10 มีนาคม 2563

เกษตรกรอีสานยิ้มแก้มปริรับเงินโบนัสจากการปลูกข้าวตามมาตรฐานยั่งยืน

หลังเรียนรู้เทคนิคการปลูกข้าวตามมาตรฐานยั่งยืนและปรับปริมาณการใส่ปุ๋ยให้เหมาะสมตามสภาพแปลงนาของตน เกษตรกรผู้ปลูกข้าวหลายรายในจังหวัดอุบลราชธานีต่างพากันยิ้มแก้มปริรับเงินโบนัสจากการผลิตข้าวที่มีสิ่งเจือปนต่ำและเป็นไปตามมาตรฐานการผลิตข้าวยั่งยืนสากล พร้อมเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรคนอื่น ๆ ที่ยังลังเลใจไม่กล้าปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตข้าว

สมาชิกเกษตรกรจากโครงการริเริ่มข้าวที่ดีขึ้นแห่งเอเชีย (Better Rice Initiative Asia: BRIA) หันมาผลิตข้าวตามมาตรฐานการผลิตข้าวที่ยั่งยืนแห่งแรกของโลก หรือ Sustainable Rice Platforms (SRPs) ตามคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ของโครงการ

โดยในปีนี้ รวมแล้วมีเงินโบนัสสูงถึง 900,000 บาทได้ถูกแจกจ่ายออกไปให้แก่เกษตรกรมากกว่า 1,200 คนในหลายอำเภอของจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งถือเป็นรายได้เพิ่มเติมให้เกษตรกรมีกำลังใจผลิตข้าวที่ดีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป

เกษตรกรจากอำเภอสำโรง จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมลูกสาว โชว์ซองใส่เงินโบนัสในมือ (เครดิตรูปภาพ: GIZ ประเทศไทย)
เกษตรกรจากอำเภอสำโรง จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมลูกสาว โชว์ซองใส่เงินโบนัสในมือ (เครดิตรูปภาพ: GIZ ประเทศไทย)

นางชมภู ทิพวงศ์ เกษตรกรอายุ 67 ปีจากบ้านท่าลาด อำเภอสำโรงกล่าวว่า การหันมาใช้ปุ๋ยสั่งตัดช่วยให้ดินในแปลงนาของตนเองนั้นอุดมสมบูรณ์ขึ้น และยังช่วยให้ตนเองประหยัดเงินต้นทุนไปมาก “ตอนนี้ ใส่ปุ๋ยเท่าที่จำเป็นและใส่ให้ถูกเวลา ซึ่งช่วยทำให้ต้นกล้าแข็งแรงและประหยัดเงินต้นทุนไปเยอะ จากเมื่อก่อน จ่ายค่าปุ๋ยปีละ 9,000 บาท เดี๋ยวนี้ เหลือแค่ 5,000 บาทเอง”

เกษตรกรพบปะกับตัวแทนจากบริษัทโอแลม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัดและองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ.2563 (เครดิตรูปภาพ: GIZ ประเทศไทย)
เกษตรกรพบปะกับตัวแทนจากบริษัทโอแลม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัดและองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ.2563 (เครดิตรูปภาพ: GIZ ประเทศไทย)

นางชมภูปลูกข้าวอยู่ทั้งหมด 80 ไร่ โดยเธอได้แบ่ง 7 ไร่ออกไปเพื่อปลูกข้าวเหนียวไว้สำหรับกินกันเองภายในครอบครัว อีก 3 ไร่เธอไว้ปลูกผักทั่วไป และหาเลี้ยงชีพด้วยการปลูกข้าวหอมมะลิในพื้นที่ส่วนที่เหลือจำนวน 70 ไร่

ในปี พ.ศ.2562 นางชมภูตัดสินใจขายข้าวหอมมะลิจำนวน 23 ตันให้กับทางโครงการ ซึ่งทำให้เธอได้รับเงินโบนัสมากถึง 2,000 บาทเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยจำนวนเงินโบนัสที่เกษตรกรแต่ละคนได้รับขึ้นอยู่กับค่าสิ่งเจือปนที่อยู่ในข้าว “มีความสุขกับรายได้ปีนี้นะ ส่วนโบนัสเป็นเสมือนเครื่องพิสูจน์ว่า เราก็สามารถผลิตข้าวตามมาตรฐานสากลได้”

นอกจากรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นแล้ว นางชมภูยังใช้ปุ๋ยในปริมาณที่ลดลง จากเดิมที่เคยใช้ 60 กระสอบต่อ 70 ไร่ ปัจจุบัน เหลืออยู่เพียงแค่ 24 กระสอบเท่านั้น

“เข้าร่วมโครงการเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2562 ตอนนั้น ฉันก็ไม่รู้หรอกปุ๋ยสั่งตัดคืออะไร แต่พอเข้าร่วมอบรมได้สักพัก ก็เริ่มผสมปุ๋ยให้ถูกธาตุอาหารพืช ตอนนี้ ผสมสูตรปุ๋ยสั่งตัดจนสนุกล่ะ”

เกษตรกรเข้าแถวรับเงินโบนัสจากเจ้าหน้าที่โครงการ (เครดิตรูปภาพ: GIZ ประเทศไทย)
เกษตรกรเข้าแถวรับเงินโบนัสจากเจ้าหน้าที่โครงการ (เครดิตรูปภาพ: GIZ ประเทศไทย)

นางชมภูและเพื่อน ๆ เกษตรกรอีกหลายคนเข้าร่วมโครงการริเริ่มข้าวที่ดีแห่งเอเชียที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมการข้าว บริษัทโอแลม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐบาลเยอรมันที่ดำเนินงานด้านความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยภายใต้โครงการนำมาตรฐานการปลูกข้าวอย่างยั่งยืนไปปรับใช้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมโดยรวม

ในปี พ.ศ.2562 ผู้ตรวจสอบจากต่างประเทศพบว่า เกษตรกรในจังหวัดอุบลราชธานีมีผลการปฏิบัติตามมาตรฐานที่คะแนนเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 93.87 ซึ่งถือว่าอยู่ใน “ระดับยั่งยืน” แล้ว

อย่างไรก็ตาม ในขณะลงพื้นที่พบปะเกษตรกรระหว่างวันที่ 23 – 24 มกราคม พ.ศ.2563 นั้น นางสาวนราวดี โหมดนุช นักวิเคราะห์วิจัย จากบริษัทโอแลม (ประเทศไทย) จำกัด ยังคงเน้นย้ำกับเกษตรกรในพื้นที่ว่า ในความเป็นจริงแล้ว เงินโบนัสนั้นก็มาจากน้ำพักน้ำแรงของเกษตรกรทุกคนที่พยายามปลูกข้าวเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมไว้

“เงินโบนัสจะช่วยกระตุ้นให้ทุกคนเกิดกำลังใจที่จะปลูกข้าวที่ดีต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการที่เน้นย้ำเรื่องความยั่งยืน ปัจจุบันนี้ ผู้บริโภคเองก็อยากกินข้าวที่ปลูกจากเกษตรกรที่มีความสุข”

นางสาวนราวดี โหมดนุช นักวิเคราะห์วิจัย จากบริษัทโอแลม (ประเทศไทย) จำกัด พูดคุยกับพี่น้องเกษตรกรเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 (เครดิตรูปภาพ: GIZ ประเทศไทย)
นางสาวนราวดี โหมดนุช นักวิเคราะห์วิจัย จากบริษัทโอแลม (ประเทศไทย) จำกัด พูดคุยกับพี่น้องเกษตรกรเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 (เครดิตรูปภาพ: GIZ ประเทศไทย)

ในขณะที่นายมนตรี พรหมลักษณ์ ผู้จัดการโครงการ เน้นย้ำถึงความสำคัญและความจำเป็นในการปรับตัวของพี่น้องเกษตรกรในการเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่ไปปรับใช้เพื่อต่อสู้กับผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน และต้องการให้เกษตรกรเข้าใจถึงผลกระทบของภาวะโลกร้อนต่อการปลูกข้าว “สิ่งที่สำคัญคือเกษตรกรต้องทำรายได้จากการทำนาให้ได้ ความยั่งยืนระยะยาวและการดูแลเอาใจใส่เกษตรกรต้องไปควบคู่กันเพื่อประเทศชาติจะได้พัฒนา และปูทางให้นักการเกษตรหน้าใหม่รุ่นต่อไป”

ทีมในพื้นที่ของโครงการได้เข้าเยี่ยมเกษตรกรเพื่อมอบเงินโบนัสระหว่างวันที่ 23 มกราคม จนถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์​ พ.ศ. 2563

เกษตรกรเข้าแถวรับเงินโบนัสจากเจ้าหน้าที่โครงการ (เครดิตรูปภาพ: GIZ ประเทศไทย)
เกษตรกรเข้าแถวรับเงินโบนัสจากเจ้าหน้าที่โครงการ (เครดิตรูปภาพ: GIZ ประเทศไทย)

เกี่ยวกับโครงการริเริ่มข้าวที่ดีแห่งเอเชีย (Better Rice Initiative Asia: BRIA)

 โครงการริเริ่มข้าวที่ดีแห่งเอเชีย (Better Rice Initiative Asia: BRIA) เข้าสู่ระยะที่ 2 เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2561 โดยยังคงมุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพข้าวและยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวมากกว่า 35,000 รายในสามประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย ไทย และเวียดนาม โดยเกษตรกรจะมีโอกาสได้เรียนรู้เกี่ยวกับมาตรฐานการปลูกข้าวแบบยั่งยืนหรือ Sustainable Rice Platform (SRP) ที่ส่งผลดีต่อสุขภาพของผู้ปลูกเอง ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว โดยโครงการได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลทั้งสามประเทศ บริษัทโอแลม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ในนามของกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร  โครงการจะสิ้นสุดลงในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2565

ติดต่อเรา

  • +66 2 255 4202
  • asean-agrifood@giz.de
  • 39/1 ซอยสุขุมวิท 13, ถนนสุขุมวิท, คลองเตยเหนือ, วัฒนา, กรุงเทพฯ 10110 ประเทศไทย

การเยี่ยมชม

สื่อและแหล่งข้อมูล

โครงการ

การป้องกันข้อมูล

สมัครจดหมายข่าว

ติดตามเรา

  • Copyright © 2014 - 2019 | Sustainable Agrifood Systems in ASEAN