เขียนโดย: ปรางทอง จิตรเจริญกุล เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย
นางลำเพียร ซุยคง อายุ 38 ปี จากบ้านตาหยวก จังหวัดร้อยเอ็ด หนึ่งในพื้นที่ ‘ทุ่งกุลาร้องไห้’ เป็นเกษตรกรในโครงการข้าวยั่งยืน ฉีกยิ้มกว้างหลังพบว่า ข้าวที่ตัวเองปลูกมีคุณภาพดีขึ้น และต้นทุนการผลิตข้าวลดลง
“เราคิดว่าปุ๋ยที่เราใช้มาตั้งหลายปีดีอยู่แล้ว จนกระทั่งได้มาเข้าร่วมฝึกอบรมกับทางโครงการ ไม่กี่เดือนต่อจากนั้น เราเริ่มเรียนรู้วิธีควบคุมและกำจัดวัชพีช สังเกตแมลงที่มักมาอยู่ในแปลง เราเริ่มใช้ปุ๋ยอย่างเหมาะสม และปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดินได้ดีขึ้น” นางลำเพียงกล่าว
ปีที่ผ่านมา นางลำเพียงปลูกข้าวได้ 700 กิโลกรัมต่อไร่ แต่หลังเปลี่ยนวิธีการปลูกข้าวและใส่ใจกระบวนการผลิตมากขึ้น ผลผลิตเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 40
“เราใส่ใจในทุกรายละเอียดของการปลูกข้าว เพราะเราก็กินข้าวที่เราปลูก ตอนนี้ โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว เราเองในฐานะเกษตรกรก็ต้องประยุกต์ และปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกข้าวของเราให้เข้ากับสถานการณ์โลกเหมือนกัน ตอนนี้ภาวะโลกร้อนมีแต่แย่ขึ้นเรื่อย ๆ และมันก็ส่งผลกระทบกับเราโดยตรง” นางลำเพียงกล่าว
โครงการข้าวยั่งยืน จังหวัดร้อยเอ็ด เกิดจากความร่วมมือของบริษัท Mars Food จำกัด บริษัท เอลล์บา บางกอก จำกัด (ในเครือ Ebro Foods) กรมการข้าว และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทยที่ต้องการเห็นเกษตรกรอย่างน้อย 1,200 คนจาก 12 หมู่บ้านผลิตข้าวจำนวน 3,500 ตันตามมาตรฐานการผลิตข้าวยั่งยืน หรือ Sustainable Rice Platform (SRP) เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน
นอกจากนี้ นางลำเพียงยังบอกอีกว่า เธอยังสามารถขายข้าวเปลือกได้ที่จุดรับซื้อของโรงสีที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปได้เยอะมาก และเพื่อน ๆ ในหมู่บ้านก็เริ่มแสดงความสนใจเข้าร่วมโครงการ หลังจากแปลงนาของเธอสามารถผลิตข้าวได้ดีขึ้นและรายได้งอกเงย
นอกจากผลผลิตและรายได้ที่เพิ่มขึ้นแล้วนั้น นางกรรณิกา บุญรอด ผู้ใหญ่บ้านและเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ อธิบายว่า โครงการข้าวยั่งยืน จังหวัดร้อยเอ็ด นั้น ช่วยส่งเสริมความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในชุมชนให้เข้มแข็งขึ้น และเกษตรกรผู้หญิงของชุมชนแทบทุกคนมีบทบาทสำคัญและทำงานเคียงคู่กับเกษตรกรหนุ่มอย่างขยันขันแข็ง