
เขียนโดย: พัชรินทร์ แซ่เฮง ผู้ช่วยโครงการ โครงการภาคเกษตรกรรมภายใต้แผนงานความร่วมมือไทย-เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการเกษตร ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลไทยต้องสนับสนุนการใช้เครื่องมือที่แม่นยำสำหรับวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากนาข้าว เพื่อส่งเสริมการผลิตข้าวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
และเราจะวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำนาข้าวได้อย่างไร?
การฝึกอบรมและให้ความรู้เรื่องการวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากนาข้าว ที่จัดขึ้นครั้งแรกโดยกรมการข้าว สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (IRRI) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศเยอรมัน (GIZ) จะช่วยให้นักวิจัยจากศูนย์วิจัยข้าวและศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวในจังหวัดชัยนาท อ่างทอง ปทุมธานี สิงบุรี พระนครศรีอยุธยา และสุพรรณบุรี สามารถวิเคราะห์และเก็บก๊าซเรือนกระจกจากนาข้าว ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการคำนวณและวิเคราะห์ จะนำไปสู่การขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ กรุงปารีส เดือนธันวาคม ปีพ.ศ. 2559 ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยได้ให้คำมั่นว่าประเทศไทยจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้อย่างน้อย 11 ล้านตัน
การฝึกอบรมครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 27 มีนาคม พ.ศ. 2562 ที่ศูนย์วิจัยข้าว จังหวัดปราจีนบุรี โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับผู้เข้าอบรมในเรื่องการวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจก และขั้นตอนการส่งข้อมูลระหว่างนักวิจัยจากศูนย์วิจัยข้าวกับคณะทำงานที่ดูแลเรื่องการจัดเก็บข้อมูลที่กรมการข้าว
การอบรมเริ่มจากการที่กลุ่มนักวิจัยเรียนรู้วิธีเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ก๊าซที่ได้จากที่นา โดยประกอบด้วยการเก็บตัวอย่างก๊าซจากกล่องดักก๊าซ (Collecting Chamber) จากนาข้าว การวิเคราะห์ความเข้มข้นของก๊าซโดยเครื่องแก็สโครมาโทกราฟ (gas chromatograph) และการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากตัวอย่างก๊าซที่เก็บมา จากนั้นจะส่งข้อมูลไปยังศูนย์ใหญ่ ที่มีสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรและสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบด้านนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคการเกษตร
เครื่องแก๊สโครมาโทกราฟ (gas chromatograph) เป็นอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลง ใช้สำหรับวิเคราะห์การปล่อยก๊าซ การอบรมในครั้งนี้ เน้นเนื้อหาไปที่องค์ประกอบโดยรวมของการจัดเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกรมการข้าว และการฝึกเก็บตัวอย่างก๊าซจากนาข้าว ซึ่งการฝึกอบรมในอนาคต นักวิจัยจากกรมการข้าวจะได้เรียนรู้วิธีการใช้เครื่องแก๊สโครมาโทกราฟนี้อย่างถูกด้องมากขึ้น
โครงการภาคเกษตรกรรมภายใต้แผนงานความร่วมมือไทย-เยอรมัน เริ่มดำเนินงานเมื่อปีพ.ศ. 2561 เพื่อตอบสนองต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยโครงการฯ ทำหน้าที่สนับสนุนหน่วยงานของไทยในการลดก๊าซเรือนกระจกและประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะในพื้นที่นาข้าวและการพัฒนาระบบการตรวจวัด รายงานผล และทวนสอบ (MRV) เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล


(เครดิตรูปภาพ: ศูนย์วิจัยข้าว จ.ปราจีนบุรี)