02 กรกฎาคม 2562

เจ้าหน้าที่ชายแดนคุมเข้มนำเข้า-ส่งออกผักผลไม้ในอาเซียน ต้องสะอาด ปลอดแมลง

เขียนโดย: ปรางทอง จิตรเจริญกุล เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย

โครงการอำนวยความสะดวกด้านการค้าสินค้าเกษตรในภูมิภาคอาเซียนของ GIZ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการด้านสุขอนามัยพืชให้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากประเทศไทย กัมพูชา และเวียดนาม จำนวน 15 คน ณ สถาบันเกษตราธิการ กรุงเทพฯ และจัดทัศนศึกษาเพื่อดูกระบวนการตรวจปล่อยสินค้าเกษตรนำเข้าและส่งออกตามมาตรการสุขอนามัยพืช ณ จุดผ่านแดนถาวรบ้านผักกาด จังหวัดจันทบุรีและจุดผ่านแดนฮัวลือ (Hoa Lu) จังหวัดบินเฟือก (Binh Phuoc) ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 25 – 30 มีนาคม พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา

นายวิชา ธิติประเสริฐ ที่ปรึกษาสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า การรับมือกับโรคพืชและแมลงศัตรูพืชกักกันที่ติดมากับสินค้าเกษตรที่ดีที่สุด คือ ต้องไม่มีแมลงแฝงเข้ามาในผักและผลไม้เข้ามาประเทศได้เลย เพราะเมื่อแมลงหรือโรคพืชระบาดเข้ามาในประเทศแล้ว แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะกำจัดสิ่งเหล่านี้ออกไป

นายวิชายังแนะนำอีกว่า ประเทศอาเซียนควรมีกฎระเบียบและมาตรฐานเดียวกันเพื่อป้องกันไม่ให้แมลงและโรคต่างๆ ส่งผลกระทบต่อผลผลิตของเกษตรกรและการค้าขายระหว่างประเทศ

ในขณะที่ นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการ มกอช. เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดแนวทาง กฎระเบียบ และมาตรการ การนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์สากล ตามมาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ซึ่งมีความจำเป็นต้องให้ความรู้ความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

“เจ้าหน้าที่ตรวจสอบสุขอนามัยพืชมีบทบาทสำคัญในการช่วยป้องกันการระบาดของแมลงศัตรูพืชและโรคพืชกักกันที่จะเข้ามากับสินค้าการเกษตรที่นำเข้าส่งออกระหว่างประเทศ” นางสาวจูอะดีกล่าวเพิ่มเติม

ด้าน นางพจมาน วงษ์สง่า ผู้จัดการภูมิภาคอาวุโสโครงการอำนวยความสะดวกด้านการค้าสินค้าเกษตรในภูมิภาคอาเซียน (FTAG) จาก GIZ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า การฝึกอบรมครั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านสุขอนามัยพืชร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ปัญหาและประสบการณ์จากภาคสนามเพื่อส่งเสริมการเคลื่อนย้ายสินค้าระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

GIZ ได้ดำเนินงานโครงการ FTAG ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบด้านมาตรการสุขอนามัยพืชของสินค้าเกษตรนำเข้าและส่งออกในประเทศกัมพูชา ไทย และเวียดนาม ที่ผ่านมาโครงการได้จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการและเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในสามประเทศ เพื่อส่งเสริมศักยภาพและสร้างความเข้าใจร่วมกัน ในด้านหลักเกณฑ์และขั้นตอนการนำเข้าและส่งออกสินค้าพืช การวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืช โดยจะเน้นสินค้าที่ทำการค้าระหว่างสามประเทศ ซึ่งได้แก่ มะม่วง ลำไย ลิ้นจี่ แก้วมังกร กล้วย และพริก เพื่อลดอุปสรรคด้านการค้าและอำนวยความสะดวกในการค้าสินค้าพืชภายในภูมิภาคต่อไป

ผู้เข้าร่วมอบรมปลอกมะม่วงตัวอย่างเพื่อตรวจหาแมลงศัตรูพืช
ผู้เข้าร่วมอบรมปลอกมะม่วงตัวอย่างเพื่อตรวจหาแมลงศัตรูพืช (เครดิตรูปภาพ: GIZ Thailand)
ผู้เข้าร่วมอบรมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืช ณ จุดผ่านแดนถาวรบ้านผักกาด จังหวัดจันทบุรี (เครดิตรูปภาพ: GIZ Thailand)
ผู้เข้าร่วมอบรมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืช ณ จุดผ่านแดนถาวรบ้านผักกาด จังหวัดจันทบุรี (เครดิตรูปภาพ: GIZ Thailand)
ผู้เข้าร่วมอรมเรียนรู้วิธีการตรวจวินิจฉัยโรคพืช ณ กลุ่มงานวินิจฉัยศัตรูพืชกักกัน กรมวิชาการเกษตร
ผู้เข้าร่วมอรมเรียนรู้วิธีการตรวจวินิจฉัยโรคพืช ณ กลุ่มงานวินิจฉัยศัตรูพืชกักกัน กรมวิชาการเกษตร (เครดิตรูปภาพ: GIZ Thailand)
การอบรมเชิงปฏิบัตการสามวันแรกถูกจัดขึ้น ณ สถาบันเกษตราธิการ กรุงเทพฯ
การอบรมเชิงปฏิบัตการสามวันแรกถูกจัดขึ้น ณ สถาบันเกษตราธิการ กรุงเทพฯ (เครดิตรูปภาพ: GIZ Thailand)

ติดต่อเรา

  • +66 2 255 4202
  • asean-agrifood@giz.de
  • 39/1 ซอยสุขุมวิท 13, ถนนสุขุมวิท, คลองเตยเหนือ, วัฒนา, กรุงเทพฯ 10110 ประเทศไทย

การเยี่ยมชม

สื่อและแหล่งข้อมูล

โครงการ

การป้องกันข้อมูล

สมัครจดหมายข่าว

ติดตามเรา

  • Copyright © 2014 - 2019 | Sustainable Agrifood Systems in ASEAN