03 พฤษภาคม 2562

วงเสวนาชี้ ‘เกษตรกร’ คือ ‘แรงขับเคลื่อนสำคัญ’ ช่วยลดโลกร้อน

เขียนโดย: ปรางทอง จิตรเจริญกุล เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2561 โครงการภาคเกษตรกรรม ภายใต้แผนงานความร่วมมือไทย-เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Thai German Climate Programme (TGCP) – Agriculture project ร่วมมือกับกรมการข้าวของประเทศไทย จัดงานเสวนากระตุ้นพี่น้องเกษตรกรไทยผลิตข้าวภายใต้ภาวะโลกร้อน ครั้งที่ 2 ณ โรงแรมเจริญธานี จังหวัดขอนแก่น

นายเกรียงไกร จันทร์เพ็ง จากจังหวัดอุบลราชธานี อดีตนักธุรกิจ และเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการริเริ่มข้าวที่ดีขึ้นแห่งเอเชีย หรือเบรีย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 ชักชวนเพื่อนเกษตรกรให้หันมาปลูกข้าวลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

นายเกรียงไกรแนะนำและส่งเสริมเกษตรกรมากกว่า 300 คนที่เข้าร่วมงานเสวนา ให้ลองหันมาปรับระดับหน้าดินให้เสมอกันด้วยแสงเลเซอร์ หรือ Laser Land Leveling ซึ่งตนตัดสินใจลองใช้เทคโนโลยีนี้กับแปลงนาของตนเองในอำเภอวารินชำราบเมื่อสี่ปีก่อน ตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่โครงการริเริ่มข้าวที่ดีขึ้นแห่งเอเชีย ซึ่งส่งผลให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40

นายเกรียงไกรพบว่า การปรับหน้าดินไม่ได้ช่วยแค่เรื่องการปรับหน้าดินให้เท่ากันเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เนื้อดินมีความชุ่มชื้นเหมาะสมต่อการปลูกข้าว และพัฒนาคุณภาพข้าวให้ดียิ่งขึ้น

เมื่อพื้นที่ได้รับการปรับให้เสมอกันแล้ว น้ำก็จะถูกจ่ายออกไปเท่ากันทั้งพื้นที่ ซึ่งช่วยให้ประหยัดเวลาและลดปริมาณน้ำที่ใช้ในการปลูกข้าว และยังสามารถใช้ปุ๋ยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะการไหลของสารอาหารจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำน้อยลง และเมื่อใช้เวลาในการจ่ายน้ำน้อยลง ไฟฟ้าที่ต้องใช้ก็น้อยลงไปด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการปรับพื้นที่ด้วยแสงเลเซอร์เป็นเทคโนโลยีที่สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เป็นอย่างดี

นอกจากการปรับพื้นที่ด้วยแสงเลเซอร์ นายเกรียงไกรยังใช้เทคโนโลยีอื่นๆ เข้ามาช่วยทำนาให้มีประสิทธิภาพ เช่น การใช้เครื่องหยอดเมล็ดและการตรวจวัดค่าความเป็นกรด-เบสของดิน (Soil pH)

เนื่องจากเกษตรกรไทยต้องพบเจอปัญหาจากภาวะโลกร้อนหนักขึ้นเรื่อย ๆ นายเกรียงไกรจึงอยากให้เกษตรกรทุกคนมีส่วนร่วมในการช่วยลดโลกร้อนด้วยการลงมือทำสิ่งง่ายๆ เช่น งดเผาฟางและตอชังข้าว เนื่องจากการเผาสิ่งเหล่านี้มีแต่จะทำให้ภาวะโลกร้อนยิ่งแย่ขึ้น

“ก่อนอื่นเลย เราต้องรู้ว่าภาวะโลกร้อนอันตรายแค่ไหน เราเป็นชาวนา เราพึ่งพาอาศัยธรรมชาติ เราต้องใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากกว่านี้” นายเกรียงไกรกล่าว

นอกจากเรื่องของรสชาติข้าวดีและราคาถูกแล้ว นางสาวนราวดี โหมดนุช นักวิเคราะห์วิจัย จากบริษัทโอแลม (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ผู้บริโภคทั่วโลกตอนนี้ เริ่มหันมาใส่ใจเรื่องความปลอดภัยของอาหารและกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”

นายสุริยัน วิจิตรเลขการ รองผู้อำนวยการโครงการเกษตรกรรมและอาหาร องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ยืนยันว่า “กลุ่มเกษตรกรจะได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากรัฐบาลเยอรมนีแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องของราคาที่ยุติธรรมและการเข้าถึงเทคโนโลยีที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก”

กิจกรรมงานเสวนา ครั้งที่ 2 ของโครงการภาคเกษตรกรรม ภายใต้แผนงานความร่วมมือไทย-เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้ ได้รับเงินสนับสนุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ และความปลอดภัยทางปรมาณูแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMU) ซึ่งต่อยอดจากกิจกรรมแรกที่จัดขึ้นไปแล้วเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2561 ที่จังหวัดอยุธยา

นายอภิชาต พงษ์ศรีหดุลชัย ที่ปรึกษาอธิบดีกรมการข้าว ตัวแทนจากโรงสี และเจ้าหน้าที่ GIZ พบปะพูดคุยกับเกษตรกรภายใต้โครงการข้าวยั่งยืน จังหวัดร้อยเอ็ด (เครดิตรูปภาพ: GIZ Thailand)
นายอภิชาต พงษ์ศรีหดุลชัย ที่ปรึกษาอธิบดีกรมการข้าว ตัวแทนจากโรงสี และเจ้าหน้าที่ GIZ พบปะพูดคุยกับเกษตรกรภายใต้โครงการข้าวยั่งยืน จังหวัดร้อยเอ็ด (เครดิตรูปภาพ: GIZ Thailand)
ตัวแทนจากหน่วยงานต่าง ๆ พูดคุยเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกข้าวที่ช่วยลดภาวะโลกร้อนให้กับเกษตรกร (เครดิตรูปภาพ: GIZ Thailand)
ตัวแทนจากหน่วยงานต่าง ๆ พูดคุยเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกข้าวที่ช่วยลดภาวะโลกร้อนให้กับเกษตรกร (เครดิตรูปภาพ: GIZ Thailand)

ติดต่อเรา

  • +66 2 255 4202
  • asean-agrifood@giz.de
  • 39/1 ซอยสุขุมวิท 13, ถนนสุขุมวิท, คลองเตยเหนือ, วัฒนา, กรุงเทพฯ 10110 ประเทศไทย

การเยี่ยมชม

  • 77
  • 29,524
  • 1,582,567

สื่อและแหล่งข้อมูล

โครงการ

การป้องกันข้อมูล

สมัครจดหมายข่าว

ติดตามเรา

  • Copyright © 2014 - 2019 | Sustainable Agrifood Systems in ASEAN
Scroll to Top