ใครหลายๆ คน อาจจะตั้งคำถามในใจว่า ทำไมเราจึงต้องร่วมกันผลักดันให้มีการปลูกปาล์มอย่างยั่งยืน
การผลิตน้ำมันปาล์มให้เกิด “ความยั่งยืน” เป็นแนวปฏิบัติที่เกิดขึ้นทั่วโลก และในประเทศไทยก็เช่นกัน การผลักดันเรื่องนี้ไม่ได้เป็นเพียงนิยาม แต่เป็นนโยบายสำคัญที่เราต้องดำเนินต่อไป และน้ำมันพืชมรกต เป็น 1 ในองค์กรที่กำลังดำเนินการในเรื่องนี้
และการปลูกปาล์มอย่างยั่งยืน ส่งผลดีอย่างไร
วันนี้เราจะมาพูดคุยกับ คุณนุชนาถ สุขมงคล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไซม์ ดาร์บี้ ออยส์ มรกต จำกัด มหาชน ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายน้ำมันพืชมรกต เพื่อสะท้อนให้เห็นบทบาทสำคัญในฐานะภาคเอกชนอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มในประเทศไทย ที่ร่วมผลักดันให้สวนปาล์มของไทยได้มาตรฐาน สามารถรักษาสิ่งแวดล้อม และพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร
อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มกับการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน
ในฐานะผู้บริโภค เรานั่งอยู่ในบ้าน หรือออกไปทำงาน เราอาจจะไม่คิดเลยว่า แท้จริงแล้วน้ำมันปาล์มเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด คุณนุชนาถ ในฐานะที่คลุกคลีในภาคอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของไทย ช่วยยืนยันเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี
ประเทศไทยสามารถที่จะผลิตน้ำมันปาล์มได้เอง และเราปลูกปาล์มได้เยอะเป็นอันดับ 1 ใน 3 ของโลกรองจากประเทศอินโดนีเซียและประเทศมาเลเซีย ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มและนำรายได้เข้าสู่ประเทศไม่น้อย ดังนั้นการที่จะทำให้น้ำมันปาล์มได้รับการยอมรับในตลาดโลกได้มากขึ้น เราต้องให้ความสำคัญในเรื่องของความยั่งยืน โดยเฉพาะการดำเนินธุรกิจจะต้องใส่ใจกับประโยชน์ส่วนรวมด้วย เพื่อนำไปพัฒนาสังคมให้มีความยั่งยืน วันนี้ความยั่งยืนจึงกลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ลูกค้ายอมรับ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคม”
ไม่เพียงแค่สร้างการยอมรับในตลาดโลก แต่ยังเป็นการช่วยรักษาทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะช่วยแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าในอินโดนิเซีย
“หลายคนคงเคยเห็นแคมเปญการรณรงค์ช่วยเหลือลิงอุรังอุตังที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ นั่นมีที่มาจากการรุกล้ำพื้นที่ป่าในประเทศอินโดนิเซียที่ขึ้นชื่อว่าปลูกปาล์มมากที่สุด นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ว่าเราต้องมีการปลูกปาล์มอย่างยั่งยืน หรือมาตรฐาน The Roundtable on Sustainable Palm Oil (RSPO) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เพื่อส่งเสริมให้การเติบโตของน้ำมันปาล์มที่ไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อม และไม่เกิดการตัดไม้ทำลายป่า
สำหรับน้ำมันพืชมรกตเอง ในฐานะที่เราเป็นภาคเอกชน เรามุ่งมั่นที่จะผลักดันให้เกษตรกรปลูกปาล์มอย่างยั่งยืน เพราะ นอกจากจะทำให้เกิดการยอมรับในสังคมและตลาดโลก และสร้างความเชื่อมั่นในการปลูกปาล์มในประเทศไทยแล้ว มาตรฐาน RSPO ยังช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่มากขึ้น ราคาขายดีขึ้น ต้นทุนต่ำลงอีกด้วย เราจึงมองว่าการปลูกปาล์มอย่างยั่งยืนเป็นหน้าที่ที่เราต้องช่วยกัน”
ความต้องการ RSPO ในประเทศไทย และปัญหาที่เกิดขึ้น
แม้ว่า RSPO จะเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 แต่สำหรับในประเทศไทย ยังถือเป็นเรื่องใหม่มากๆ แม้ RSPO จะเป็นมาตรฐานที่ดี จนเรียกได้ว่าดีที่สุด และถือเป็นวิธีเดียวที่จะรักษาสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและการรักษาทรัพยากรได้ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดสำหรับเกษตรกรรายย่อยในประเทศไทย ซึ่งมีมากกว่า 95 % ของจำนวนผู้ผลิตปาล์มทั้งหมด
“เนื่องจากเกษตรกรรายย่อยที่ได้มาตรฐาน RSPO จะต้องเป็นเกษตรกรที่มีพื้นที่ประมาณ 300 ไร่ แต่ในประเทศไทยเกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่ มีพื้นที่เพียง 10-15 ไร่ต่อรายเท่านั้น เพราะฉะนั้นการรับรองมาตรฐานนี้ให้กับเกษตรกร 1 ราย จึงค่อนข้างยาก ต้องมีการรวมกลุ่มกันจำนวนเยอะๆ เพื่อให้มีพื้นที่แปลงใหญ่ขึ้น
ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีน้ำมันปาล์มที่ได้รับการรับรอง RSPO อยู่ไม่มาก คือมีการเติบโตขึ้น แต่อาจไม่รวดเร็วเท่ากับประเทศอินโดนิเซียและมาเลเซีย ที่อยู่ภายใต้การผลิตของบริษัทใหญ่ ๆ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ปี ก็สามารถปรับเปลี่ยนและได้รับการรับรองมาตรฐานได้แล้ว
นั่นคือ เหตุผลว่า ทำไมทางมรกต จึงเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาเรื่องนี้ เป้าหมายที่ชัดเจนของเรา คือ ต้องให้ตลาดโตไปด้วยกัน เพื่อให้เกิดการปลูกปาล์มอย่างยั่งยืน 100% เพราะฉะนั้นจึงต้องร่วมมือกัน ตั้งแต่โรงงานผลิต โรงสกัด กลุ่มเกษตรกร ต้องอาศัยความเข้าใจและมีเป้าหมายเดียวกัน เพื่อก้าวเดินไปทิศทางเดียวกัน”
กิจกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างมรกตและเกษตรกร #CaseStudy ในประเทศไทย
ปัจจัยสำคัญของการสร้างความยั่งยืน คือ การรวมกลุ่มของเกษตรกรรายย่อย โดยมีองค์กรใหญ่ๆ ในอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มที่มีศักยภาพทำหน้าที่ในการสนับสนุน ให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่อง RSPO ที่จะเข้ามาเสริมศักยภาพให้เกษตรกรไทย
“มาตรฐาน RSPO จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่มากขึ้น เกษตรกรที่ทำแล้วจริงๆ เป็นคนบอกกับเราเองว่าต้นทุนของเขาลดลง ซึ่งมาจากการที่เขาจดบันทึก ทำให้รู้ว่าต้นทุนอยู่ตรงไหน และสามารถดูแลจัดการบริหารต้นทุนของตัวเองได้มากขึ้น ไปจนถึงการใช้ปุ๋ย เกิดการควบคุมที่เหมาะสม ควรใส่ปุ๋ยเท่าไหร่ ใส่ปุ๋ยเมื่อไหร่ เป็นการทำงานที่มีระบบมากขึ้น รายได้จึงเพิ่มขึ้น สิ่งนี้เองที่ควรจะพูดให้เกษตรกรเข้าใจเสียก่อน เพราะไม่อย่างนั้นเขาจะไปโฟกัสแค่ว่าเมื่อได้ RSPO แล้วจะทำให้ขายได้ราคาสูงขึ้นไหม กลายเป็นต้องการความชัดเจนในเรื่องของราคามากกว่า ซึ่งจริงๆ แล้วเราได้ประโยชน์มากกว่าเรื่องของราคา พอเข้าใจตรงนี้ จากนั้นจึงนำมาต่อยอดว่าจะช่วยในเรื่องของการทำการตลาดให้เกษตรกรได้อย่างไร”
จากการให้ข้อมูลของคุณนุชนาถ มี #CaseStudy ในประเทศไทยที่น่าสนใจ คือ เมื่อปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา น้ำมันพืชมรกตได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกปาล์มที่นำไปสู่การผลิตอย่างยั่งยืน โดยใช้รูปแบบของ RSPO ซึ่งถูกแบ่งออกเป็นหลายประเภทหลักๆ ได้แก่ Mass Balance (MB) Palm oil และ Segregated (SG) Palm oil ซึ่งแตกต่างกันในสายงานการผลิตน้ำมันปาล์มที่ปลูกอย่างยั่งยืน
“เมื่อปีที่แล้ว ทางน้ำมันพืชมรกตได้ผลักดันให้เกิด RSPO Segregated (SG) Palm oil กับเกษตรกรกลุ่มแรกในประเทศไทย โดยร่วมมือกับโรงสกัดที่ชื่อว่าพิทักษ์ปาล์มออยล์ และกลุ่มเกษตรกร โดยเราได้ทำ MOU เพื่อรับซื้อน้ำมันปาล์ม RSPO ประเภท SG จากกลุ่ม มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กลุ่มเกษตรกรเองก็ดีใจ เสียงสะท้อนที่ได้กลับมาจากกลุ่มเกษตรกรคือ เขามีรายได้เยอะขึ้น เพราะผลผลิตภายใต้มาตรฐาน RSPO SG จะมีราคาที่สูงกว่า RSPO MB เราใช้เวลาในการผลักดันการดำเนินการนี้มาตลอดปีพ.ศ. 2562 เป็นเวลา 1 ปีเต็ม โดยร่วมกับกลุ่มเกษตรกรราว 500 ครัวเรือน และวางแผนให้มีการขยายกลุ่มมากขึ้นต่อไป
การสนับสนุน RSPO โดยเฉพาะในเรื่องของการสร้างกลุ่ม RSPO SG ขึ้นมา ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนมองว่าเป็นไปได้ยากในประเทศไทย ถือเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของทีมมรกต เรามีพันธมิตรที่ดีคือพิทักษ์ปาล์มออยล์ ซึ่งทุ่มเทเป็นอย่างมาก ในการสร้างความเข้าใจให้กับเกษตรกร”
อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มที่มุ่งหวังในอนาคต
“ปาล์มเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศไทย เรามุ่งหวังอยากให้การปลูกปาล์มน้ำมันไทยมีความยั่งยืน ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม ด้านรายได้และราคาผลผลิต รวมไปถึงตัวน้ำมันเอง เกษตรกรที่เกี่ยวข้องกับการปลูกปาล์มในไทยมีกว่า 3 – 4 แสนครัวเรือน เรามุ่งจะช่วยเกษตรกรในเรื่องของการประกันราคา โดยมองในแง่ของการปลูกปาล์มอย่างยั่งยืนที่สามารถสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความมั่นคง ให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ และช่วยทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น”
การส่งสารออกไปด้วยข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับเกษตรกร คือแนวทางที่จะต้องพัฒนาต่อไป แต่ในขณะเดียวกันคุณนุชนาถเองก็มองว่า การส่งสารไปยังผู้บริโภค ก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน
“ในส่วนของผู้บริโภค ณ ปัจจุบัน โลโก้ RSPO บนผลิตภัณฑ์ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่เราจะพยายามสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้บริโภคว่าน้ำมันปาล์มที่มาจากการปลูกปาล์มอย่างยั่งยืนดีต่อผู้บริโภคอย่างไร เป็นประโยชน์ในเชิงของสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างไร เช่น การปลูกปาล์มอย่างยั่งยืนช่วยลดการใช้สารเคมี ลดการบุกรุกทำลายป่า โดยเรากำลังทยอยสื่อสารกับผู้บริโภคให้มากขึ้น
…แม้จะไม่สามารถบอกได้ว่า เราอยากให้เกิดการปลูกปาล์มอย่างยั่งยืน100 % ได้ภายในเมื่อไหร่ แต่เรารับประกันได้ว่า การเติบโตของน้ำมันปาล์มจะต้องมีความยั่งยืนควบคู่ไปด้วยอย่างแน่นอน”
ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรชาวสวนปาล์ม ภาคเอกชนผู้ผลิต รวมถึงน้ำมันพืชมรกตเอง กำลังสร้างความร่วมมือที่สำคัญในการผลักดันให้เกิดการปลูกปาล์มอย่างยั่งยืนในประเทศไทย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า วันหนึ่งการปลูกปาล์มในประเทศไทย จะเกิดขึ้นภายใต้แนวทางแห่งความยั่งยืน ซึ่งสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล