26 มกราคม 2567

ไทย-เยอรมัน ส่งเสริมชาวนาปลูกข้าวลดโลกร้อน พร้อมปรับตัวสู่วิถีเกษตรยั่งยืน

เรื่องและภาพ:กลุ่มโครงการเกษตรและอาหาร/GIZ ประเทศไทย

ประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐเยอรมนี ดร.ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ (H.E. Dr. Frank-Walter Steinmeier) และภริยานางเอลเคอ บือเดนเบนเดอร์ (Elke Budenbender) พร้อมคณะ รับฟังการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโครงการระบบการผลิตข้าวยั่งยืนแบบองค์ (Inclusive Sustainable Rice Landscapes Project)จากดร.อรรถวิชย์ วัชรพงศ์ชัย ผู้จัดการโครงการฯ ประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐเยอรมนี ดร.ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ (H.E. Dr. Frank-Walter Steinmeier) และภริยานางเอลเคอ บือเดนเบนเดอร์ (Elke Budenbender) พร้อมคณะ รับฟังการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโครงการระบบการผลิตข้าวยั่งยืนแบบองค์ (Inclusive Sustainable Rice Landscapes Project)จากดร.อรรถวิชย์ วัชรพงศ์ชัย ผู้จัดการโครงการฯ

ดร.ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ (H.E. Dr. Frank-Walter Steinmeier) ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และภริยาพร้อมคณะ เดินทางเข้าเยี่ยมชมสวนตารมย์ บ้านดอนหมู อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นพื้นที่แปลงเกษตรสาธิตขนาด 35 ไร่ ของโครงการระบบการผลิตข้าวยั่งยืนแบบองค์รวม (Inclusive Sustainable Rice Landscapes: ISRL) โดยมีร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายณัฐวัฒน์ กฤษณามระ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน พร้อมคณะผู้บริหาร ผู้แทนจากกระทรวงฯ และจังหวัดให้การต้อนรับ ตามกำหนดการเดินทางเยือนจังหวัดอุบลราชธานี อย่างเป็นทางการ

อุบลราชธานีเป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและมีพื้นที่สำหรับทำนาปลูกข้าวมากถึง 4.2 ล้านไร่ สำหรับกำหนดการเยี่ยมชมพื้นที่ครั้งนี้ ประธานาธิบดี และภริยาพร้อมคณะ ได้มีโอกาสพบปะกับเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของโครงการ และผู้นำชุมชนเพื่อเรียนรู้แนวทางการทำงานผ่านฐานการเรียนรู้วิธีจัดการดินและน้ำ ประกอบด้วย การปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ เป็นเทคโนโลยีหลักที่จะช่วยลดอัตราการสูญเสียปุ๋ยและทำให้ข้าวได้รับปุ๋ยสม่ำเสมอทั่วกันทั้งแปลงนา ลดการใช้น้ำและเชื้อเพลิงในการปลูกข้าว ด้วยวิธีจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การทำปุ๋ยจากมูลสัตว์เพื่อลดต้นทุนการเกษตร การจัดการฟางข้าวเพื่อนำมาเป็นอาหารสัตว์ ลดการเผาฟางและตอซัง ขุดบ่อน้ำไว้ใช้ในพื้นที่เกษตร พร้อมเลี้ยงปลาเพื่อบริโภคและจำหน่ายเป็นรายได้เสริมของครัวเรือน และปลูกป่าไม้ยืนต้นบนคันนา ตามแนวทางวนเกษตร

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำด้านข้าวของโลก โดยมีปริมาณการผลิตจำนวน 30 ล้านตัน และส่งออกข้าวจำนวน 10 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม ปริมาณการผลิตข้าวที่เพิ่มขึ้นตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาโดยไม่มีแนวทางในการบริหารจัดการพื้นที่อย่างยั่งยืน ส่งผลให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น การปลูกพืชเชิงเดี่ยว การรุกล้ำพื้นที่ป่าไม้ ทำให้ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพเสื่อมโทรมต่อแหล่งที่อยู่อาศัยสัตว์ป่าและแนวเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่คุ้มครองภายในภูมิประเทศ โครงการระบบการผลิตข้าวยั่งยืนแบบองค์รวม ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility) ผ่านโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme) โดยมีองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน หรือ GIZ เป็นผู้ดำเนินโครงการในพื้นที่นำร่องคืออุบลราชธานีและเชียงราย เพื่อสนับสนุนประเด็นด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ลดความเสื่อมโทรมของที่ดิน และบรรเทาผลกระทบของสภาพภูมิอากาศ

โครงการ ISRL ยังเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง GIZ กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และบริษัทโอแลมอกริ (ประเทศไทย) จำกัดในฐานะหุ้นส่วนหลักจากภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรเรียนรู้วิธีการจัดการระบบอาหาร ฟื้นฟูสภาพดิน และแนวทางการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์เพื่อปลูกข้าวอย่างยั่งยืน นำมาสู่การปฏิบัติที่สามารถเพิ่มผลผลิตและรายได้อย่างมั่นคง พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคการเกษตรของไทยอย่างเป็นระบบ คาดว่าเกษตรกรกว่า 45,000 คนจะได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการ นำมาสู่การพัฒนาพื้นที่กว่า 652,500 ไร่ ให้เป็นพื้นที่การปลูกข้าวยั่งยืนและสามารถฟื้นพื้นที่สำหรับการปลูกป่าและพืชหมุนเวียนได้มากกว่า 187,500 ไร่ และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการเกษตรไทยได้มากถึง 3.2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และลดการใช้สารเคมีในกระบวนการเกษตรได้มากถึง 100 เมตริกตันภายในปีสิ้นสุดโครงการ พ.ศ. 2570 ■

แกลอรี่ภาพ

วิดีโอ

ติดต่อเรา

  • +66 2 255 4202
  • asean-agrifood@giz.de
  • 39/1 ซอยสุขุมวิท 13, ถนนสุขุมวิท, คลองเตยเหนือ, วัฒนา, กรุงเทพฯ 10110 ประเทศไทย

การเยี่ยมชม

สื่อและแหล่งข้อมูล

โครงการ

การป้องกันข้อมูล

สมัครจดหมายข่าว

ติดตามเรา

  • Copyright © 2014 - 2019 | Sustainable Agrifood Systems in ASEAN