05 มิถุนายน 2566

บางจากชู “ข้าวลดโลกร้อน”จากโครงการไทยไรซ์นา ให้เป็นสินค้าที่ระลึกวันสิ่งแวดล้อมโลก

Photos: Kiattiyote Wongudomlert, Agriculture and Food Cluster/ GIZ Thailand

ผู้แทนเกษตรกรจากวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่เกษตรสมัยใหม่ตำบลเดิมบาง จังหวัดสุพรรณบุรี ส่งมอบ “ข้าวลดโลกร้อน” จำนวน 40 ตัน ให้กับนายสมชัย เตชะวณิช ประธานเจ้าหน้าที่การตลาด กลุ่มธุรกิจการตลาด บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ บางจากฯ รับซื้อจากวิสาหกิจชุมชน ผ่านบริษัท ออมสุขวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เพื่อนำมาเป็นสินค้าสมนาคุณแก่ลูกค้าสถานีบริการบางจากที่ร่วมรายการ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตลอดเดือนมิถุนายน เนื่องในโอกาสวันสิ่งแวดล้อมโลก (5 มิถุนายน)

โดยมี นายพีรพันธ์ คอทอง รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.แบนท์ คริสเตียนเซน ที่ปรึกษาทูตฝ่ายอาหารและการเกษตร ในฐานะผู้แทนเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย นายชิษณุชา บุดดาบุญ รองอธิบดีกรมการข้าว นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดี กรมส่งเสริมการเกษตร ดร. นานา คึนเคล ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการด้านการเกษตรและอาหาร องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ Thailand) และ มิสเตอร์โอเล่ เฮนริกเซน ผู้อำนวยการโครงการ ไทยไรซ์ นามา (Thai Rice NAMA) พร้อมด้วย นางกลอยตา ณ ถลาง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อความยั่งยืน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะกรรมการ ร่วมเป็นเกียรติในการส่งมอบและสนับสนุนการรณรงค์ในครั้งนี้

ผู้แทนเกษตรกรจากวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่เกษตรสมัยใหม่ตำบลเดิมบาง จังหวัดสุพรรณบุรี

ข้าวลดโลกร้อน เป็นตัวอย่างที่สะท้อนผลสำเร็จของการปรับเปลี่ยนมุมมองและวิถีการทำนาแบบใหม่ของวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่เกษตรสมัยใหม่ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ในโครงการไทยไรซ์ นามา (Thai Rice NAMA – Nationally Appropriate Mitigation Action) ภายใต้ความร่วมมือหลักระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน ประจำประเทศไทย (GIZ Thailand) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนโดยปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตข้าวรูปแบบใหม่ของชาวนา ใช้ 4 เทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดต้นทุน

  1. การปรับพื้นที่นาด้วยเลเซอร์ให้เรียบเสมอกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก
  2. การจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง
  3. การใช้ปุ๋ยในปริมาณที่เหมาะสม
  4. การจัดการฟางและตอซังด้วยน้ำหมักแทนการเผา

สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ คือ ก๊าซมีเทน และก๊าซไนตรัสออกไซด์ที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ จากการวิจัยและติดตามผลของโครงการ ไทยไรซ์ นามา (Thai Rice NAMA) พบว่า การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ราว 30% เทียบกับวิธีทำนาปกติ จึงเรียกว่า “นาข้าวลดโลกร้อน” ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการบริโภคที่จะช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อน ซึ่งกำลังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทุกภาคส่วน

“บางจากฯ ให้ความสำคัญกับการสร้างช่องทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา โดยคัดสรรผลผลิตจากเกษตรกร และผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ผลิตโดยกลุ่มชุมชนเพื่อนำมาเป็นของสมนาคุณลูกค้า ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นในการนำผลิตภัณฑ์ชุมชนมาเป็นสื่อกลางเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตสู่ผู้บริโภค เพื่อสนับสนุนพี่น้องเกษตรกรไทย และสำหรับผลผลิตข้าวลดโลกร้อนในครั้งนี้ยังเป็นการ ช่วยรณรงค์เรื่องสภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ” คุณสมชัยกล่าว

คุณสวณีย์ โพธิ์รัง เกษตรกรสมาชิกโครงการไทย ไรซ์ นามาและผู้แทนจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรแปลงใหญ่สมัยใหม่กล่าวว่า รายได้จากการขายข้าวลดโลกร้อนให้กับวิสาหกิจออมสุขของบางจาก เกิดประโยชน์กับสมาชิกเกษตรกร โดยสมาชิกจะได้รับเงินเพิ่ม 300 บาทต่อตันจากราคาตลาด นอกจากนี้ รายได้ที่ได้จากการขายข้าวครั้งนี้จะนำไปใช้สำหรับบริหารจัดการกลุ่มและปันผลกำไรให้กับสมาชิกปลายปีต่อนี้

การขายข้าวให้กับวิสาหกิจออมสุขของบางจากสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับข้าวลดโลกร้อนที่ชุมชนผลิตได้อย่างดี เพราะภายหลังชุมชนได้รับออเดอร์จากกลุ่มผู้บริโภครายย่อยจำนวนมาก และมียอดจองข้าวลดโลกร้อนยาวไปถึงเดือนกันยายนแล้ว

ข้าวลดโลกร้อนที่เราผลิตภายหลังจากการเข้าร่วมโครงการไทยไรซ์นามาไม่เพียงเปิดโอกาสทางการตลาดให้กับชาวนารายเล็ก ๆ อย่างพวกเรา แต่ยังเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยเช่นกันคุณสวณีย์กล่าว

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

แกลอรี่ภาพ

วิดีโอ

ติดต่อเรา

  • +66 2 255 4202
  • asean-agrifood@giz.de
  • 39/1 ซอยสุขุมวิท 13, ถนนสุขุมวิท, คลองเตยเหนือ, วัฒนา, กรุงเทพฯ 10110 ประเทศไทย

การเยี่ยมชม

  • 2
  • 9,777
  • 1,584,369

สื่อและแหล่งข้อมูล

โครงการ

การป้องกันข้อมูล

สมัครจดหมายข่าว

ติดตามเรา

  • Copyright © 2014 - 2019 | Sustainable Agrifood Systems in ASEAN