องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) โดยโครงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยด้วยการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพและการเกษตรแบบยั่งยืน (Enhancing Climate Resilience in Thailand through Effective Water Management and Sustainable Agriculture: E-WMSA) ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund: GCF) โดยมีโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) เป็นหน่วยงานในการดำเนินการร่วมกับกรมชลประทาน ได้จัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนและศึกษาดูงาน ณ ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นเวลา 4 วัน ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน ถึง 1 ธันวาคม 2566 โดยมีผู้เข้าร่วมจากประเทศไทย 14 ท่าน ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากกรมชลประทาน เจ้าหน้าที่จากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และผู้แทนกลุ่มผู้ใช้น้ำจากจังหวัดพิษณุโลก ในการนี้ คณะศึกษาดูงานได้เรียนรู้การดำเนินงานภายใต้โครงการ Ecosystem-based management and ecosystem services valuation in two river basins in the Philippines (E2RB) ซึ่งดำเนินการโดย GIZ ประจำประเทศฟิลิปปินส์ร่วมกับกรมสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ (Department of Environment and Natural Resources: DENR) โครงการสนับสนุนการนำมาตรการการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำ (Ecosystem-based Adaptation:EbA) มาใช้ในการบริหารจัดการลุ่มน้ำอิล็อก-ฮิลาบังกัน โดยสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทั้งส่วนราชการ เอกชน และชุมชนในพื้นที่
การศึกษาดูงานในครั้งนี้มีจุดประสงค์ที่จะให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและหารือร่วมกับผู้ปฏิบัติแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ถึงแนวทางในการนำมาตรการ EbA มาใช้อย่างมีส่วนร่วม รวมถึงความท้าทายในการดำเนินงานและโอกาสในการนำมาตรการ EbA มาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยจะพิจารณานำแนวคิดและกระบวนการที่ได้จากประสบการณ์ของประเทศฟิลิปปินส์มาพิจารณาปรับใช้ภายใต้การดำเนินงานของโครงการ E-WMSA อย่างเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่นำร่องโครงการฯ ในจังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย และอุตรดิตถ์
องค์กรภาคีภายใต้โครงการ E2RB นำเสนอ ประเด็นการจัดการทรัพยากรน้ำภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยนำมาตรการ EbA ที่เหมาะสมมาใช้ในการแก้ปัญหาที่เหมาะสมกับพื้นที่ โดยต้นน้ำที่มีปัญหาการลดลดของพื้นที่ป่า ได้มีการฟื้นฟูพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายโดยการจัดตั้งพื้นที่อนุรักษ์ที่นำโดยชุมชนท้องถิ่น กลางน้ำมีการสนับสนุนให้นำพืชท้องถิ่นมาใช้ปลูกตามแนวตลิ่งเพื่อป้องกันปัญหาการกัดเซาะ อีกทั้งมีการสนับสนุนให้ทำแนวกันชนระหว่างพื้นที่ป่า พื้นที่เมือง และพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อลดปัญหาตะกอนและการปนเปื้อนของสารเคมีสู่ลำน้ำ และยังมีโครงการ กิจกรรมเพื่อสังคมจากผู้ผลิตน้ำประปาภาคเอกชนเข้ามาร่วมให้ทุนสนับสนุนโครงการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยให้ทุนสนับสนุน
หลังจากเสร็จสิ้นการนำเสนอข้อมูล ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ลงพื้นที่ศึกษาเพื่อเรียนรู้ตัวอย่างมาตรการ EbA ในการจัดการปัญหาการกัดเซาะริมตลิ่ง โดยมีพืชท้องถิ่น “Miagos bush (Homonoia Riparia)” พืชพันธุ์นี้มีบทบาทสำคัญในการลดการพังทลายของตลิ่งแม่น้ำและลดผลกระทบจากความรุนแรงของพายุไต้ฝุ่น อีกทั้ง ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ร่วมสำรวจระบบนิเวศผ่านกิจกรรมล่องแพไม้ไผ่ในลุ่มแม่น้ำอิล็อก-ฮิลาบังกัน ซึ่งริเริ่มขึ้นให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพื่อช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนท้องถิ่นต่อไป
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่างแลกเปลี่ยนข้อมูลและแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ อาทิ พืชพันธุ์ที่ได้พบในลุ่มแม่น้ำ ซึ่งมีลักษณะคล้ายต้นไคร้น้ำในลุ่มแม่น้ำยม-น่าน ของประเทศไทย ซึ่งพืชนี้มีจุดเด่นตรงที่สามารถอยู่รอดในสภาวะน้ำท่วมและแห้งแล้งได้ อีกทั้งรากของต้นยังสามารถช่วยยึดเกาะตลิ่งริมแม่น้ำอีกด้วย อย่างไรก็ตามด้วยสภาพพื้นที่ที่ประเทศฟิลิปปินส์มีความแตกต่างจากประเทศไทย การพิจารณาเลือกใช้มาตรการ EbA ยังต้องอาศัยการวิเคราะห์ปัญหา ความต้องการ และความเหมาะสมที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ และชุมชนควรได้ประโยชน์ทั้งทางด้านรายได้และความหลายหลายทางชีวภาพที่เกิดขี้น
ผลลัพธ์สำคัญการศึกษาดูงานในครั้งนี้ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นของการผลักดันเชิงนโยบายและการบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการลุ่มน้ำให้สามารถขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนองค์ความรู้และประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ได้ร่วมแบ่งปันจากการศึกษาดูงานครั้งนี้สามารถนำไปพัฒนาและต่อยอดแนวทางในการเสริมสร้างโครงสร้างสีเทาด้วยมาตรการ EbA ให้มีความยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“ในนาผมมี ต้นกรด เป็นไม้ที่นำท่วมขังนานๆ ไม่ตาย ลักษณะเหมือนไม้โกงกางชายทะเล เป็นที่อาศัยของปลา เมื่อสมัยก่อนมีเยอะมากครับ ลำคลองบางแก้ว คลองเมม หรือแม่น้ำยมสายเก่า แต่พอเจองานขุดลอกก็เลยหายไปเยอะครับ แต่ก็ยังพอจะมีอยู่บ้าง ยังจะฟื้นฟูได้” คุณสมศักดิ์ บ่องเขาย้อย สมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลกได้กล่าวไว้ ■