเขตพื้นที่อำเภอท่าแซะและอำเภอสวี จังหวัดชุมพร และอำเภอกระบุรีและอำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง