09 ธันวาคม 2562

เสียงจากเกษตรกรต้นแบบ: การปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนคือทางออกเดียวในการเข้าสู่ตลาดโลก

หลังจากล้มลุกคลุกคลานมาหลายปี วันนี้ นายโสฬส เดชมณี เกษตรกรปาล์มน้ำมันอายุ 61ปีครอบครองพื้นที่ปลูกสวนปาล์มมากกว่า 44 ไร่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและกลายเป็นเกษตรกรต้นแบบให้กับเพื่อนๆ เกษตรกรในบ้านเกิดของเขา

นายโสฬสเคยประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ เป็ด หมู และกุ้ง เขายอมรับว่า การทำสวนปาล์มไม่เคยมีอยู่ในความคิดเขาเลย

“ทำฟาร์มสัตว์ได้เงินเร็วกว่า ผมเองก็ไม่ชอบทำสวน เพราะมันต้องรอคอย ต้องใช้เวลา” นายโสฬสกล่าว

แต่สุดท้ายนายโสฬสก็ขาดทุนกับการประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์ จนเขาตัดสินใจหันหน้าเข้าสู่อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันเพราะเป็นที่นิยมของเพื่อนบ้าน แต่โสฬสไม่มีองค์ความรู้ในการจัดการสวนปาล์มน้ำมัน และไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มต้นอย่างไร

“ในพื้นที่ที่อยู่ คนอื่นเขาปลูกปาล์มกัน ก็เลยลองปลูกดู ก็ทำโดยไม่มีองค์ความรู้ใดๆ เลย ถือว่าเป็นศูนย์ หรืออาจจะติดลบด้วยซ้ำ เราไม่รู้เรื่องการจัดการ การบำรุงรักษา ผมก็พยายามหาองค์ความรู้ เพราะผมเป็นคนที่เชื่อในองค์ความรู้ที่มาจัดการในเรื่องแบบนี้”

นายโสฬสได้ร่วมโครงการปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มเพื่อพลังงานชีวภาพอย่างยั่งยืน ในปี พ.ศ. 2555 และค่อยๆ เพิ่มพูนความรู้ในการจัดการสวนปาล์มยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง 

“ปีแรกที่เข้าโครงการ อบรมไปประมาณ 10 ครั้ง เราเริ่มสนุก แต่ก่อนเราไม่มีคำถามเลย เพราะเราไม่รู้เรื่องในสวน แต่พอเราไป เรากลับมาปฏิบัติในสวน เราเห็นปัญหาในสวน และได้เริ่มปรึกษากับเจ้าหน้าที่ ตั้งแต่ขั้นตอนปลูก จนกระทั่งกระบวนการเก็บเกี่ยว การใช้ธาตุ การใช้ปุ๋ย รวมถึงการคำนวณ คิดค่าวิเคราะห์ปุ๋ยต่างๆ สิ่งเหล่านี้จะเป็นผลต่อต้นทุน และประสิทธิภาพในการใช้ปุ๋ยได้อย่างถูกต้อง ที่สำคัญต้องดูแลอย่างต่อเนื่อง”

จากการดูแลเอาใจใส่อย่างต่อเนื่อง ทำให้สวนปาล์มของโสฬสได้กลายมาเป็นพื้นที่การเรียนรู้ให้กับหน่วยงานราชการและเกษตรกรคนอื่นๆ เข้ามาศึกษาดูงานการปลูกสวนปาล์มแปลงใหญ่ที่เป็นต้นแบบในการปลูกปาล์มได้อย่างยั่งยืน

นายโสฬสกล่าวว่า สวนปาล์มของเขาเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนและประสบความสำเร็จได้ เพราะเขานำองค์ความรู้จากห้องเรียนมาปฏิบัติจริง

โสฬส เดชมณี อายุ 61ปี เกษตรกรปาล์มน้ำมันต้นแบบในจังหวัดสุราษฎร์ธานี (เครดิตรูปภาพ: GIZ Thailand)
โสฬส เดชมณี อายุ 61ปี เกษตรกรปาล์มน้ำมันต้นแบบในจังหวัดสุราษฎร์ธานี (เครดิตรูปภาพ: GIZ Thailand)

หลังจากประกอบอาชีพพนักงานธนาคารมา 18 ปี และตัดสินใจกลับบ้านเกิดในจังหวัดกระบี่เพื่อใช้เวลากับลูกมากขึ้น นางสาวพรศิริ รักนุกูล ก็ล้มลุกคลุกคลานมาเยอะเช่นกัน ก่อนจะสามารถสร้างรายได้จากสวนปาล์มได้

ปัจจุบัน นางสาวพรศิริ อายุ 49 ปี ยอมรับว่า เธอเริ่มต้นปลูกปาล์มน้ำมันโดยไม่มีองค์ความรู้อะไรเกี่ยวกับการทำสวนปาล์มเลย และหากเธอสงสัยอะไร เธอก็จะถามเพื่อนบ้านที่ปลูกสวนปาล์มเอา จนเมื่อปี พ.ศ. 2552 พรศิริได้เข้าร่วมโครงการปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มเพื่อพลังงานชีวภาพอย่างยั่งยืน เธอจึงรู้ว่า สิ่งที่เพื่อนบ้านบอกเธอมาตลอดนั้นไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง “เราใส่ปุ๋ยมั่วหมดเลย เราเอาแต่ทำตามสิ่งที่เพื่อนบ้านบอก แต่มันไม่ดีต่อต้นปาล์มเลย”

“จากการที่ได้เข้าร่วมโครงการ เจ้าหน้าที่สอนให้บันทึกผลผลิต คำนวณต้นทุน-กำไร คำนวณราคาเฉลี่ยต่อไร่ต่อปี เมื่อก่อนเราไม่ได้บันทึก จึงไม่มีข้อมูลเลย แต่ตอนนี้เรามีทั้งความรู้และบันทึก ทำให้เราจัดการสวนปาล์มได้ดีขึ้นเยอะมาก”

ทุกวันนี้ นางสาวพรศิริมีความสุขกับการดูแลสวนปาล์มของเธอที่กลายมาเป็นต้นแบบการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน เธอส่งต่อองค์ความรู้ให้กับเพื่อนเกษตรกรรายย่อยคนอื่นๆ ในพื้นที่

“ตอนนี้มีความสุขมาก เดินเข้าสวนปาล์มทุกวัน ถ้าวันไหนไม่ได้เข้าสวน จะไม่มีความสุขเลย”

นางสาวพรศิริ รักนุกูล อดีตพนักงานธนาคารที่ผันตัวมาเป็นเกษตรกรปาล์มน้ำมันและเกษตรกรต้นแบบในจังหวัดกระบี่ (เครดิตรูปภาพ: GIZ Thailand)
นางสาวพรศิริ รักนุกูล อดีตพนักงานธนาคารที่ผันตัวมาเป็นเกษตรกรปาล์มน้ำมันและเกษตรกรต้นแบบในจังหวัดกระบี่ (เครดิตรูปภาพ: GIZ Thailand)

การปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนในประเทศไทยเดินหน้าต่อไปภายใต้โครงการการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” (Sustainable and Climate-friendly Palm Oil Production and Procurement: SCPOPP) โดยคาดว่า ผลลัพธ์จากการดำเนินโครงการดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2565 จะมีเกษตรกรรายย่อยกว่า 3,000 รายภาคใต้ที่ได้รับความรู้จากการเข้าร่วมโครงการ

ทุกวันนี้ น้ำมันปาล์มที่ผลิตตามมาตรฐาน Roundtable on Sustainable Palm Oil (RSPO) ทั่วโลกมีสัดส่วนเพียงแค่ร้อยละ 19 เท่านั้น ในขณะที่ประเทศไทย มีน้ำมันปาล์มเพียงแค่ร้อยละ 2 เท่านั้นที่ผ่านการรับรองตามมาตรฐาน

ติดต่อเรา

  • +66 2 255 4202
  • asean-agrifood@giz.de
  • 39/1 ซอยสุขุมวิท 13, ถนนสุขุมวิท, คลองเตยเหนือ, วัฒนา, กรุงเทพฯ 10110 ประเทศไทย

การเยี่ยมชม

  • 544
  • 46,464
  • 1,579,853

สื่อและแหล่งข้อมูล

โครงการ

การป้องกันข้อมูล

สมัครจดหมายข่าว

ติดตามเรา

  • Copyright © 2014 - 2019 | Sustainable Agrifood Systems in ASEAN
Scroll to Top